ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น จากหลายปัจจัยทั้งการส่งออก การบริโภคในประเทศ การลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล นักเศรษฐศาสตร์มหภาคคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาสแรก และอาจจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นช่วงไตรมาส 2,3 และ 4 หากการเมืองจบเร็วก็จะไม่มีผลกระทบมากนัก
เนื่องจากไทยยังมีอัตราการว่างงานต่ำ และจากโครงสร้างตลาดแรงงานที่ใช้แรงงานระดับล่างมีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลักอยู่แล้ว การผันผวนตลาดแรงงานจะถูกดูดซับแรงงานระดับล่างที่ว่างงานในระดับนี้ได้ ส่วนแรงงานระดับกลางช่างเทคนิคยังผลิตไม่เพียงพอ ปัญหาขาดแคลนเชิงปริมาณน่าจะลดลงแต่ปัญหาด้านคุณภาพคงยังไม่หมดไป ระดับป.ตรีมีมากเกินความต้องการของตลาดจึงมีการว่างงานสะสมต่อเนื่อง โดยภาพรวมปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับล่างจะดีขึ้นแต่การว่างงานของแรงงานระดับบนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
โดยมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้จีดีพีจะเติบโตได้เพียง 3-4% โดยหลักการแล้ว หากจีดีพีโตต่ำกว่า 4% อาจส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1% จากเดิมที่มีประมาณ 0.7-0.8% เท่านั้น ดังนั้น หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ไปอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลกระทบของภาคแรงงานจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตที่อ่อนไหว คือ อุตสาหกรรมและภาคบริการที่เป็นแหล่งดูซับแรงงานแบบเข้มข้นหลายสาขาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรับจ้างนำชิ้นส่วนมาประกอบจะถูกกระทบมาก
ดร.ยงยุทธกล่าวว่า ปัญหาที่น่าวิตกและคาดว่าจะปรากฏชัดในครึ่งหลังของปี 2557 และปีถัดไป คือผลกระทบจากปัจจัยการเมืองที่จะทำให้นักลงทุนชะลอหรือตัดสินใจไม่ลงทุนใหม่ หรือย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นหรือย้ายฐานการผลิตเร็วขึ้น จะมีผลกระทบกับแรงงานมากพอสมควร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรองรับแรงงานมากกว่า 3-4 แสนคน
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะไม่มีผลกระทบมากนักเนื่องจากมีเครือข่ายหรือฐานการผลิตในหลายประเทศและสามารถใช้เครือข่ายทางการตลาดส่งสินค้าไปยังที่ที่มีความต้องการผลผลิตอยู่ ดังนั้นผลกระทบโดยภาพรวมอาจจะไม่ย่ำแย่อย่างที่คิดกล่าวคือวิกฤตของอุตสาหกรรมหนึ่งแต่จะเป็นผลดีกับอีกอุตสาหกรรมหนึ่งเนื่องจากแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่ายจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ยังมีความต้องการแรงงานอยู่มาก
ในส่วนภาคบริการซึ่งดูดซับแรงงานได้หลายสาขา แต่เป็นภาคที่มีความอ่อนไหวมากกับสถานการณ์ความมั่นคงของรัฐบาล จึงถูกกระทบเร็วและหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อผลกระทบก็ยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ และกระทบต่อแรงงานกลุ่มภาคบริการ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงอาชีพที่อยู่นอกระบบ ที่มักมาหารายได้เสริมจากงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น การค้าขายต่างๆ สปา นวดแผนไทย ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะการเคลื่อนย้ายมาทำงานตามฤดูกาลเพื่อเป็นรายได้เสริม
สำหรับสถานการณ์แรงงานปี 2557 โดยภาพรวมจากโครงสร้างการจ้างงานยังคงมีทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการว่างงานไม่แตกต่างจากปีที่เพิ่งผ่านมา โดยผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองจะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีต้องปรับตัวมากขึ้นและเร็วขึ้น ชะลอการจ้างงานใหม่ จำกัดการจ้างงานใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น กลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีที่มีปัญหาว่างงานสะสมมาต่อเนื่องทุกปี
อย่างไรก็ตาม ในตลาดแรงงานที่มีความผันผวนสูงและต้องการคนที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อเช่นนี้ ผู้ที่ทำงานอยู่ แรงงานรุ่นเก่า อาจจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความผวนผวนนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ความเสี่ยงต่อการสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ ขณะที่แรงงานจบใหม่ก็ต้องเตรียมความพร้อมรับมือด้วยการหาความรู้เพิ่มรอเวลาที่ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวไปก่อน หรือถ้าคอยไม่ไหวก็คงต้องผันตัวเองไปสู่อาชีพอิสระมากขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก: มติชนออนไลน์ วันที่ 30 มกราคม 2557 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอเตือนแรงงานรับมือผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจ-วิกฤตการเมืองยืดเยื้อ”