นักวิชาการรวมตัว ‘2 เอา 2 ไม่เอา’ แถลงหนุนปฏิรูปพร้อมเลือกตั้ง

ปี2014-01-13

ปูเปิดใจขอเวทีกลางจุดเริ่มต้น

เมื่อวันที่ 10 มกราคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ โดยกล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการสภาปฏิรูปว่า หลังจากยุบสภารัฐบาลมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การทำงานผ่านไปโดยราบรื่น อาจมีปัญหาอุปสรรคบ้าง แต่หลังจากรับฟังเสียงจากประชาชน สิ่งที่มีความเห็นตรงกันก็คือทุกฝ่ายต้องการมีสภาปฏิรูปประเทศ รัฐบาลเห็นด้วยและเชื่อว่าเป็นความต้องการ ปัจจุบันมีหลายเวทีในการพูดคุย แต่ยังไม่สามารถตกผลึกออกมาได้ว่าจะปฏิรูปให้มีสภาปฏิรูปขึ้นมาได้อย่างไร ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนไหน จำนวนเท่าไร และจะเกิดขึ้นอย่างไร รัฐบาลจึงเดินสายพบปะสื่อมวลชน วันนี้รัฐบาลอยากให้ใครก็ได้ เปิดเป็นเวทีกลางเพื่อเป็นการเริ่มต้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนมาหารือแสดงความคิดเห็น

ระบุออกพ.ร.ก.เรื่องยาก

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปมีสองส่วนคือขั้นตอน เพื่อให้เกิดสภาปฏิรูปให้เร็วที่สุด และเนื้อหาจะทำให้เกิดสภาปฏิรูปหรือรูปแบบ ในส่วนของขั้นตอนเพื่อเกิดสภาปฏิรูปนั้น ขั้นตอนที่อยากเห็นคือขั้นตอนทำก่อนจะมีรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ด้วยการตรวจสอบและสอบถามทางคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว สิ่งที่ทำได้เร็วที่สุดคือการใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอ แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้ยุบสภาแล้ว ไม่สามารถผูกพันกับรัฐบาลหน้า สิ่งที่ควรทำในขั้นตอนที่ 2 คือการเชิญชวนพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมให้สัตยาบันว่าถ้าใครได้เป็นรัฐบาล หลังจากการเลือกตั้ง ขอให้นำเจตนารมณ์ของการปฏิรูปเข้าไปเป็นวาระแห่งชาติและดำเนินการต่อไป ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของรัฐสภาได้ในส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก่อนการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ยาก

ห่วงไม่มีเลือกตั้งกระทบหนัก

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า วันนี้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จากการพูดคุยกับภาคเอกชน ต้องการความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก แต่รัฐบาลมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ การพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องทำตามพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง และจากการพูดคุยทุกคนอยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนี้มุ่งมั่นเลือกตั้งโดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ต้องขอความเห็นใจด้วยว่า ถ้าไม่เอาการเลือกตั้ง หรือเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อให้การปฏิรูปเสร็จ คงไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลาเป็นปี แล้วจะบริหารประเทศได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลไม่สามารถอนุมัติโครงการหรืองบประมาณผูกพันได้ การดูแลประชาชนก็ไม่สามารถทำได้ ผลกระทบเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศก็จะมีปัญหา วันนี้มีกฎหมายหลายฉบับค้างในสภาและรอขั้นตอนต่างๆ เช่น สิทธิทางด้านภาษี กำลังจะหมดอายุ เดิมคาดว่าจะใช้กลไกของอียูเข้ามาช่วยต่อรองโดยเฉพาะภาคการเกษตร ก็ไม่สามารถทำได้ทันเวลา หากไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็จะเกิด ผลกระทบกับโครงสร้างภาษี ไทยเคยได้เปรียบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยก็จะไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องใช้เวทีไทย-อียู มาต่อเชื่อมเพื่อให้ได้สิทธิทางภาษีที่ดีที่สุดก็จะไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากไม่มีสภาก็ไม่สามารถผ่านขั้นตอนได้ หรือทำได้เพียงส่วนของราชการแต่ไม่สามารถ ลงนามในความตกลงได้ หรือในส่วนของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของอียู ก็จะมีผลกระทบต่อ กลุ่มของอัญมณีทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาคมอาเซียน ต้องมีเวลาตกลงให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ก็ถูกเลื่อนออกไป ยอมรับว่ามีความ เป็นห่วงว่าหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งจะมี ผลกระทบ

ชี้ถ้าขยับผอ.ยุติธรรมต้องมาคุย

“ดังนั้น ถ้าช่วยกันให้การเลือกตั้งผ่านไปก่อน แล้วเร่งทำในเรื่องการปฏิรูปก็จะทำให้การปฏิรูปเสร็จขึ้นเร็ว แล้วก็ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ประชาชนก็จะได้ใช้สิทธิและรักษาประชาธิปไตย เพื่อใช้สิทธิของทุกคนทั้งประเทศในการตัดสินหารัฐบาลใหม่และตัดสินกลไกการปฏิรูปประเทศให้เดินหน้า” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว และว่า วันนี้รัฐบาลไม่ได้อยู่ในลักษณะจะเดินหน้าอย่างเดียว เพราะด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่ถ้าทุกฝ่ายพร้อมจะหันหน้ามาคุยกัน ได้หรือไม่ ว่าจะทำอย่างไร ส่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ออกจากตำแหน่งนายกฯ ยืนยันว่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ไม่สามารถปฏิเสธงานนี้ได้ มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นกลไกที่ไม่สามารถขยับได้ ถ้าจะขยับต้องขยับและพูดคุยด้วยกันทั้งหมด และผู้อำนวยความยุติธรรมต้องมาคุยด้วยไม่เช่นนั้นไปไม่ได้

ให้กฤษฎีกาดูข้อเสนอ25องค์กร

เมื่อถามว่า กลุ่ม 25 องค์กรเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดองค์กรปฏิรูป เห็นด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องให้นักกฎหมายและคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและศึกษาว่าทำได้หรือไม่ เพราะมีข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าสามารถทำได้รัฐบาลก็ยินดี อย่างไรก็ตาม เนื้อหาการออก พ.ร.ก.เป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะออกอย่างไร กระบวนการคัดเลือกผู้จะมารับหน้าที่สภาปฏิรูปจะเอาใครมา และทุกคนต้องยอมรับว่าเวทีนี้เป็นกลางจริง เพราะวันนี้มีหลายทางเลือก ตามที่นักวิชาการเสนอ แต่ยังไม่เคยมีการนำมาสรุป

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่การบริหารราชการแผ่นดินและการตัดสินใจในวันนี้ขึ้นอยู่กับนายกฯไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่มีใครมีอำนาจเท่ากับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น การเจรจาทั้งต้องให้แน่ใจว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่เห็นด้วย ถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่สามารถจะไปรับปากแทนใครได้ แต่สิ่งที่ทำคือสิ่งที่เป็นหน้าที่ เพื่อให้ประเทศมีความสงบก็ยินดี คำตอบคือการพูดคุยทั้งหมด ต้องได้ความสงบกลับคืนมาสร้างความสามัคคีให้กับประเทศไทย

ถามถ้าไม่เลือกตั้งจะอยู่อย่างไร

เมื่อถามว่า ระหว่างการปฏิรูปแล้วเลือกตั้ง ใช้เวลานาน กับเลือกตั้งแล้วไม่จบ รัฐบาลจะเลือกทางใด น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าเลือกตั้งก่อนแล้วปฏิรูป แต่อยากเห็นการปฏิรูปทันที ถ้าทำได้เสร็จก่อนเลือกตั้งตัวเองไม่ติดขัด แต่เนื่องด้วยมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ จึงเสนอว่าถ้าสามารถตกผลึกทางความคิดได้ ก็ควรตั้งสภาปฏิรูปก่อน ส่วนจะเสร็จเมื่อไรค่อยว่ากันไป แต่ถ้าไม่เดินเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง คำถามคือ จะอยู่กันอย่างไร รัฐบาลจะบริหารประเทศอย่างไร เพราะแค่จะเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ยังไม่สามารถบริหารประเทศ เศรษฐกิจ สังคม ได้เลย รัฐบาลได้แค่ติดตามงานเก่า เนื่องจาก มีข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่ปฏิเสธ ความร่วมมือ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำงานเพียงคนเดียวได้ ดังนั้น รัฐบาลพร้อมทำงานกับทุกภาคส่วน

ยันไม่ได้อ้างเลื่อน2ก.พ.ไม่ได้

เมื่อถามว่า นายกฯเคยระบุว่าหลังวันที่ 10 มกราคม จะตั้งสภาปฏิรูปได้ แต่ถึงวันนี้ท่าทางจะไม่สำเร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เป็นเพียงตุ๊กตาตั้งขึ้นเพื่อให้เห็นว่าถ้าสามารถทำได้ก็จะมีการเดินหน้าต่อไป แต่เมื่อยังไม่ตกผลึกจะตั้งสภาปฏิรูปอย่างไร คงไม่สามารถเดินโดยไม่ฟังเสียงใครไม่ได้ แต่สำหรับการเลือกตั้งต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี สงบ และใช้กติกาที่มีอยู่ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกันรักษาประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า นายกฯยืนยันหรือไม่ ว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งแม้จะเกิดเดดล็อกไม่สามารถเปิดสภาได้ แล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขออนุญาตแก้คำ ยืนยันเดินหน้าเลือกตั้ง ถือเป็นหน้าที่ที่จะทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน ถ้าติดขัดอะไรก็ต้องมาคุยกัน และอยากขอร้องทุกฝ่ายที่มีหน้าที่ ให้พยายามอย่างเต็มที่ มาช่วยกันแก้ปัญหา “ดิฉันไม่สามารถใช้คำว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. รัฐบาลมีหน้าที่ในการประสานงานและให้ความร่วมมือกับกกต. จะโยนให้รัฐบาลฝ่ายเดียวคงลำบาก รัฐบาลยินดีให้ความร่วมมือถ้าอยู่ภายใต้ที่กฎหมายกำหนด หรือกฎหมายที่เราทำได้ ส่วนกรณีที่ สตง.เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งนั้นก็ขอให้ผู้ที่มีความรู้มาช่วยแนะนำวิธีการ” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

ธงทองรับออกพ.ร.ก.ยาก

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่การปฏิรูปหรือสภาปฏิรูปนั้น เคยสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตั้งตุ๊กตาว่า จะออกเป็นพระราชกำหนดได้หรือไม่ มีคำตอบว่าน่าจะมีข้อจำกัดขัดข้อง เพราะเงื่อนไขการออกพระราชกำหนดจะต้องเป็นภาวะเร่งด่วนและฉุกเฉิน ที่สำคัญกระบวนการการออก พ.ร.ก.นั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาและวุฒิสภา แต่วันนี้ยังไม่มี ความเห็นของเลขาธิการกฤษฎีกา เกรงว่าหากมีการออก พ.ร.ก.จริงก็อาจมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็เดินต่อไปไม่ได้ แต่ที่ นายกฯเสนอให้ออกเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ เป็นอำนาจสามารถดำเนินการได้ในฐานะฝ่ายบริหาร และเมื่อมีรัฐบาลและ ครม.ใหม่ และ จะขยับฐานะให้เป็นพระราชบัญญัติอีกทีหนึ่ง ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนข้อเสนอของ 7 องค์กรธุรกิจและเครือข่าย ตรวจสอบแล้วยังไม่ใช่ข้อสรุปของทั้งหมด แต่อาจจะเป็นข้อเสนอของบางคนเท่านั้น

เครือข่าย2เอา2ไม่เอาแถลง

ที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่มีความเห็นต่างขั้วกัน ได้จัดแถลงข่าวและจุดยืนร่วมกันนำโดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจ วานิชย์ รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เนื้อหาระบุว่า ท่ามกลางภาวะวิกฤตการเมืองที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ และการรัฐประหาร รวมทั้งทำลายโอกาสในการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรและบุคคลต่างๆ ที่วิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จึงมีจุดยืนต่อประชาชนทุกฝ่ายดังต่อไปนี้ 1. คัดค้านการรัฐประหาร เป็นการแก้ไขวิกฤตการเมืองด้วยวิถีทางนอกระบบ การรัฐประหารไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างกลุ่มการเมืองและประชาชนฝ่ายต่างๆ ได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระหว่างผู้ก่อรัฐประหารกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองและโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจเยียวยา

หนุนปฏิรูปทันทีพร้อมเลือกตั้ง

2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ คัดค้านการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะมาจากประชาชน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ขอยืนยันว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติ เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ที่ไม่ควรถูกคุกคามด้วยความรุนแรงและบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุขของสังคม จะต้องเป็นไปตามหลักสากล ไม่กระทำเกินกว่าเหตุ และระมัดระวังอย่างถึงที่สุด ไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน

3. เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถละเมิดได้ และต้องดำเนินไปตามกรอบรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

4. สนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สามารถดำเนินการได้ทันทีควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง การปฏิรูปโดยมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับคนบางกลุ่มไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างแท้จริง การปฏิรูปจึงต้องอยู่บนวิถีทางประชาธิปไตย พวกเราเห็นว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงและให้สัญญาประชาคมที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยไม่กีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เคารพในความแตกต่างหลากหลาย สร้างกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีกลไกตรวจสอบติดตามเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประชาชน และลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ภาวะเผด็จการเสียงข้างมากและเผด็จการเสียงข้างน้อย

ทั้งนี้ เครือข่ายจะดำเนินการจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย (Civil Reform Forum) เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป (อ่านรายละเอียดเพิ่ม น.2)

ทปอ.แถลงย้ำเปลี่ยนตัวนายกฯ

ที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ. ว่าที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง และขอให้หันหน้ามาหารือกัน ทปอ.ยืนยันข้อเสนอที่ขอให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และให้ปฏิรูปประเทศในทุกมิติโดยองค์กรที่เป็น กลางจากทุกภาคส่วน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย พร้อมทั้งเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคให้สัตยาบันแสดงเจตนารมณ์จะดำเนินการปฏิรูปประเทศ ขณะเดียวกันการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ จะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของประเทศยิ่งขึ้น จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาทบทวนกติกา และการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งการเลือกตั้งที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ทปอ.ยังยืน หลักการจะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ

“สำหรับข้อเรียกร้องให้มีรัฐบาลรักษาการเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็คงต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ส่วนการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เป็นแนวทางหนึ่งที่ กกต.ควรจะนำไปพิจารณา” นพ.รัชตะกล่าว

อั้มร่วมมธ.จัดเลือกตั้งจำลอง

ที่อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ หรือ (SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ได้มีกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีประชาธิปไตย (LLTD) จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยได้จัดจำลองคูหาเลือกตั้ง จำลองการเลือกตั้ง และให้นักศึกษาในกลุ่มดังกล่าว และ/หรือนักศึกษาที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กลุ่มนี้ได้จัดทำบัตรเลือกตั้งจำลอง โดยในบัตรนั้นจะมีหมายเลขบัตร และจะมีใบหน้าบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อาทิ แกนนำ และนักวิชาการ กลุ่ม กปปส. นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ให้นักศึกษาต้องการเลือกก่อนจะนำไปหย่อนลงในหีบการเลือกตั้ง

นายศรัยณ์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมนี้ ตนเป็นนักศึกษาที่ชอบและติดตามการเมือง เมื่อทราบข่าวก็สนใจจึงได้มาเข้าร่วม เป็นกิจกรรมที่ดีเพื่อจะรณรงค์ให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง อันเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

พอกันทีชุมนุมหนุนเลือกตั้ง

นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำกลุ่มพอกันที กล่าวว่า ทางกลุ่มก็ได้จัดกิจกรรมจุดเทียนร่วมกัน เพื่อแสดงจุดยืนการเป็นขั้วที่ 3 บริเวณลานพระรูป 2 รัชกาล ในจุฬาฯ เพราะไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมีการรวมตัวกันจากการติดต่อสื่อสารผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลังจากนั้นบางส่วนได้ไปร่วมกิจกรรมจุดเทียนที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ ต่อไป

ผู้สื่อรายงานจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ แยกปทุมวัน ว่า เมื่อเวลา 17.30 น. กลุ่มพอกันที ได้นัดเจอกันที่ลานด้านหน้าเพื่อร่วมทำกิจกรรมต่อต้านความรุนแรง ต่อต้านรัฐประหารทุกรูปแบบรวมทั้งสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยประชาชนได้รับการชักชวนผ่านเฟซบุ๊ก และกลุ่มนักศึกษา เช่น กลุ่มประชาคมจุฬา ภายหลังจากร่วมจุดเทียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากจนเต็มหน้าลานหอศิลป์ รวมทั้งบริเวณสี่แยกปทุมวันและบนบันไดสะพานลอย รวมทั้งบนสกายวอล์กเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติไปยังห้างเอ็มบีเค และห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ การชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อยไม่มีการปิดการจราจร ระหว่างการชุมนุมผู้ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันตะโกนคำว่าเลือกตั้ง และคำว่าพอกันทีความรุนแรงเป็นระยะๆ รวมทั้งได้มีการชูป้าย Respect My Vote สร้างความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวในย่านนั้นเข้ามาถ่ายรูป

น.ศ.ร่วมจุดเทียนต้านรุนแรง

จากนั้นในเวลา 18.30 น. แกนนำกลุ่มได้แถลงข่าวในที่ชุมนุมว่า การร่วมชุมนุมครั้งนี้เพื่อส่งสัญญาณว่าจะไม่ยอมให้เกิดความรุนแรง จะไม่ยอมให้ยึดอำนาจในทุกรูปแบบ หลังจากนี้ขอให้จุดเทียนต่อต้านความรุนแรง สนับสนุนการเลือกตั้งในพื้นที่ของตนหรือในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการรัฐประหารและต้องการการเลือกตั้ง จากนั้นในเวลา 19.00 น. ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ร่วมกันจุดเทียนประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านความรุนแรงและสนับสนุนการเลือกตั้ง พร้อมกับยืนสงบนิ่ง 1 นาที ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมือง มีการอ่านบทกวีรวมทั้งเปิดเพลงอิมเมจิ้นของจอห์น เลนอน และได้สลายตัวเมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. โดยการชุมนุมครั้งนี้มีชายหนุ่มที่เคยชูป้าย Respec My Vote ใส่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมชุมนุมด้วย

เช่นเดียวกับที่ จ.ชลบุรี นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี พร้อมด้วยกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และกลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา จัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติ โดยมีนิสิตและผู้ปกครองมาร่วมงาน รวมทั้งที่บริเวณสวนข้างคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษา ม.ขอนแก่น และสมาชิกในกลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น และประชาชนร่วมจัดกิจกรรม “จุดเทียน เขียนสันติภาพ เพื่อต่อต้านความรุนแรง” เดินหน้าเลือกตั้ง โดยมีนิสิต นักศึกษา คณะครูอาจารย์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมจำนวนมาก

อจ.มธ.ระบุพลังที่3ปรอทแตก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว เนื้อหาบางส่วนระบุว่า กระแสคนเสื้อขาวเอาเลือกตั้งว่า โหมขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ กิจกรรมจุดเทียนกำลังแพร่ไปทั่วประเทศเร็วมาก เพราะโดนใจคนจำนวนมากที่ไม่เอาม็อบเทือก แต่เอาสันติและเลือกตั้ง คนพวกนี้แต่เดิมไม่รู้จะไปแสดงออกที่ไหนเพราะเขาก็ไม่ใช่เสื้อแดง ในที่สุดก็ก่อกระแสของตัวเองขึ้นมาเป็นพลังที่สาม นี่เป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง คนพวกนี้มีหลากหลาย ส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจการเมืองอะไรมากนัก แต่ก็ไม่ชอบความรุนแรง ไม่ชอบการชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น (หลายคนจึงไม่ชอบการชุมนุมของเสื้อแดงด้วย) อยากให้บ้านเมืองสงบ พัฒนา มีกติกา ว่าไปตามครรลองของระบบเลือกตั้ง พวกเขาหวงสิทธิเลือกตั้งของตัวเองและอยากไปเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ พวกเขาอยากได้แค่นี้

“คนพวกนี้จึงรับไม่ได้กับม็อบเทือก เขารู้สึกว่ากำลังจะถูกปล้นสิทธิของเขาไป คนเหล่านี้ปกติจะไม่แสดงออก ยิ่งไม่มีทางไปชุมนุมกับใครที่ไหนเด็ดขาด แต่พวกเขาออกมาคราวนี้เพราะปรอทแตกแล้ว ความรู้สึกต้องสุดสุด สำหรับพวกเขาจึงได้ออกมาขนาดนี้ได้” นายพิชิตระบุ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 มกราคม 2557 ในชื่อ “เปิดตัวอีกเครือข่ายใหญ่ชู’เลือกตั้ง’ คนดังอื้อ2เอา-2ไม่เอา’ขั้วที่3-พอกันที’คึกคัก”