ทีดีอาร์ไอระบุการศึกษาในทศวรรษที่ 21 ไม่ใช่ “เครื่องมือ” พัฒนาแรงงานเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ควรเริ่มต้นและจบลงที่เพิ่มผลิตภาพของ “นักเรียน” โดยเสนอ 4 แนวทางสร้างพื้นฐานการเติมศักยภาพของนักเรียนระยะยาว ขณะที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ชูการปฏิรูปการศึกษา ต้องตอบโจทย์ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ
งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในหัวข้อ “โมเดลใหม่ในการพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลผลิต” ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รายงานสรุปบทความที่ 1 และบทความที่ 2 ตอนนี้มาถึงบทความที่ 3 “การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิต” บทความนี้จะให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยทั้ง 3 บทความมีความเชื่อมโยงกันคือ เน้นการเพิ่มผลิตภาพ
นายปกป้อง จันวิทย์
บทความที่ 3 นำเสนอโดย นายปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้อภิปราย
การศึกษาไม่ใช่ “เครื่องมือ” พัฒนาแรงงาน
นายปกป้องกล่าวว่า การศึกษาเป็น “หัวใจ” ในการเปลี่ยนสังคมเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ให้ความสําคัญกับการเติบโตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน มีนวัตกรรม เป็นธรรม และนําพาชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกทุกระดับในสังคม
บนเส้นทางสู่เศรษฐกิจใหม่ การศึกษาไม่ควรถูกมองเป็นแค่ ‘เครื่องมือ’ ของการพัฒนา “แรงงาน” ในฐานะปัจจัยการผลิต เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณเท่านั้น แต่การศึกษามีคุณค่าความหมายในตัวเอง เป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง เป็นไปเพื่อพัฒนา ‘มนุษย์’ แต่ละคน ซึ่งต่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง ทั้งยังต่างมีความปรารถนาในการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายกันไป
นายปกป้องกล่าวว่า บทความชิ้นนี้ให้ความหมายต่อ ‘การศึกษา’ ว่าควรมีจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างพลังความสามารถของนักเรียนให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนเลือก คล้ายกับที่อาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) เคยกล่าวไว้ว่า
“การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสําคัญของนักเรียน และจบลงด้วยความสําคัญของนักเรียน”
ต้องสร้างพื้นฐานการเติมศักยภาพของนักเรียน
นายปกป้องกล่าวว่า เมื่อคนแต่ละคนได้รับการเติมเต็มศักยภาพของตนให้สุดทางที่ตนได้เลือกเองแล้ว คนคุณภาพเหล่านั้นย่อมเป็นกําลังสําคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ สังคมเศรษฐกิจที่มีคุณภาพจึงเกิดขึ้นตามมาในที่สุด
ถ้าโจทย์ของการศึกษาอยู่ที่ “การเติมศักยภาพของนักเรียน” เราต้องลงมือสร้างพื้นฐานทางปัญญา 4 อย่าง
1. การสร้างทักษะแห่งอนาคตใหม่ ให้นักเรียนรู้จักอ่านเป็น คิดเป็น รู้จักโลก รู้จักตัวเอง และมีเป้าหมายในการดําเนินชีวิต รวมทั้งให้เป็นคนที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะเลือก ‘ทาง’ ของตนได้อย่างมีคุณภาพ
2. การสร้างทางเลือกคุณภาพ ผ่านการปฏิรูปหลักสูตร การทดสอบ การพัฒนาครู การพัฒนาโรงเรียน เพื่อทําให้ระบบการศึกษามีความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อนักเรียน ในส่วนนี้เราจะพูดถึงการยกระดับอาชีวศึกษาให้เป็นทางเลือกคุณภาพสําหรับนักเรียนด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีมีคุณภาพให้นักเรียนได้เลือกอย่างหลากหลายตามความถนัดของตน
3. การสร้างระบบข้อมูลและระบบแนะแนวที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นพื้นฐานให้นักเรียนตัดสินใจเลือกได้อย่างมีคุณภาพ
4. การสร้างการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนตลอดกระบวนการเรียนรู้ โดยสร้างโอกาสและช่องทางเรียนรู้ที่หลากหลายสําหรับนักเรียน
การสร้างทักษะแห่งอนาคตใหม่
นายปกป้องกล่าวว่า โลกศตวรรษใหม่สร้างความท้าทายใหม่หลายประการ หนึ่ง โลกได้เคลื่อนสู่ “สังคมความรู้” เราไม่จำเป็นต้องท่องจำกันต่อไป ทุกอย่างหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ทักษะใหม่คือที่จําเป็นคือ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการเลือกสรรข้อมูลและประมวลข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่อย่างท่วมท้น ดังที่ โตมร ศุขปรีชา เคยกล่าวไว้ว่า
“google อาจตอบคําถามเราได้ทุกคําถาม แต่ google ไม่สามารถบอกเราว่าควรถามอะไร”
สอง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้เข้ามาทํางานแทนแรงงานที่งานที่ซํ้าซากจําเจ ทักษะใหม่ที่สำคัญคือทักษะที่คอมพิวเตอร์ทำแทนไม่ได้ เช่น ทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการทํางานเป็นทีม และทักษะในการสื่อสารอันซับซ้อน
สาม โครงสร้างองค์กรเปลี่ยนจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ มีการกระจายอํานาจตัดสินใจมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทักษะใหม่ที่จำเป็นอยู่ที่เป็นคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองมากขึ้น
สี่ ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป แต่ละประเทศเชื่อมโยงกันในระดับโลกมากขึ้น ดังนั้น คนทํางานยุคใหม่จึงต้องสามารถทํางานภายในทีมที่ประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายชาติ ภาษา และวัฒนธรรม รวมถึงต้องมีทักษะสากลที่สามารถแข่งขันกับแรงงานชาติอื่นๆ ได้ เช่น ภาษาอังกฤษ ความรู้เท่าทันเทคโนโลยี เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ต่างๆ ที่เราเคยเรียนกันมา ท่องจำ ยัดเยียดรายละเอียดมากกว่าเนื้อหา เรียนแต่ละวิชาแยกส่วนกัน มาถึง “ทางตัน” แล้วในโลกที่ความรู้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วๆ มาก เราต้องสร้างศักยภาพให้นักเรียนแต่ละคนให้มีทักษะอนาคตใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21’
นายปกป้องย้ำว่า ความรู้อย่างเดียวทำให้เราไปไหนไม่ไกลมาก ต้องมีความรู้ควบคู่กับ “ทักษะ” “เนื้อหา” และ”คุณลักษณะ” ที่สร้างปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ (รายละเอียดแต่ด้านดูภาพประกอบข้างล่าง)
จากภาพข้างบน นายปกป้องกล่าวว่า นั่นคือภาพโลกที่เราอยากเห็น แต่หันกลับมาดูหลักสูตรไทยพบว่า เด็กไทยเรียนเยอะ แต่รู้น้อยและทำงานไม่เป็น โดยเด็กประถมของไทยเรียน 1,000 ชั่วโมงต่อปี และเด็กมัธยมเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่ประเทศพัฒนาแล้วเด็กประถมเรียนประมาณ 800 ชั่วโมงต่อปี และเด็กมัธยมเรียนประมาณ 900 ชั่วโมง แต่เขามีผลการเรียนที่ดีกว่าเรามาก เราจึงจำเป็นต้องปรับปรุงด้านหลักสูตรให้ยืดหยุ่นมากขึ้น คือ สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น
การสร้างทางเลือกคุณภาพ
นายปกป้องกล่าวว่า เพื่อให้ระบบการศึกษาสามารถเติมเต็มศักยภาพให้นักเรียนเติบโตได้จน ‘สุดความสามารถ’ ของแต่ละคนตามความถนัดและความต้องการของตน ระบบการศึกษาต้องสามารถเสนอทางเลือกที่มีคุณภาพให้นักเรียนได้เลือกอย่างหลากหลาย จนนักเรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัดและความต้องการของตนได้อย่างแท้จริง
แต่ทีดีอาร์ไอทำงานวิจัยเรื่องระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องพบว่า การศึกษาไทยยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพที่จะสร้างทางเลือกคุณภาพ แต่ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย “ไม่ใช่” เป็นเพราะงบประมาณไม่พอ เนื่องจากงบประมาณกระทรวงศึกษาเพิ่มขึ้น 3 เท่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคประเทศไทยสามารถสู้เขาได้ แต่งบประมาณที่สูงขึ้นส่วนใหญ่เป็นงบเงินเดือนครูประมาณ 70% ของงบประมาณทั้งหมด
นอกจากนี้พบว่า เงินเดือนครูเมื่อก่อนอาจเป็นปัญหาต่อคุณภาพการศึกษา แต่ปัจจุบัน “ไม่ใช่” อีกต่อไป เพราะเงินเดือนครูถูกปรับขึ้นเป็นเท่าตัวในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการแยกบัญชีเงินเดือนครู 2548 โดยเงินเดือนครูที่จบปริญญาตรีปัจจุบันมีรายได้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นอีกต่อไป
ขณะที่ระบบประเมินคุณภาพการศึกษาโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งประเมินทุก 5 ปี รอบแรกมีโรงเรียนผ่านไม่ถึง 50% แต่ 12 ปีผ่านไปมีโรงเรียนผ่านเกณฑ์ประมาณกว่า 80% ก็ต้องตั้งคำถามว่า โรงเรียนไทยมีคุณภาพจริงหรือไม่ หรือเก่งแค่ทำให้ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพ
แต่เมื่อมาดูคะแนนสอบมาตรฐานของไทย พบว่าจะต่ำมากกว่ามาตรฐานทั้งผลการสอบ TIMMS และการสอบ PISA ที่วัดความรู้ และการประยุกต์ใช้ไม่ใช่การท่องจำ เด็กไทยสอบ TIMMS ได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐาน หรือพอใช้ได้ในวิชาคณิตศาสตร์สูงถึง 70% ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ เด็กไทยอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือพอใช้ได้ 60% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
สำหรับคะแนน PISA เด็กไทยอยู่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานพอใช้ได้ โดยวิชาการอ่านและวิทยาศาสตร์สูงถึง 43% และวิชาคณิตศาสตร์ 53% ส่วนประเทศพัฒนาแล้วอยู่ประมาณ 20%
“นอกจากคะแนนสอบที่ชี้ว่าเด็กไทยเก่งสู้เพื่อนไม่ได้แล้ว เราไปคุยภาคธุรกิจหลายๆ ด้านพบว่า แม้เขาต้องการแรงงานสายวิชาชีพมาทำงาน แต่เขาก็ไม่รับ เขาบอกว่าค่าแรงแพงกว่าสายสามัญ เพราะว่าไม่ว่าจะรับเด็กที่จบที่สายสามัญหรือสายอาชีวะ เขาก็ต้องมาฝึกใหม่อยู่ดี เพราะฉะนั้น เราจะเห็นปัญหาเชื่อมโยงของการศึกษาไทย”
เพราะฉะนั้น ปัญหาการศึกษาไทยไม่ใช่ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร จากการศึกษาของทีดีอารืไอ ตีโจทย์ว่า “ใจกลาง” ของปัญหาการศึกษาไทยอยู่ที่การขาด “ความรับผิดชอบ” ตลอดทั้งกระบวนการการศึกษา
ถ้ามีความรับผิดชอบ โรงเรียนต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อเด็กและพ่อแม่ เมื่อเด็กมีผลการเรียนตกต่ำ ครูต้องเดือดร้อนพยายามเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ แต่กรณีประเทศไทยเราพบว่า ความรับผิดชอบสายตรงระหว่างโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง ไม่มีความรับผิดชอบ เนื่องจากผลการเรียนของเด็กไม่ได้ถูกนำไปใช้ประเมินครูและผู้บริหารโรงเรียน
ปัจจุบัน ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมีผลน้อยมากต่อการขึ้นเงินเดือนครูและการเลื่อนวิทยาฐานะ การขึ้นเงินเดือนครูไม่คำนึงถึงผลการเรียนของเด็กเลย น้ำหนักส่วนใหญ่ 70% เป็นเรื่องจริยธรรม และผลการปฏิบัติงานอื่นๆ อีก 30% เป็นทักษะการสอน ซึ่งในทางปฏิบัติครูก็ไม่ได้มีการเตรียมการเรียนการสอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะเห็นการขึ้นเงินเดือนขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการ ส่วนการเลื่อนวิทยาฐานะ ผลการสอบของนักเรียนมีผลแค่ 3% ของคะแนนทั้งหมด GPA มีคะแนน 7% ส่วนผลงานทางวิชาการที่ครูนั่งทำมีคะแนน 13% จริยธรรมมีสัดส่วน 33% และทักษะการสอน 33%
“นี่คือระบบที่เราทำกันอยู่ เสนอว่าการขึ้นเงินเดือนครู และการเลื่อนวิทยฐานะ ควรเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้มากขึ้น โดยดูพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ” นายปกป้องกล่าว
ประเด็นร้อนทางเลือกคุณภาพอีกเรื่องคือ “การยกระดับอาชีวะ” ปัจจุบันภาครัฐประเมินว่า ต้องการเด็กช่างมาช่วยภาคเศรษฐกิจประมาณ 4 แสนคน แต่มีคนมาเรียนจริงปราณ 2.8 แสนคน ถ้าเทียบโครงสร้างอาชีวะระดับ ปวช. กับสามัญระดับ ม.6 ตอนนี้อยู่ที่ 35% กับ 65% ตามลำดับ ล่าสุดกระทรวงศึกษาได้ออกนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนเด็กอาชีวะเป็น 51% และสายสามัญ 49% ในปี 2558
ขณะที่งบประมาณต่อหัวสายมัญกับสายอาชีวะ พบว่า งบประมาณสายอาชีวะได้งบประมาณต่อหัวต่ำกว่าสายสามัญ ทั้งที่การจัดการมีต้นทุนสูงกว่า เพราะต้องลงทุนเครื่องจักรเพื่อฝึกฝนเด็ก งบประมาณต่อหัวของสายอาชีวะอยู่ที 25,042 บาท สายสามัญอยู่ที่ 28,261 บาท
“จะเห็นว่า ในรายละเอียดงบบุคลากรของสายอาชีวะน้อยกว่าสายสามัญ เพราะสายอาชีวะมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างรุนแรง งบเงินอุดหนุนกว่าครึ่งก็เอาไปจ้างครูให้เพียงพอ” นายปกป้องกล่าวและว่า
เมื่อดูงบครุภัณฑ์ทางการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบครุภัณฑ์ของอาชีวะอยู่ระดับต่ำมาตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีเครื่องมือดีแล้วจะเรียนจะทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างไร
ที่สำคัญสายอาชีวะขาดแคลนครูมากว่าสายสามัญ โดยการขาดแคลนครูอาชีวะศึกษาอยู่ที่ 44:1 สูงกว่าสายสามัญเท่าตัวซึ่งอยู่ที่ 22:1 โดยใน 2555 สำนักงานคณะกรรรมการอาชีวะศึกษา (สอศ.) มีครูอาชีวะประมาณ 26,000 คน แต่มีข้าราชการครูแค่ 15,000 คน ที่เหลือเป็นครูสัญญาจ้าง ซึ่งเงินเดือนค่อนข้างต่ำ ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ทำให้จิตใจที่จะทั้งสอนและพัฒนาก็ลดลง
“จะเห็นว่า แค่ปัญหาการเพิ่มอาชีวะอย่างเดียวอาจจะผิด การต้อนเด็กมาเรียนอย่างเดียวไม่ดี แต่ทำอย่างไรจะทำให้คุณภาพอาชีวะดีขึ้น ต้องมีการรีแบรนด์ดิงใหม่ ต้องมีการปรับการแนะแนวขนานใหญ่ ที่สำคัญต้องมีการเพิ่มงบลงทุน งบอุดหนุน เพิ่มลงทุนด้านครุภัณฑ์การศึกษา สำคัญที่สุด ยกระดับอาชีพให้มีทางเลือกได้” นายปกป้องกล่าว
การสร้างระบบข้อมูลและระบบแนะแนวที่มีคุณภาพ
ในทศวรรษใหม่ นอกจากต้องการการสร้างคนให้มีคุณภาพ และสร้างทางเลือกให้มีคุณภาพแล้วยังต้องการระบบและระบบแนะแนวที่มีคุณภาพด้วย เพื่อให้นักเรียนสามารถมีทางเลือกได้อย่างมีคุณภาพ แต่นายปกป้องกล่าวว่า จากการสัมภาษณ์พบว่าโรงเรียนสายสามัญบางแห่งยังไม่ต้องการให้ครูหรือนิเทศก์ด้านอาชีวศึกษาเข้าแนะแนวนักเรียนในโรงเรียน เพราะเกรงว่าจะสูญเสียโอกาสได้รับการจัดสรรงบประมาณ อันเนื่องมาจากนักเรียนย้ายออกไปเรียนสายอาชีวะทําให้จํานวนนักเรียนน้อยลง และงบต่อหัวที่ได้รับก็ลดลงด้วย
นอกจากนี้ ครูและบุคลากรผู้แนะแนวอาชีพยังขาดข้อมูลด้านอาชีพสําหรับการแนะแนว เช่น ภาครัฐยังลงทุนด้านระบบข้อมูลความต้องการแรงงานค่อนข้างน้อย โดยยังไม่มีการสํารวจความต้องการและขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
นายปกป้องกล่าวว่า ในสายวิชาชีพครูเราเห็นภาพครูที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุดคือครูพละและครูสุขศึกษา โดยมีการการประมาณไปข้างหน้าในช่วง 5 ปีข้างหน้า เราคาดว่าจะมีครูพละและครูสุขศึกษาประมาณ 54,000 คน แต่เราขาดแคลนเพียง 9,200 เท่านั้น
หรือในช่วงปี 2557-2560 คาดว่าจะมีผู้เรียนจบ ปวช. และ ปวส. สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ประมาณ 3,586 คน แม่พิมพ์ 7,429 คน และเชื่อมโลหะ 27,799 คน ซึ่งน้อยกว่าประมาณการความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรม ที่ต้องการแรงงานสาขาเมคคาทรอนิกส์และแม่พิมพ์อย่างละ 19,939 คน และสาขาเชื่อมโลหะ 39,879 คน
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้จบการศึกษาทั้งหมดจะไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ยิ่งทําให้เกิดความขาดแคลนในสาขาเหล่านี้อย่างมาก ส่วนสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และสาขาเครื่องกลโรงงาน แม้จะมีผู้จบการศึกษามากกว่าความต้องการของอุตสาหกรรม แต่จํานวนผู้จบการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดยังน้อยกว่าความต้องการ นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น
“ถ้ามีระบบข้อมูลที่ดี เราอาจช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูและการขาดแคลนแรงงานได้ ควรลงทุนสร้างระบบข้อมูลด้านความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานในระยะกลางหรือยาว 5-10 ปี เพื่อป้อนข้อมูลสําหรับการตัดสินใจเลือกเรียนของผู้เรียน โดยการให้ข้อมูลแก่นักเรียนควรประกอบด้วย สาขาวิชาที่สอดคล้องกับอาชีพ ความน่าสนใจและลักษณะของอาชีพ เงินเดือน และโอกาสการมีงานในอนาคต” นายปกป้องกล่าว
การสร้างการมีส่วนร่วม
นายปกป้องกล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินฝัน แต่เป็นเรื่องที่ต้องการเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ แต่ประเทศไทย 15 ปี มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา 16 คน เฉลี่ยคนละ 10 เดือน รัฐมนตรีที่อยู่นานที่สุดคือ 1 ปี 8 เดือน และอยู่น้อยที่สุดคือ 2 เดือนครึ่ง
“รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องอยู่กันยาวๆ เพราะต้องวางนโยบายระยะยาว และต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่ในการปฏิรูปการศึกษา” นายปกป้องกล่าว
ทั้งนี้ พัฒนาการของการจัดศึกษาทวิภาคีเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลอันเกิดจากนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง โดยการศึกษาแบบทวิภาคีเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 แล้ว แต่ผ่านมาเกือบ 30 ปี การศึกษาทวิภาคียังมีพัฒนาการไม่มาก ทั้งเชิงปริมาณและเชิงสถาบัน
โดยจํานวนนักเรียนทวิภาคีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2551 เพราะจํานวนนักเรียนทวิภาคีลดลงอย่างมากในช่วงปี 2551-2552 และปัจจุบันยังมีความน่ากังวลว่า การจัดการศึกษาทวิภาคีจะลดลงคล้ายกับช่วงก่อน หากนโยบายของภาครัฐไม่ได้สนับสนุนการจัดการศึกษาทวิภาคีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับกฎระเบียบให้เอื้ออํานวยต่อการร่วมมือของภาคเอกชน
โดยทางการมีมาตรการให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมจัดการสอนทวิภาคี จะได้สิทธิประโยชน์นำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 200% แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพราะยุ่งยาก เพราะกฎระเบียบการขอลดหย่อนยังสร้างกระบวนการที่ยืดยาวโดยไม่จําเป็น เช่น กำหนดให้สถานประกอบการส่งรายละเอียดหลักสูตรแก่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไม่ได้ให้อํานาจอนุมัติ
“การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เป็นวาระใหญ่ของทั้งสังคมที่ต้องร่วมมือช่วยกัน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ” นายปกป้องกล่าว
โดยสรุป แนวทางการพัฒนาการศึกษา นายปกป้องระบุว่า ควรตั้งเป้าอยู่ที่การสร้างทักษะแห่งอนาคตใหม่ให้มีคุณภาพ และมีการเติมเต็มศักยภาพนักเรียนให้เป็นคนที่มีคุณภาพตามเส้นทางที่เขาเลือก โดยมีผู้กล่าวว่าไว้ การศึกษาที่ดีต้อง A high floor, no ceiling คือ หมายถึงคุณภาพขั้นต่ำของการศึกษาของนักเรียนต้องสูง แต่ก็ไม่มีเพดาน คือ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ มากั้นขวาง เพื่อให้บรรลุศักยภาพของแต่ละคนได้
“จาตุรนต์ ฉายแสง” ชี้กระทรวงศึกษามุ่งพัฒนาคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ ถ้าพูดสั้นๆ เร็วๆ ก็ยินดีรับเพราะหลายเรื่องสอดคล้อง โดยเรื่องหนึ่งที่บอกว่าจะต้องจัดการศึกษาเพื่อโดยต้องให้ความสนใจความเป็นมนุษย์ ความสนใจการเพิ่มศักยภาพ คำนึงถึงศักดิ์ความเป็นมนุษย์ หรือมีคนเป็นจุดหมาย ตรงนี้ก็เป็นปรัชญาหนึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไรถึงกับขัดกัน แต่กระทรวงศึกษาจะเน้นมากในเรื่องการพัฒนาคนเพื่อให้ไปพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ
“กระทรวงศึกษากำลังวางแผนการศึกษาเพื่อวางกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ” นายจาตุรนต์กล่าว
ทั้งนี้ นายจาตุรนต์กล่าวว่า การจัดการศึกษาที่ผ่านมามีการวางแผนดังกล่าว แต่มีจุดหนึ่งที่ขาดไปคือ การกำหนดตัวชี้วัด การกำหนดเป้าหมายที่ทำให้ทั้งกระบวนการรู้เป้าหมายที่จะเดินไป หรือทำอะไร เช่น ตั้งเป้าอันดับคะแนน PISA ของนักเรียนไทยต้องเพิ่มขึ้น และมหาวิทยาลัยของไทยต้องติดอันดับโลกมากขึ้น การส่งเสริมให้คนมีโอกาสในการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และเรื่องการเพิ่มสัดส่วนอาชีวะมากขึ้นก็เป็นเป้าหมายตรงกัน
แต่การตั้งตัวเลขแบบนี้หมายถึงการต้องทำอะไรอีกหลายอย่างที่จะไปถึงจุดนั้น ไม่ใช่แค่การตั้งเป้า เช่น การตั้งเป้าให้ได้คะแนน PISA สูงขึ้นก็หวังว่าการผลักดันไปจุดนั้นจะทำให้ครู นักเรียน ผู้ปกครองได้ปรับตัวกัน เริ่มตั้งแต่วิธีการเรียน การสอน ทำให้นักเรียนคิด วิเคราะห์เป็น
โดยกระทรวงศึกษาทำด้านนี้ไม่ได้หวังว่าจะไปให้นักเรียนแข่งขันแบบแข่งกีฬานานาชาติ แต่ต้องการเอาการเลื่อนอันดับมาทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าใจว่า PISA คืออะไร โดยหวังว่าจะทำให้ครู อาจารย์ โรงเรียนรู้ว่า มีจุดอ่อนอย่างไรในแบบเรียน หรือวิธีการเรียนการสอน จะได้ปรับให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นได้โดยไม่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม (ติว)
“คิดว่า ถ้าทำเรื่องนี้จริงจังจะส่งผลกระเทือนต่อการเรียนในชั้น นี่คือตัวอย่างการกำหนดเป้าหมายขึ้นมาแล้วทำให้เกิดการปรับปรุงทั้งระบบ พอจะรู้ว่าจะทำอะไรอย่างไร” นายจาตุรนต์กล่าว
นายจาตุรนต์ ฉายแสง
รัฐมนตรีว่าการะทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปทั้งระบบอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คือ หลักสูตร การเรียน การสอน ต้องปฏิรูปแบบมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง โดยแนวคิดการปรับหลักสูตรเหมือนกันกับที่ทีดีอาร์ไอเสนอ คือ จะต้องมีคุณลักษณะพึงประสงค์ และเน้นเนื้อหา
แต่ปัญหาการปรับหลักสูตรของประเทศไทยคือ ปรับทีหนึ่งก็ลงแขกระดมผู้เชี่ยวชาญมาคุย ทำให้ไม่เกิดการต่อเนื่อง เพราะไม่มีองค์กรทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อ 8 ปีที่แล้วตอนเป็นรัฐมนตรีเคยเสนอว่าควรตั้ง “การตั้งสถาบันวิจัยพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน” เพื่อให้มีองค์ความรู้ในการที่จะพัฒนาหลักสูตร ในรอบนี้ก็จะเสนออีกครั้ง
ส่วนเรื่องการทดสอบวัดผล นายจาตุรนต์ยอมรับว่ามีปัญหาจริง โดยที่ผ่านมาการจัดการศึกษาได้ให้โรงเรียนและครูเป็นผู้ทดสอบวัดผลมาประมาณ 20 กว่าปีโดยไม่มีการทดสอบกลาง แต่การทดสอบวัดผลจากส่วนกลางเพิ่งมีเมื่อ 8 ปีที่แล้วตอนที่ตนเป็นรัฐมนตรีพอดี
ดังนั้น ช่วง 20 กว่าปีนี้ เป็นช่วงที่ประเทศนี้ทั้งประเทศไม่รู้ว่าการจัดระบบการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ไม่มีองค์ความรู้ว่าผลการเรียนการสอนเป็นอย่างไร เพราะใช้ครูทดสอบวัดผลภายใต้ข้อจำกัดของสังคมของแรงกดดันต่างๆ จากผู้ปกครองที่ไม่อยากให้เด็กสอบตก จากผู้อำนวยการโรงเรียนที่อยากให้นักเรียนมีผลการเรียนดี และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งไม่อยากให้โรงเรียนในเขตมีผลการเรียนอ่อน
เพราะฉะนั้นทำให้เกิดปัญหาว่า เด็กเรียนมาทั้งปีอ่านหนังสือไม่ออก ถึงเวลาสอบซ่อม 2 วันผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กผ่านกันมาโดยทั้งประเทศไม่รู้ว่าการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นอย่างไร
“เราให้มีการสุ่มตรวจสอบนักเรียน ป.3 และ ป.6 ทั่วประเทศ พบว่า อ่านหนังสือไม่ออกเป็นหมื่นคน และอาจต้องปรับปรุงถึง 2 แสนคน คำถามคือ เด็กเหล่านี้ผ่านมาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การสอบวัดผลกลางต้องมีขึ้นมา แต่แน่นอน เราเน้นเฉพาะอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเน้นเรื่องพัฒนาครู ระบบการฝึกอบรบครูด้วย” นายจาตุรนต์กล่าว
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาระบุว่า ตอนนี้กระทรวงศึกษาเสนอให้มีการสอบวัดผลจากส่วนกลางมาใช้ให้มากขึ้น จากที่ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนทดสอบวัดผลโดยครูกับส่วนกลางอยู่ที่ 20:80 จะเพิ่มเป็น 30:70 ในปีหน้า และปีถัดไปเป็น 50:50 ในปี 2558 เพื่อให้รู้ว่าประเทศเราจะจัดการเป็นอย่างไร และประเทศจะได้รู้ว่าโรงเรียนต่างๆ จัดการเรียนการสอนอย่างไร และครูจะได้รู้มากขึ้น
การจัดระบบประเมินก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน คือ ให้ประเมินภายในอย่างเดียวก็จะเหมือนการทดสอบวัดผลกันเอง ปรัชญาที่คิดกันมาคือ โรงเรียนควรตรวจสอบวัดผลกันเองโดยไม่มีส่วนกลาง แต่หลายๆ ประเทศเขาให้น้ำหนักในการทดสอบกลาง ถ้าเราให้อำนาจโรงเรียนไปเลยจะดีไหมก็จะเป็นเหมือนกรณีนักเรียน ม.1 ผ่านมาได้อย่างไรทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออก
“ประเมินผลการเรียนการสอน ตั้งแต่ผมเป็นรองนายกฯครั้งแรก ตัวชีวัดตัวแรกคือ การคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เราพบว่า นักเรียนไทยอ่อนเรื่องคิดวิเคราะห์ตลอดในการประเมินของ สอศ. แต่ไม่ได้พบการแลกเปลี่ยนสื่อสารกันว่า ครูจะสอนให้คิดวิเคราะห์ได้นั้นต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้น การประเมินไม่ได้ส่งให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนเท่าที่ควร” นายจาตุรนต์กล่าว
ดังนั้น ถ้าจะมีประเด็นที่ขอคิดต่างกันกับทีดีอาร์ไอเสนอ คือ การให้อำนาจตัดสินใจประเมินผลจากส่วนกลางไปให้โรงเรียน ซึ่งนายจาตุรนต์กล่าวว่าจะต้องดูว่าตรงไหนจะเหมาะสม หรือความสมดุลจะอยู่ตรงไหน
ดาวโหลด เอกสารประกอบการนำเสนอบทความ
เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่: รื้อหลักสูตรเด็กไทยเรียนเยอะ แต่รู้น้อยและทำงานไม่เป็น มาลงทุนพื้นฐานทางปัญญา 4 ด้าน”