สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
เพิ่งผ่านสงกรานต์และวันผู้สูงอายุไป 2 สัปดาห์คงยังไม่สายที่จะเขียนอะไรเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานผู้สูงอายุ
ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้หันมาให้ความสนใจผู้สูงอายุมากขึ้นในระดับประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีสัดส่วนและจำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้น ถ้านับว่าผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ตามพ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546) จำนวนผู้สูงอายุได้เพิ่มจากประมาณ 4 ล้านคนในปี 2533 เป็น ประมาณ 7.5 ล้านคนในปี 2553 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 11.7 ของจำนวนประชากร 63.9 ล้านคน ตามตัวเลขของกรมการปกครอง
สงกรานต์และวันผู้สูงอายุที่ผ่านไปที่ผู้คนหลั่งไหลกลับบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมเยือนบิดามารดาและผู้อาวุโสที่ทำกันเป็นประจำทุกปีแสดงให้เห็นว่าคนไทยยังมีความรักและห่วงใยผู้สูงอายุอยู่เสมอมา
ที่จริง งานด้านการพัฒนาและสวัสดิการผู้สูงอายุของไทยทำกันมานานแล้ว อย่างบ้านบางแคก็มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2594 หรือ 60 ปีมาแล้ว หรือการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติก็ประกาศมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2525 โน่น แต่ก็ดูเหมือนว่างานด้านนี้ยังไม่ไปถึงไหน
ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการไปจนถึงรายได้และการทำงานของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ก็ยังงั้นๆ
เรื่องอื่นขอข้ามไป วันนี้เอาเรื่องแรงงานผู้สูงอายุมาเล่าให้ฟังก่อน
ปัจจุบันผู้สูงอายุของไทยยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2545 ประมาณ ผู้สูงอายุร้อยละ 38 มีรายได้มาจากการทำงาน และจากผลการสำรวจในปี 2550 สัดส่วนนี้ก็ยังเท่าเดิม ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุมาจากลูกๆที่แต่งงานไปแล้ว คือมีผู้สูงอายุร้อยละ 60.2 ได้รายได้จากลูกสาวที่แต่งงานแล้ว และ ร้อยละ 53.1 ได้จากลูกชายที่แต่งงานแล้ว ผู้เขียนเดาเอาว่าพวกนั้นก็คงเอาลูกมาฝากตาฝากยายเลี้ยง ดังนั้นเงินที่ได้มาจะว่าเป็นรายได้ของผู้สูงอายุทั้งหมดก็คงไม่ใช่
จากข้อมูลสภาพัฒน์ในปี 2552 จำนวนผู้สูงอายุประมาณ 7.7 ล้านคน จะอยู่ในชนบทประมาณ 5.4 ล้านคน หรือร้อยละ 70 และจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดดังกล่าวจะเป็นผู้ที่ยังทำงานหรือต้องการทำงาน 3.2 ล้านคน โดยอยู่ในชนบท 2.44 ล้านคน (ร้อยละ 77) และ 0.7 ล้านอยู่ในเมือง (ร้อยละ 23)
อัตราการอยู่ในแรงงานของผู้สูงอายุในชนบทประมาณ ร้อยละ 45.4 ซึ่งสูงกว่าอัตราการอยู่ในแรงงานของผู้สูงอายุในเมืองซึ่งเท่ากับร้อยละ 31 ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะลักษณะการทำงานในชนบทไม่เป็นระบบ ไม่มีเวลาเข้าออกงาน หรือกำหนดการเกษียณที่ตายตัว และมีอิสระกว่าการทำงานในเมือง
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานอะไร
ร้อยละ 63 ทำงานเกษตรกรรม ร้อยละ 14 ทำการค้า ร้อยละ 12 ทำงานภาคบริการ ร้อยละ 9 ทำงานภาคอุตสาหกรรมการผลิต
รูปแบบของการทำงานของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ทำงานส่วนตัว (ร้อยะละ 62) หรือช่วยงานในครอบครัว (ร้อยละ 20) ที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างมีร้อยละ 12 และเป็นนายจ้างร้อยละ 4
ถ้าแบ่งอีกอย่าง พบว่าแรงงานผู้สูงอายุอยู่นอกระบบถึงร้อยละ 91 โดยเป็นแรงงานในระบบเพียง 252,658 คน
แรงงานผู้สูงส่วนใหญ่อายุ 60-69 ปี โดยอัตราการอยู่ในแรงงานของผู้สูงอายุจะลดลงตามลำดับเมื่ออายุสูงขึ้น โดยมีอัตราร้อยละ 62.5 สำหรับผู้มีอายุ 60-64 ร้อยละ 48.4 สำหรับผู้มีอายุ 65-69 ร้อยละ 31.7 สำหรับผู้มีอายุ 70-74 ร้อยละ 19.4 สำหรับผู้มีอายุ 75-79 และ ร้อยละ 6.5 สำหรับผู้มีอายุ80 ปีขึ้นไป
อายุเกษียณเป็นเรื่องของการทำงานในระบบเท่านั้น โดยราชการโดยทั่วไปจะเกษียณอายุที่ 60 ปี ยกเว้นในบางอาชีพเช่น อาจารย์ ผู้พิพากษา หรืออัยการ เป็นต้น ส่วนในการจ้างงานเอกชนส่วนใหญ่จะเกษียณอายุที่ 55 ปี แต่อาจมีการต่ออายุหรือโยกย้ายตำแหน่งให้สามารถทำงานได้นานขึ้น
สำหรับแรงงานโดยทั่วไป พบว่ามีอายุเกษียณที่ต่างกันระหว่างอุตสาหกรรม บริการและเกษตรกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมจะไม่ค่อยจ้างผู้สูงอายุหรือเลิกจ้างเร็วกว่า ภาคบริการซึ่งรองลงมา สำหรับภาคเกษตรเป็นภาคที่มีอายุเฉลี่ยคนทำงานสูงกว่าภาคอื่นเนื่องจากไม่มีการเกษียณอายุที่เป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่อยู่ต่างอุตสาหกรรมมีชั่วโมงทำงานที่ต่างกัน ซึ่งโดยภาพรวมผู้สูงอายุมีชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ยประมาณ 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมมีชั่วโมงทำงานน้อยกว่าผู้ที่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม (ในภาคเกษตรกรรม 37 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และนอกภาคเกษตรกรรม 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงวัยและลักษณะธุรกิจด้วย
ทำไมผู้สูงอายุยังต้องทำงาน
เหตุผลที่ทำงานของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51.3) คือเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว รองลงมาคือทำงานเพราะยังมีสุขภาพแข็งแรง (ร้อยละ 36.7)
การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติมีการสอบถามความต้องการทำงานของผู้สูงอายุ พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุวัยต้น (60-69ปี)ต้องการทำงาน ร้อยละ 23.1 ของผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) ต้องการทำงานและ ยังมีร้อยละ 8.9ของผู้สูงอายุวัยปลาย (80ปี) ขึ้นไปที่ต้องการทำงาน
ถ้าพิจารณาข้อมูลนี้ประกอบกับเหตุผลที่ทำงานจะเห็นได้ว่าเรื่องหลักประกันในเรื่องรายได้และที่ใจยังสู้เพราะสุขภาพยังดี ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาหาทางกันต่อไปว่าจะรักษาปูชนียบุคคลของเราอย่างไรกันต่อไป
แต่ดูเหมือนว่าโจทย์เกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งไว้และกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้คือลักษณะงานที่จะให้ผู้สูงอายุทำกับการขยายอายุเกษียณ(ของทางราชการ)
สำหรับประการแรกมีการศึกษาโดยคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมกับกระทรวงแรงงานซึ่งได้แบ่งเป็นประเภทงานที่ไม่ต้องกังวลเรื่องสุขภาพ (28 งาน) กับที่ต้องระวังเรื่องสุขภาพ (29งาน) ตัวอย่างประเภทแรก เช่น การสอนหนังสือ ประชาสัมพันธ์ แปลและล่าม นวด จัดซื้อ สมุห์บัญชี กรีดยาง สัปเหร่อ ฯลฯ และประเภทที่สองเช่น หัวหน้าบุคลากร วิจัยสังคมศาสตร์ สถาปนิก สอนหนังสือ สื่อข่าว ซื้อขายหลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเท่าที่ดูยังมีความจำกัดอยู่กับการจ้างงานในระบบหรือใช้ความรู้ และรูปแบบการทำงานที่ยังน่าสงสัยว่าจะเหมาะสำหรับผู้สูงอายุวัยไหน (60-69, 70-79, 80+) ที่ทำได้ ขณะที่การศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.3) ต้องการทำงานเบาๆ รองลงมาคือทำงานที่ยืดหยุ่น (ร้อยละ 25.5) และ การทำงานที่มีเวลาส่วนตัวหรือสามารถดูแลครอบครัวได้ด้วย (ร้อยละ 21.4)
สำหรับเรื่องการขยายอายุเกษียณก็ยังมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยและยังทำอยู่ในวงจำกัดเฉพาะบางอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการ เนื่องจากยังมีผลกระทบทางอ้อมเรื่องการยืดเวลาการได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ การจำกัดในตำแหน่งระดับสูงหรือระดับอาวุโส และที่สำคัญยังไม่เกิดประโยชน์กับแรงงานผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้เต็มที่ จากที่ผู้เขียนได้ศึกษารูปแบบในประเทศ OECD พบว่า ที่จริงแล้วอายุเกษียณจะมีอายุเกษียณที่ประกาศเป็นทางการกับที่ปฏิบัติกันจริงๆและพบว่าทั้งสองอย่างนี้ไม่เคยตรงกันเลย บางประเทศอายุเกษียณที่ประกาศสูงกว่าอายุที่เกษียณกันจริงๆ มี 17 ประเทศ (เช่น นอรเวย์ เดนมาร์ก เยอรมัน เนเธอร์แลนด์) ในขณะที่อายุที่เกษียณจริงสูงกว่าที่ที่ราชการประกาศ มีอยู่11 ประเทศ (เช่น เม็กซิโก เกาหลี ญี่ปุ่น โปรตุเกส นิวซีแลนด์)
ดังนั้นจึงเห็นว่าถ้าอยากจะมีการขยายอายุเกษียณก็ควรจะทำในวงจำกัดและค่อยเป็นค่อยไป
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน