ไทยพับลิก้ารายงาน: ทีดีอาร์ไอเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่: เลิกประชานิยม เน้นเพิ่มผลิตภาพการผลิต

ปี2013-11-26

ทีดีอาร์ไอฟันธง หมดยุคการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้น “อุตสาหกรรม-มุ่งส่งออก-ค่าแรงต่ำ” ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่โมเดลใหม่ มุ่ง “ผลิตภาพการผลิต” พร้อมเสนอยกเลิกประชานิยมที่ใช้เร่งการเติบโตระยะสั้น

งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของทีดีอาร์ไอ มีผู้เข้าร่วมฟังประมาณ 800 คน

งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของทีดีอาร์ไอ มีผู้เข้าร่วมฟังประมาณ 800 คน

วันที 18 พฤศจิกายน 2556 สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ในหัวข้อ“โมเดลใหม่ในการพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ” โดยมี 4 บทความที่นำเสนอ ได้แก่ 1. โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ 2. การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของการผลิต 3. การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ และ 4. บทบาทของภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลัง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ในฐานะประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเปิดสัมมนาว่า สถานการณ์ปัจจุบันเรากำลัง “เผชิญ” กับข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องเร่งแก้ไขให้ได้ผล มิฉะนั้นประเทศของเราคงยากที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าสู่ขั้นต่อไปได้สำเร็จ

ประเทศไทยในระยะที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการพัฒนาโดยใช้โมเดลที่มีองค์ประกอบ 3 ประการที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ได้แก่

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตโดยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ และการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยมีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้วยตนเองน้อยมาก

2. การอาศัยตลาดส่งออกในสัดส่วนที่สูงมาก เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ตลาดภายในประเทศมีข้อจำกัด

3. การอาศัยแรงงานจำนวนมากที่มีค่าจ้างแรงงานราคาถูก และการใช้ทรัพยากรธรรมมชาติที่มีอยู่โดยขาดการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

นายโฆสิตกล่าวว่า แม้โมเดลการพัฒนาดังกล่าว จะสามารถช่วยสร้างการเติบโตให้ประเทศไทยมาได้หลายทศวรรษก็ตาม แต่การเติบโตด้วยโมเดลการพัฒนาเช่นนี้กำลังเผชิญกับข้อจำกัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากการที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีแรงงานราคาถูก มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเผชิญปัญหาความยั่งยืนที่เกิดจากปัจจัยภายใน เช่น ปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาจากผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและจากปัญหาระยะยาว อื่นๆ เช่น คุณภาพของการศึกษา เป็นต้น ยังมีความอ่อนไหวค่อนข้างมากต่อความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นที่ปรากฏให้เห็นในช่วงปี 2555-2556

นายโฆสิตกล่าวว่า ประสบการณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้แสดงให้เห็นว่า วีธีการรักษาหรือเร่งความเจริญทางเศรษฐกิจโดยอาศัยแนวทาง “ประชานิยม” หรือ แนวทางการใช้ “สินเชื่อ” เป็นกำลังขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจนั้นสามารถใช้ได้ผลแต่เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากกรณีเศรษฐกิจไทยเราเองที่ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2556

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

“ประเทศไทยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เร่งความเจริญทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางประชานิยม และการขยายสินเชื่อเป็นหลัก และจำเป็นต้องมีโมเดลการพัฒนาในทิศทางที่หลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรืออิสราเอล สามารถใช้ได้ผลสำเร็จอย่างยั่งยืนมากแล้ว ได้แก่ โมเดลการพัฒนาที่อาศัยฐานความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นหลัก”

นายโฆสิตกล่าวว่า ในงานอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum ล่าสุดของปีนี้พบว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 37 จากจำนวน 148 ประเทศ แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดของปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันจะเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในลำดับที่ 47 จาก 148 ประเทศ

แต่ในด้านประสิทธิภาพของการศึกษาและการฝึกบรมอยู่ในลำดับที่ 66 และในด้านความพร้อมของเทคโนโลยีอยู่ในลำดับค่อนข้างล้าหลังคือลำดับที่ 78

“ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลักของไทยในเรื่องความสามารถแข่งขันในอนาคต แต่ปัญหาหลักของไทยในปัจจุบันคือไทยมีความล้าหลังในระดับโลกอย่างมากในด้านการศึกษาและเทคโนโลยี”

ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า โมเดลในการพัฒนาใหม่น่าจะมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 อย่าง ได้แก่

1. การสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย

2. การสร้างความสมดุลระหว่างตลาดส่งออกในระดับโลก การลงทุนของไทยในระดับภูมิภาค การสร้างกำลังซื้อในประเทศ

3. การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและกระบวนการปรับค่าตอบแทนแรงงานทั้งในด้านค่าจ้าง สวัสดิการ และการประกันสังคมให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม

“ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเร่งพิจารณาหาแนวทางปรับร่วมกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจของเรากว้าไปสู่การขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งขอเสนอว่า การเพิ่มผลิตภาพควรจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก เพราะเป็นแนวทางที่สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน” นายโฆสิตกล่าว


เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่: เลิกประชานิยม เน้นเพิ่มผลิตภาพการผลิต”