tdri logo
tdri logo
9 ตุลาคม 2013
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอชี้ภาคธุรกิจถูกบีบ หนุนสร้างสิ่งจูงใจเลิกทุจริต

กูรูคอรัปชันหนุนภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ ร่วมสร้างมาตรฐานความโปร่งใส สร้างสมดุลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการรัฐ ทีดีอาร์ไอเปิดผลสำรวจระบุเอกชนทุจริต “ภาษี” สูงสุด หวังลดต้นทุน ชี้บทลงโทษต่ำ ตลาดทุนแนะตั้งหน่วยงานประเมินเอกชน คัดกรองประมูลงานรัฐ

ในงานสัมมนาการปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชัน วานนี้ (8 ต.ค.) หัวข้อ “รูปแบบการทำงานเพื่อธรรมาภิบาล การดำเนินการของภาคเอกชนและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน” มีผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันขจัดปัญหาคอร์รัปชัน จากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น และมีบางส่วนเห็นสอดคล้องกันว่า ภาคเอกชนควรมีบทบาทมากขึ้น ในการเป็นผู้นำและผู้ช่วยเหลือภาครัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาลให้กับการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ

โดยนายอาลี อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเอเชียตะวันออก จากฮัลโครว-บริติช แสดงความเห็นว่า ความพยายามลดการคอร์รัปชัน ปรับกฎระเบียบให้เกิดความโปร่งใสในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงโครงการ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลไทย ภาคเอกชนควรแสดงบทบาทให้มากขึ้น

การคัดเลือกซัพพลายเออร์ ที่ต้องทำตามกฎ ระเบียบ เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนสามารถทำได้ ขณะที่ ประเด็นคอร์รัปชันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน มีบทบาทช่วยแก้ไขได้เพราะภาครัฐคงดูแลไม่ได้ทั้งหมด

จากประสบการณ์ของเขา การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน ช่วยให้เกิดการคานอำนาจสมดุล เป็นวิธีหนึ่งนำมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง และภาคเอกชนนำมาใช้ช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐได้

ฮัลโครว-บริติชถือเป็นองค์กรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ ต้องการเห็นความโปร่งใส ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อภาคเอกชนอยากลงทุนในแต่ละโครงการ ต้องคาดการณ์ก่อนว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และเวลายื่นซองประมูล การอยากรู้กระบวนการกับเกณฑ์คัดเลือกว่าโปร่งใสเพียงใดนั้นเรื่องเหล่านี้ถือว่าสำคัญ

“เราซึ่งเป็นภาคเอกชนมุ่งร่วมมือกับภาครัฐในการลงทุนอย่างโครงการเมกะโปรเจค รัฐเปิดกว้างแต่ปัญหาอยู่ที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย รัฐต้องเปิดช่องให้มีกระบวนการเกณฑ์คัดเลือกโปร่งใส ปลดล็อกเปิดช่องให้บริษัทต่างชาติเข้ามาแข่งขัน และอยากให้ คนที่เข้ามาร่วมช่วยกันแก้ปัญหา”

จี้เอกชนหยุดจ่ายใต้โต๊ะ

ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าบทบาทภาคเอกชนในกระบวนการต่อต้านการคอร์รัปชันและการลงทุนโครงการเมกะโปรเจค ว่า สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้นน้อยลง หากเอกชนพร้อมหรือไม่ยินยอมจ่ายใต้โต๊ะ ถ้าเลิกทำ จะช่วยหยุดวงจรอุบาทว์ ไม่มีการคอรัปชั่นในอนาคตอีก

การคัดเลือกโครงการ และความเป็นไปได้ในการจัดทำกระบวนการคัดเลือกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในอดีตมีความพยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการคัดเลือกศึกษาความเป็นเป็นไปได้ทำแบบซิกแซก และจำเป็นต้องมีองค์กรคอยตรวจสอบด้วยการมีส่วนวิจัยข้อมูล

“ในแง่การลงทุนสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน มีโอกาสเกิดการคอร์รัปชัน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องเปรียบเทียบโครงการพิจารณาและสัญญาที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นสัญญาหลายทอดจะซับซ้อนมาก ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ต้องทำให้กระบวนการโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะนำสู่ไปสู่การต่อต้านการคอร์รัปชัน”

ขณะที่นางชิกา จา นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ให้ประสบการณ์จากเอดีบีว่า จะประเมินโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานในแนวทางปฎิบติที่ว่าโครงการมีปัญหาอย่างไร และดูการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนว่าเป็นอย่างไร ให้ความสำคัญกับการเลือกโครงการกับความเหมาะสมของโครงการด้วย

เอกชนไทยทุจริตเพื่อการอยู่รอด

โดยนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ บอกว่า การคอร์รัปชันในไทย จากการเก็บข้อมูลพบว่า การทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมบังคับให้ต้องทำการทุจริต เพื่อให้แข่งขันกับผู้อื่นได้

“จากข้อมูล พบว่า ปัญหาทุจริตส่วนใหญ่ 64% เป็นเรื่องเลี่ยงภาษี รองลงมา 11% คือฮั้วประมูล และ 8% ถ่ายโอนทรัพย์สินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนไปยังบริษัทลูก แสดงให้เห็นว่า เอกชนที่ทำการทุจริต จำเป็นต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นจะแข่งขันกับบริษัทอื่นไม่ได้”

โทษการทุจริตค่อนข้างเบา ส่วนใหญ่จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท จนถึง 1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้หากทำทุจริตหลักหลาย ร้อยล้านหรือพันล้านบาท ก็ยังมีความคุ้มค่า และจากสถิติของสำนักงานก.ล.ต.ที่ดำเนินคดีกับบริษัทจดทะเบียน ที่กระทำผิดตั้งแต่ปี 2535-2552 ทั้งหมด 220 ราย มีเพียง 12 รายหรือคิดเป็น 5% เท่านั้นที่ถูกลงโทษ

ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องทุจริต เพราะหากไม่ทำการทุจริต แต่คนอื่นทุจริต ก็จะทำให้ไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้นถ้าจะป้องกันการทุจริต ต้องทำให้ทุกภาคส่วนออกจากการทุจริตพร้อมกัน จึงต้องสร้างสิ่งดึดดูดให้เอกชนไม่ทำการทุจริต

“สิ่งที่จะดึงดูด คือต้องหาสิ่งตอบแทนเพื่อชักจูงให้บริษัทเหล่านี้ ไม่สนใจทำทุจริต ปัจจุบันเริ่มจัดอันดับบริษัทที่ธรรมภิบาลที่ดี เพื่อแยกออกจากบริษัทที่ไม่ดี และส่งเสริมให้นักลงทุนลงทุนในบริษัทที่มีธรรมภิบาลที่ดี หรือให้ประชาชนอุดหนุนบริษัทที่มีธรรมภิบาลที่ดี เพื่อตอบแทนบริษัทเหล่านี้ โดยต้องดูตัวอย่างในประเทศที่มีประชาธิปไตยมายาวนาน ซึ่งประเทศเหล่านี้ จะมีระบบการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่มีเสถียรภาพ”

ส่วนนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา การซื้อขายหุ้นไทย มักถูกนักวิเคราะห์ปรับประมาณการที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการคอร์รัปชันด้วย และปัญหาคอร์รัปชัน ยังเป็นเรื่องสำคัญต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับเครดิตเรทติ้งของสำนักต่างๆ ด้วย ส่งผลให้เอกชนมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง

ทั้งนี้ต่างจากบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้าทำการจดทะเบียน รวมไปถึงนิติบุคคลอีกกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถเข้าไปทำการตรวจสอบได้ บริษัทเหล่านี้ อาจมีงบการเงินมากกว่า 1 งบการเงิน เพื่อใช้ในการธุรกรรมต่างๆ โดยการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ในส่วนของตลาดทุนได้แก้ปัญหามาต่อเนื่อง เช่น การขอความร่วมมือกับนักวิเคราะห์ ให้วิเคราะห์บริษัทที่มีคะแนนธรรมภิบาลที่ดี หากบริษัทไหนเสี่ยงทุจริต ก็จะเขียนลงในบทวิเคราะห์

ส่วนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ก็เริ่มมีกองทุนที่เข้าลงทุนในบริษัทที่มีคะแนนธรรมภิบาลที่ดีเท่านั้น ถ้าต้องการให้การทุจริตมีปริมาณลดลง ต้องตั้งหน่วยงานเพื่อประเมินความโปร่งใส หากบริษัทเหล่านี้ผ่านการประเมิน ก็สามารถเข้าประมูลงานของรัฐบาลได้ หรือ อาจขอให้ธนาคารพาณิชย์ระงับการปล่อย สินเชื่อกับบริษัทที่ส่อว่าจะทุจริต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้

ป.ป.ช. คาดคอร์รัปชันลดจาก กม. ใหม่

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันน่าจะลดลง จากกฎหมายใหม่ที่ออกมาเปิดทางให้ภาคประชาชนเข้าไปตรวจสอบมากขึ้น

“อนาคตน่าจะลดลง เพราะกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยราคากลาง และวิธีการคิดราคากลางที่โปร่งใสผ่านอินเทอร์เน็ต และให้ภาคเอกชนที่ประมูลงานภาครัฐ ต้องเปิดเผยรายรับรายจ่ายกับสรรพากร จะช่วยลดปัญหาทุจริต เพราะภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบได้มากขึ้น”

ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำลังเจรจาภาครัฐประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการตรวจสอบ ซึ่งเจรจาหลายครั้งแล้ว แต่ยังติดขัดหลาย ปัญหา เพราะเห็นไม่ตรงกันในการตั้งคนกลางตรวจสอบ

“ร่างของรัฐให้บริษัทเอกชนเป็นผู้คัดเลือกคน เพื่อเลือกเป็นกรรมการตรวจสอบ แต่เห็นว่าควรจะเอาคนกลางมาตรวจสอบเลย จึงยังไม่มีความชัดเจน แต่น่าจะใช้ได้ปีนี้ หากเจรจาแล้วเห็นตรงกันก็ประกาศได้เลย”

นายประมนต์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้นำร่องโครงการนำร่องรถเอ็นจีวี 4,000 คัน เข้าไปตรวจสอบแล้ว เพราะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติให้ร่วมตรวจสอบได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2556 ในชื่อ “หนุนภาคธุรกิจ ‘ไทย-เทศ’ สอบคอร์รัปชันโครงการรัฐ”

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด