ทีดีอาร์ไอหวั่นชุมนุมยืดเยื้อฉุดความเชื่อมั่นประเมินระยะสั้นไม่กระทบพาณิชย์สั่งชี้แจงสถานการณ์ประเทศคู่ค้ารับส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากขนส่งล่าช้าขณะตลาดเงินทุนยังเปิดบริการตามปกติแบงก์ปิดบริการแล้วสาขาส่วนตลาดหุ้นชี้มีแผนรับมือเกินเดือน
ความกังวลผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองมีมากขึ้นแม้จะประเมินว่าในระยะสั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแต่หากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกระทบต่อการค้าการลงทุนรวมถึงการบริโภค
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดได้ชัดเจนแต่เห็นทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัวโดยดูได้จากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของหลายหน่วยงาน
“ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่งซึ่งก็ต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นกำลังใจที่บอกว่ายังมีคนที่มองเห็นว่าสถานการณ์ต่างๆจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่ามีความเป็นห่วงการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคของประชาชนมากเนื่องจากทั้งสองส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นเป็นหลักหากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อและมีความรุนแรงก็จะกระทบความเชื่อมั่นและทำให้การลงทุนและการบริโภคลดน้อยลงนายกิตติรัตน์ยอมรับว่าการลงทุนภาครัฐมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ก็เร่งเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
สศค.หวั่นการเมืองเยื้อฉุดจีดีพีต่ำ 3%
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์การเมืองจะพัฒนาการเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่กังวล คือความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจน อาจส่งผลกระทบให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 3% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่าจะเติบโต 4% ภายใต้สมมติฐานมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.2557
“เป็นห่วงปัญหาการเมืองจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ จากเดิมที่ปัจจุบันที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินการอนุมัติโครงการลงทุนใดๆ อีกทั้งโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนมีปัญหา และหากปัญหาการเมืองยืดเยื้อออกไปนานๆ เกรงว่า จะฉุดกำลังการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้เกิดการปิดกิจการของผู้ประกอบการ ขณะที่ภาคการลงทุน ที่แม้นักลงทุนต่างประเทศจะยังไม่ถอนการลงทุนออกไป แต่ก็ยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพราะยังรอดูสถานการณ์ทางการเมือง” นายสมชัย กล่าว
ทีดีอาร์ไอ รับปิดกรุงเยื้อกระทบศก.
เช่นเดียวกับ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. นั้นยังคงประเมินยากว่าจะจบอย่างไร ซึ่งถ้าการชุมนุมยืดเยื้อยาวนานก็คงมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ยิ่งยืดเยื้อก็ยิ่งกระทบมาก และยิ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นด้วยแล้ว ผลกระทบยิ่งมีมากจนไม่สามารถประเมินได้ เพราะจะทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น
“ยิ่งยาวยิ่งกระทบมาก แม้จะมีบางส่วนที่พอปรับตัวได้บ้าง แต่ผลกระทบคงมี อย่างไรก็ตามที่ผมกลัวสุด คือ กลัวความรุนแรงจนถึงขั้นฆ่ากันจนถึงแก่ชีวิต เพราะถ้าเหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดนั้นและยังบานปลายออกไป ผลกระทบทางเศรษฐกิจคงไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต่างชาติจะขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน และเขาก็จับตาดูเราในเรื่องนี้อยู่” นายสมชัย กล่าว
หากสถานการณ์จบลงได้โดยเร็วน่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าที่จบเร็ว เกิดจากสาเหตุใด ถ้าจบเพราะมีการทำรัฐประหาร กรณีนี้เชื่อว่าคงไม่จบจริง เพราะฝ่ายที่ต่อต้านการรัฐประหารก็คงรวมตัวกันประท้วงขึ้นมาอีก ถึงตอนนั้นก็ยังต้องมาดูว่าฝ่ายที่ประท้วงจะมีคนออกมาสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน
สั่งทูตพาณิชย์แจงลูกค้า-รับส่งออกกระทบ
ด้านนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก หรือ ทูตพาณิชย์ ชี้แจงสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองในไทยเป็นระยะให้กับรัฐบาลและลูกค้าในต่างประเทศที่ประจำดูแลได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
นายศรีรัตน์ ยอมรับว่าตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยในภาพรวมได้รับผลกระทบจากการชุมนุมหลายพื้นที่ ซึ่งมีการปิดถนนและหน่วยงานราชการหลายแห่ง ทำให้การขนส่งและการใช้บริการด้านการส่งออกและนำเข้าทำได้ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งอยากวิงวอนให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว เพราะจะกระทบทั้งการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
“ตอนนี้ยังประเมินตัวเลขเสียหายไม่ได้ แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อ การส่งออกไทยได้รับผลกระทบแน่นอน โดยตัวเลขการส่งออกในปีนี้นั้น ก็ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 5% ไว้ก่อน หลังจากเหตุการณ์การเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะมีการประเมินตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง”
นางศรีรัตน์ กล่าวว่ากลุ่มที่น่าห่วงมากสุดในขณะนี้ คือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองอย่างแน่นอน และหากจะยืดเยื้อคาดว่าเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากสุด เพราะไม่มีกำลังคนและทุนเพียงพอที่จะแบกรักสถานการณ์ที่ยืดเยื้อนี้ได้ ซึ่งจะเร่งทำแผนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งการค้าขายในประเทศและภาคการส่งออก
หอการค้าญี่ปุ่นหวั่นยืดเยื้ออาจชะลอลงทุน
ด้านนายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะรองประธานหอการค้าญี่ปุ่น กังวลสถานการณ์การเมืองที่ยังวุ่นวายและยืดเยื้อนั้น อาจจะทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นชะลอลงทุนในไทย
“ยืนยันในฐานะรองประธานหอการค้าญี่ปุ่นเรามีการปรึกษาหารือกันและ ตัดสินว่าถ้ายังยาวนานคิดว่ามีผลกระทบกับธุรกิจของคนญี่ปุ่น ถ้ายังยาวไปถึงในอนาคต อาจทำให้ธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่จะมาลงทุนชะลอออกไป” นายทานาดะ กล่าว
นายทานาดะ กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์การเมืองไทยมีความยืดเยื้อ ก็อาจจะมีผลกระทบกับไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ก็ได้มีการแก้ปัญหาอย่างน่าชื่นชม ทั้งรัฐบาล ราชการ และ ประชาชน ได้ร่วมใจกันแก้ปัญหา
“เมื่อมีผลกระทบทางการเมืองก็น่าเสียดาย แต่ผมก็ยังรักคนไทย รักประเทศไทย ก็เสียดายนิดหน่อยที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา”
ด้านนายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในไทยที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงตามแผนปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯนั้น ทางโตโยต้าฯได้มีการย้ายพนักงานที่สำนักงานขายที่ถนนวิทยุ จำนวน 150 คน ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ ที่สำโรง เพื่อให้การติดต่อกับดีลเลอร์และการส่งมอบรถเป็นไปอย่างราบรื่น
ขณะที่การขนย้ายรถยนต์เพื่อส่งมอบให้ดีลเลอร์ทั่วประเทศ ยังไม่มีผลกระทบเนื่องจากใช้การขนส่งรอบนอกกรุงเทพฯ
ตลาดหุ้นมั่นใจรับมือนานกว่า1เดือน
นายบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ ได้ตัดสินใจสั่งการปิดรั้วหน้าที่ทำการตลาดหลักทรัพย์ หลังจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการชุมนุมในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังคงให้บริการนักลงทุนอยู่ โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ได้ตัดสินใจ ใช้แผนบริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Business Continuity Plans :BCP) เพื่อให้การซื้อขายดำเนินการได้ตามปกติ
“ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินงานในแผนบริหารงานในภาวการณ์ฉุกเฉิน มาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่ทำงานไม่ถึง 100 คน ”
นายบดินทร์ กล่าวว่า แผนการรับมือผู้ชุมนุมหากมีการเคลื่อนขบวนมายังตลาดหลักทรัพย์นั้น ตลาดหลักทรัพย์ จะเน้นการเจรจาเป็นหลัก ซึ่งผู้ชุมนุมแสดงออกว่า การชุมนุมจะยึดสันติ อหิงสาส่วนการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะเป็นตัวเลือกสุดท้าย หากสถานการณ์มีความรุนแรงถึงขั้นบุกเข้าทำลายสิ่งของในที่ทำการตลาดหลักทรัพย์
“ตลาดจะประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวันในการรับมือ แต่จะใช้แผนบริหารงานในภาวะฉุกเฉินต่อเนื่อง ซึ่งแผนดังกล่าว สามารถรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ หากมีความยืดเยื้อของสถานการณ์ยาวนานกว่า 1 เดือน”
ธปท.ชี้ตลาดเงินยังเปิดปกติ
ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าภาวะตลาดการเงินโดยรวมยังเป็นปกติ อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินและตลาดพันธบัตรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่เงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้พบว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่ สามารถให้บริการเต็มรูปแบบได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม วานนี้ (14 ม.ค.) ณ เวลา 15.30 น. มีสาขาของสถาบันการเงินในบางพื้นที่ ที่จำเป็นต้องปิดทำการทั้งวันรวม 31 แห่ง ปิดทำการก่อนเวลา101 แห่ง รวม 132 แห่ง ขณะที่ระบบการชำระเงินสามารถดำเนินการได้ต่อไป
นางรุ่ง กล่าวว่า ธปท.จะปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติงานสำรองต่อไปจนถึงวันที่ 17 ม.ค.2557 และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 มกราคม 2557 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอหวั่นชุมนุมยืดเยื้อฉุดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ”