tdri logo
tdri logo
6 กุมภาพันธ์ 2014
Read in Minutes

Views

บทสัมภาษณ์: “นิพนธ์ พัวพงศกร” ติง “คนเพื่อไทย” กล้าพูดความจริงกับประชาชน

นโยบายรับจำนำข้าวที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนถังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ทำลายระบบการค้าข้าว และทำให้คุณภาพข้าวแย่ลง

หลาย 10 ปีที่ผ่านมา หากพูดถึงเรื่องข้าว นักเศรษฐศาสตร์ที่เกาะติดและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายรับจำนำข้าวมาอย่างต่อเนื่องคือ “ดร.แฝดคู่” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) “ดร.อัมมาร สยามวาลา และ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ ซึ่งจนถึงขณะนี้ทั้งสองท่านก็ยังคงทำหน้าที่และสวมบทบาทนักวิชาการที่ “เกาะติดเรื่องข้าว” อย่างเหนียวแน่น และมีบ่อยครั้งที่บทความหรือการแสดงความคิดเห็นไม่ต้องใจฝ่ายการเมือง

ดังนั้นในโอกาสที่นโยบายรับจำนำข้าวมาถึงจุด “วิกฤติ” รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าว และชาวนาที่เดือนร้อนรวมตัวชุมนุมประท้วงเพราะไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ชาวนาจะต้องทนทุกข์ไปอีกนานแค่ไหน รัฐบาลจะมีทางออกอย่างไร การแก้ปัญหาเกษตรกรทั้งระบบควรเป็นอย่างไร และที่สำคัญ เราจะถอดบทเรียนครั้งนี้อย่างไร สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสัมภาษณ์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ดังนี้

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยพัฒนาประเทศไทย

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ไทยพับลิก้า : มองผลกระทบต่อชาวนาขณะนี้รุนแรงมากแค่ไหน

ชาวนาทุกข์หนัก เพราะรายได้ของเขามาจากการขายข้าวตรงนั้น เวลาเขาขายข้าวทั้งฤดูแล้วไม่ได้เงิน ถ้าเงินขายข้าวหายไปทั้งฤดู ก็เหมือนกับเราทำงานไม่ได้เงินเดือน 3-4 เดือน เราก็แย่เหมือนกัน

สมัยที่ผมรับราชการใหม่ๆ จะไม่ได้เงินเดือน 1 ปี แต่มหาวิทยาลัยเขารู้ เขาให้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ย เพราะมหาวิทยาลัยเขารู้ว่ากว่าจะได้บรรรจุเป็นข้าราชการและได้เงินเดือนนั้นใช้เวลานาน ระบบแบบนี้ทำให้เราอยู่ได้ เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้เรารับราชการเราก็ตาย เพราะกว่าจะบรรจุเราต้องใช้เวลานานตั้งปีหนึ่ง เนื่องจากสมัยก่อนระบบราชการเชื่องช้า พวกเราคุ้นเคยกับระบบนี้ ชาวนาก็เหมือนกัน

นอกจากนี้ ชาวนาไม่มีรายได้ทุกเดือน เขาขายข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง จะไม่ตายได้อย่างไร อย่างมากแม่บ้านอาจมีรายได้นิดๆ หน่อยๆ เพราะบางครอบครัวจะมีพืชสวนเก็บไปขาย เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยเป็นรายได้ต่อวัน เพราะชีวิตชาวนาคนเป็นพ่อจะทำอะไรใหญ่ ได้รายได้ก้อนใหญ่ ส่วนคนเป็นแม่บ้านจะเก็บเล็กผสมน้อย เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ที่รู้เพราะแม่ยายผมเป็นแบบนั้น ภรรยาผมเป็นครอบครัวเกษตรกร แม่ยายเก็บเล็กผสมน้อย มีสวนกล้วย ก็ขายกล้วยทั้งปี และขายใบตองด้วย มีผักสวนครัวก็ขายได้ เมื่อก่อนประทังอยู่ได้เพราะเหตุนี้ แต่สมัยนี้จะมีลูกหลานออกไปทำงานในเมือง แล้วก็ส่งเงินกลับมาให้ หรือตัวเองออกไปรับจ้างก็อีกส่วนหนึ่ง ที่เขาอยู่ได้ก็เพราะส่วนนี้ ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้

ไทยพับลิก้า : บทเรียนที่สำคัญจากการดำเนินนโยบายครั้งนี้คืออะไร

ผมว่าส่วนหนึ่ง ถ้าเรามองโลกในแง่ดี ต้องบอกว่าเป็นโชคดีที่ประเทศไทยมี “พระสยามเทวาธิราช” เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้คือ “ยุบสภา” ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะทำไปเรื่อยๆ เดินหน้าไม่หยุด แล้วที่คุยกับนักการเมืองรุ่นหนุ่มๆ ของพรรคเพื่อไทยเขาก็ไม่เห็นประเด็นนี้ มองไม่เห็นปัญหา เขาพูดอย่างเดียว ทำให้ชาวนารวย

ถ้าสมมติว่าไม่ยุบสภาจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลกู้เงินแน่นอน และถูกกฎหมาย แล้วเขาก็ต้องกู้ได้เพราะรัฐบาลค้ำประกัน ส่วนวงเงิน 5 แสนล้านบาท จบไปแล้ว แล้วจริงๆ ก็มากกว่า 5 แสนล้านบาท คือประมาณเกือบ 6.9 แสนล้านบาท บวกหนี้ที่ยังไม่ได้จ่ายชาวนา 1.25 แสนล้านบาท ก็เกือบ 8 แสนล้านบาท นี่คือเงินที่ใช้ไป แต่ขายข้าวได้เงิน 1.25 แสนล้านบาท นั่นคือยอดหนี้ที่ค้างอยู่ หากถ้าทำต่อ แน่นอนฤดูต่อไปต้องลดราคา แต่ปีหนึ่งจะใช้เงินในการรับจำนำข้าวประมาณ 3 แสนล้านบาท น้อยกว่าเมื่อก่อนที่จะใช้เงินฤดูละประมาณ 3.5-3.6 แสนล้านบาท

ถ้าใช้เงินเพื่อรับจำนำข้าวปีละ 3 แสนล้านบาท และขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้น หนี้เดิมมีอยู่แล้ว แล้วยังขาดทุนใหม่ไปเรื่อยๆ อีก ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อว่า ถ้าไม่ยุบสภา รัฐบาลนี้อยู่ครบวาระ 4 ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เฉพาะการขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท หากขาดทุนสะสม 4 ปี ก็ 8 แสนล้านบาท แล้วขายข้าวไม่ได้ด้วย นี่คิดแบบตรงไปตรงมา ไม่นับข้าวเน่า ข้าวที่เสียหาย ถ้านับเรื่องเสียหายอีกเท่าไรไม่รู้

ทั้งนี้ ตัวเลขขาดทุนปีละ 2 แสนล้าน บวกค่าจัดการ บวกดอกเบี้ยแล้ว แต่ไม่บวกคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้น เหมือนกับว่ามีพระสยามเทวาธิราชจริงๆ ที่มีการยุบสภา แล้วทำให้รู้ว่ากู้เงินไม่ได้ แล้วทำให้ชาวนาเริ่มรู้ตัว และชาวนาพูดว่า เขาไม่ได้เป็นคนขอให้รับจำนำในราคา 15,000 บาท แต่รัฐบาลบอกเขาเอง และวันนี้รัฐบาลเบี้ยวเขา

เพราะว่ารัฐบาลคิดอยู่อย่างเดียว จะกู้เงินมาจ่าย ซึ่งรัฐบาลที่คิดอย่างนี้มันเป็นรัฐบาล “สิ้นคิด” โดยสิ้นเชิง ที่จริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมก็พูดในบทความว่า ต้องขอบคุณกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีคลัง ที่ก่อนยุบสภายืนกระต่ายขาเดียวว่ากรอบการรับจำนำข้าวอยู่ภายใต้วงเงิน 5 แสนล้านบาท ถ้าเขาไม่ยืนตัวนี้รัฐบาลก็กู้ได้ ดังนั้น ผลจากมติ ครม. วันที่ 3 ก.ย. 2556 เขายืนกระต่ายขาเดียวว่าต้องอยู่ในวง 5 แสนล้านบาท

ตอนนี้ทำให้คนพูดเรื่องนี้ทั้งประเทศว่าจำนำข้าวไม่ดี แต่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยยังพูดว่ามันยังดี ผมจะต้องเขียนบทความชุดต่อไปเพื่อให้นักการเมืองพรรคเพื่อไทยเริ่มตาสว่าง ผมว่านักการเมืองพรรคเพื่อไทยควรจะตาสว่างแล้ว เพราะคอร์รัปชันครั้งนี้ไม่ใช่คอรัปชันเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นเพราะโรงสี เพราะชาวนา เพราะเจ้าของโกดัง แต่เป็นคอร์รัปชันระดับนโยบาย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นคนใหญ่คนโตทั้งนั้น

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ถ้านักการเมืองพรรคเพื่อไทยไม่รับเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว ถ้าอย่างนั้น อนาคตการเมืองไทยก็จะไม่มี ผมเชื่อว่านักการเมืองพรรคเพื่อไทยบางคนเข้าใจ แต่ว่าไม่กล้า ผมเชื่อว่าถึงวันหนึ่งถ้านักการเมืองคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติจริงๆ นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นคนที่กล้าออกมาพูดความจริงเรื่องนี้ กล้ากดดันผู้บริหารพรรค ผู้บริหารรัฐบาลให้พูดความจริงกับประชาชน แล้วกลับมาทบทวน อย่าไปกังวลเรื่องอนาคต พรรคการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณทักษิณ (ชินวัตร) อนาคตของพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับประชาชน

ผมเชื่อว่า นักการเมืองพรรคเพื่อไทยมีคนดีเยอะมาก ขอให้กล้าออกมาพูดความจริง แต่ไม่มีใครรู้ความจริงทั้งหมด แม้แต่รัฐมนตรีที่บริหาร ผมก็เชื่อว่าไม่รู้ความจริงทั้งหมด ผมเชื่อว่ามีคนเห็นภาพใหญ่น้อยมาก คนส่วนใหญ่ไม่เห็น ภาคราชการไม่เห็นแน่นอน เพราะไม่มีระบบที่รวมข้อมูลทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วเห็นภาพใหญ่ และนั่นคือเหตุผลที่นักการเมืองเพื่อไทยเชื่อและเข้าใจว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อชาวนาอย่างมโหฬาร เขายังมองไม่เห็น ผมไม่อยากจะบอกเขาหลับตาข้างหนึ่ง แต่เขาอาจมองไม่เห็นเพราะถูกปิดบังข้อมูล เลยมองไม่เห็นว่าปัญหาต้นทุนทางสังคมมันใหญ่โตมโหฬารขนาดไหน คิดเหมือนท่านนายกรัฐมนตรีว่า หากมีปัญหาคอร์รัปชันก็เป็นปัญหาทางปฏิบัติ ก็ไปจับ ไปฟ้อง ซึ่งไม่ใช่ นี่คือสิ่งที่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยเชื่อ

โชคดีที่ประชาชนเข้าใจแล้ว แต่นักการเมืองยังไม่เข้าใจ แปลกที่ทุกประเทศนักการเมืองกับนักธุรกิจจะเป็นกลุ่มที่เข้าใจปัญหานี้ช้าที่สุดและหลังสุด ทุกประเทศเวลาที่เขามีปัญหาประท้วง มีวิกฤติอะไรต่างๆ นักธุรกิจจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ออกมาเห็นด้วย เพราะเขาจะอยู่ข้างนักการเมืองตลอด และนักการเมืองก็จะเป็นอีกกลุ่มซึ่งไม่เคยยอมเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งตัวเองจะอยู่ไม่ได้แล้ว ประชาชนจะไล่ตัวเองออกแล้วถึงได้สำนึก แต่ผมเชื่อว่าวันนี้นักการเมืองจำนวนมากยังไม่สำนึก

ไทยพับลิก้า : ที่ไม่สำนึกเป็นเพราะแกล้งไม่สำนึกหรือไม่รู้จริงๆ

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งแกล้งไม่สำนึก แต่ส่วนหนึ่งเขาไม่รู้ข้อมูลจริงๆ และข้าราชการที่บริหารจัดการก็ไม่รู้ข้อมูล

ไทยพับลิก้า : โครงการรับจำนำข้าวทำมาตั้งนาน ทำไมไม่มีกระบวนการ หรือมีการจัดการระบบข้อมูลตั้งแต่แรก

สมัยก่อนมีระบบที่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีกระทรวงพาณิชย์เป็นฝ่ายเลขาฯ ในคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) เดิมวงเงินที่ใช้ในเรื่องข้าวเป็นเงินนอกงบประมาณ คือ กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนเงินงบประมาณที่นำมาใช้คือ เงินดำเนินการ จ่ายเจ้าหน้าที่ เช่าโกดัง จ่ายค่าสี สมัยก่อน คชก. มีเงินกองทุนสงเคราะห์ข้าราชการอยู่ก้อนหนึ่ง ก้อนนี้มาจากเงินงบประมาณเป็นระยะๆ แต่ปัญหาของ คชก. คือ อยู่กรมการค้าภายใน และกรรมการ คชก. จะมีเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณเป็นคนมีหน้าที่ตั้งงบประมาณชดเชยขาดทุน แล้วคืนให้ ธ.ก.ส. เพราะฉะนั้น คชก. จะทำบัญชีรวม จะรู้ข้อมูลทั้งหมด

นั่นคือระบบการทำงานในสมัยก่อนเป็นแบบนี้ แต่หลังจากมีโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด แทบไม่ใช้เงินผ่าน คชก. เลย เข้าใจว่า คชก. ไม่ได้รับผิดชอบเรื่องข้าวอีกแล้ว แต่ถูกให้ไปดูพืชเล็กๆ เพราะ “เงินไม่มี” แล้ว ก็เลยลดบทบาท คชก. ลง

ส่วนองค์การคลังสินค้า (อคส.) ก็จะมีข้อมูลที่ละเอียดมาก เวลารับจำนำเมื่อข้าวส่งเข้าโกดังเขาจะมีบันทึกทันทีว่า ข้าวรุ่นนี้ สต็อกรุ่นนี้ อยู่ที่โกดังนี้ เบอร์นี้ หมายเลขนี้ เข้ามาเท่าไร ณ วันที่เท่าไร เขามีตัวเลขละเอียดมาก และทุกๆ สิ้นเดือนจะสรุปตัวเลขครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาจะมีข้อมูลละเอียดมาก และเวลาเบิกออก เขาก็จะแทงเบิกออก และถ้าขายข้าวได้ยังไม่เบิกออก เขาก็จะมีตัวเลขว่ามีข้าวที่มีเจ้าของแล้วยังไม่เบิกเท่าไร

แม้กระทั่งกรมการค้าต่างประเทศ หากมีการขายข้าวก็จะมีบันทึกการขายข้าวว่า เวลาประมูลขายข้าวทั้งแบบระบบบายข้าวทั่วไป กับขายข้าวรัฐต่อรัฐ จะมีข้อมูล มีระบบการขายข้าวใครมาขอซื้อ ขายให้เจ้าไหน ประมาณเท่าไร ราคาเท่าไร อันนี้คือกรมการค้าต่างประเทศ

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ดังนั้น ระบบการบริหารจัดการสมัยก่อน คชก. รู้ภาพรวม คือ รู้เรื่องเงินทั้งหมด คนที่มีภาพใหญ่อีกหน่วยงานหนึ่งคือ ธ.ก.ส. เพราะเป็นคนจ่ายเงิน แต่ ธ.ก.ส. ก็จะรู้เฉพาะเรื่องการจ่ายเงิน เมื่อก่อน ธ.ก.ส. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายข้าวเปลือก เพราะฉะนั้น ธ.ก.ส. ก็จะรู้เกี่ยวกับการขายข้าวเปลือก เพราะว่าเขาไปนั่งเป็นกรรมการระบายขายข้าวเปลือกในจังหวัดต่างๆ รัฐบาลสมัยคุณสมัคร (สุนทรเวช) เคยให้ ธ.ก.ส. เข้าไปดูแลเรื่องสต็อก เพราะฉะนั้น ธ.ก.ส. ก็ไปวางระบบติดกล้อง และจ้างเซอร์เวย์เยอร์ที่ไว้ใจได้คอยดูแล ซึ่งตอนนั้นมีคุณศิริพล (ยอดเมืองเจริญ) เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน ก็สร้างระบบเรียลไทม์ สามารถดูสต็อกสินค้าโกดังต่างๆ ได้ทั้งหมด

ผมเคยไปดูห้องวอร์รูมระบบเรียลไทม์ ซึ่งคุณศิริพลเขาภูมิใจมาก เขาติดคอมพิวเตอร์ และมีกล้องถ่ายมาจากโกดังต่างๆ เลยว่า มีข้าว ใครเข้าใครออก เรียลไทม์ นี่เป็นระบบซึ่งมีการทำไว้ แต่ตอนหลังผมเชื่อว่าเขาต้องการให้ทุกอย่างเป็นความลับ ก็คงไม่มีแล้วตั้งแต่โครงการจำนำข้าวปี 2554/55

เดิมข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นก็มี แต่ไม่ได้เปิดเผย แต่เราก็ขอได้ เราก็เขียนไปขอข้อมูล เขาก็ให้เรา ผมก็เคยขอข้อมูลข้าวจีทูจี ขายเท่าไร ขายราคาเท่าไร ปริมาณเท่าไร อธิบดีก็ให้ข้อมูล โดยเป็นขออนุมัติตามขั้นตอนของเขา เพราะไม่เคยเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจริงๆ ต้องเปิดเผย ซึ่งบ้านเราไม่เคยเปิดเผย สมัยก่อนขอเขาก็ให้ ขอมาตลอด แต่รัฐบาลนี้ไม่มีทาง เพราะมีคนไปขอข้อมูลแล้วไม่ได้ ผมก็เลยไม่ขอ เพราะขอก็คงไม่ได้

ตอนนี้เรื่องระบบข้อมูล คิดว่าแต่ละหน่วยงานจะรู้เฉพาะของหน่วยงานนั้น และผมเชื่อว่าไม่มีระบบการตรวจสอบ โดยเฉพาะที่ อคส. ผมเคยเป็นกรรมการ อคส. และตอนเข้าไปดูเรื่องพวกนี้สมัยที่คุณเกริกไกร (จีระแพทย์) เป็นรัฐนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ปี 2551-2552) เราก็เข้าไปปิดบัญชีเรื่องข้าว เพราะมีบางบัญชีปิดไม่ได้ เราเข้าไปทำให้มันปิดบัญชีได้หลายรุ่น แต่ก็มีข้าวปิดบัญชีไม่ได้หลายรุ่น เพราะไม่มีราคา ตอนนั้นขบวนการการทุจริตมันถึงขั้นทำลายหลักฐานหมดเลย คือ หลักฐานที่เป็นเอกสารหายหมด แล้วเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ การที่เอกสารถูกทำลายหายหมดเช่นนี้ ถ้าเป็นวงการราชการ เอกสารพวกนี้หายเป็นเรื่องใหญ่ต้องสอบสวน แต่ในองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ใน อคส. กลายเป็นเรื่องเล็ก

ไทยพับลิก้า : เหตุการณ์ที่ชาวนาไม่ได้เงินครั้งนี้ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายข้าวหรือไม่

ผมเชื่อว่า ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลมา มันไม่ใช่จุดเปลี่ยนของนโยบายข้าว แต่จะเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายประชานิยม คือ เราพูดให้คอแตกตายว่าประเทศอื่นเขามีปัญหาเรื่องนี้ เขาเกิดวิกฤติ คนไทยมองไม่เห็น ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา วันนี้เราเห็นโลงแล้วเราจึงหลั่งน้ำตา แต่ยังไม่พอ จะต้องเอาข้อมูลมาเปิดเผย เขาจึงจะเห็นว่าความชั่วร้ายมันมาจากตัวโครงการอย่างไร เราต้องให้เห็นเลยว่า คนที่โกงข้าวไป โกงไปเท่าไร

ผมเคยพูดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ไม่เคยมีคนฟังเลยว่า ขาดทุน 200,000 ล้านบาท เกษตรกรได้ไป 60% เป็นค่าใช้จ่าย 10% และ 30% พวกพ่อค้าเอาไป และพ่อค้าไม่กี่คน เฉพาะตรงนั้นจะรวยแค่ไหน และถ้าเปิดโปงออกมาจะเห็นว่ามีนักการเมืองไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ ตอนนี้ตามเช็คบิลแล้ว เปิดออกมาเมื่อไรพวกนี้อยู่เมืองไทยไม่ได้ ไม่ต้องไปไล่หรอก เขาเผ่นหนีไปเอง เพราะเขาจะโดนข้อหาทุจริต และอยู่เมืองไทยไม่ได้

การเปิดโปงต้องรอ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แต่ตอนนี้เรายังไม่มีกระบวนการเข้าไปเปิดสต็อก เปิดโกดัง เปิดบัญชีเลย วันนี้ต้องเรียกร้องให้ทำบัญชีของระบบจำนำข้าวออกมาเปิดเผย แล้วการปิดบัญชีดูเงินอย่างเดียว แต่ต้องทำบัญชีใหญ่และคุมหมดตั้งแต่ต้นทาง บัญชีที่ต้องทำไม่ใช่บัญชีเงินอย่างเดียว ต้องทำบัญชีข้าวด้วย ต้องลงสองบัญชีมาด้วยกัน ต้นทางมาถึงปลายทาง

ไทยพับลิก้า : ทำไมกระทรวงพาณิชย์ไม่มีตัวเลขให้

เขามีข้อมูลเป็นหน่วยๆ(หน่วยงาน) แล้วแต่ละหน่วยงานเขาปิดบังเป็นความลับ

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ไทยพับลิก้า : รัฐมนตรีควรเรียกข้อมูลทั้งหมดได้ และเปิดเผยสาธารณะให้ดู

รัฐมนตรีจะดูทำไม รัฐมนตรีไม่สนใจ รัฐมนตรีพาณิชย์ไม่ได้สนใจจะขายข้าว แต่สนใจว่าจะมีเงินจ่ายชาวนาหรือไม่ สิ่งที่รัฐบาลบอกว่าจะปราบปรามทุจริต สิ่งแรกที่รัฐบาลทำคือได้แต่พูด แต่ไม่เคยทำ และผมคิดว่าทางเดียวคือ ป.ป.ช. ต้องเห็นข้อมูลทั้งระบบ เมื่อ ป.ป.ช. เห็นทั้งระบบก็จะต้องบอกว่า ต้องตรวจสอบโกดังจำนวนหนึ่งที่อยู่ในบัญชี ไม่ต้องตรวจทั่วประเทศหรอก แล้วหาคนกลางไปตรวจ แต่ไม่รู้ว่า ป.ป.ช. จะมีงบประมาณไปตรวจหรือไม่ อันนี้ต้องตรวจสอบ ตอนนี้ ป.ป.ช. ดูเป็นรายธุรกรรม แต่การตรวจสอบนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 66 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญเขาต้องดูภาพใหญ่ เพราะต้องสาวออกไปให้เห็นภาพใหญ่ของโครงการรับจำนำข้าวว่ามีอะไรบ้าง

ไทยพับลิก้า : ครั้งนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การรับจำนำข้าวหรือไม่ ที่เจ๊งคามือรัฐบาล

เทียบกับตอนที่เราแย่มาก เรากดราคาเกษตรกรตอนเก็บค่าพรีเมียมข้าวในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สาเหตุที่ต้องเก็บพรีเมียมข้าว เรื่องหนึ่งคือ เราไม่มีเงิน จึงต้องเก็บพรีเมียมข้าว อีกเรื่องคือรัฐบาลมีอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา และเราต้องชดใช้ข้าวกับประเทศพันธมิตร ก็เกิดพรีเมียมข้าวมาในยุคอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้วในที่สุดเลิกเมื่อปี 2529 ตอนนั้นราคาข้าวทั่วโลกตกต่ำมาก แล้วรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ คุณโกศล ไกรฤกษ์ เคยบอกว่านโยบายของเขาจะประสบความสำเร็จในการยกราคา แล้วเขาทำแล้วล้มเหลว

แต่รัฐมนตรีโกศลเป็นนักเลงโบราณ พอทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จเขาก็เลยเลิกพรีเมียมข้าว อันนี้เป็นรัฐมนตรีที่นักเลงจริงๆ พอไม่สำเร็จตัวเองก็ถอย และก็เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น เป็นเวลาตั้ง 40 ปี ที่เก็บพรีเมียมข้าวซึ่งเป็นเรื่องที่ทารุณเกษตรกร ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำภาคเกษตรหรือภาคชนบทกับภาคเมือง เพราะเรากดราคาข้าวต่ำมาตลอดเวลา แล้วเราโอนทรัพยากรในภาคเกษตรมาใช้ในเมือง ใช้พัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ข้าวราคาถูก เกษตรกรที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองกินข้าวถูก อันนั้นมีข้อดีมีข้อเสีย แต่ผลกระทบหนักที่สุดคือ การกระจายรายได้ และปัญหาความยากจน แต่ถ้านับเป็นตัวเงินเทียบไม่ได้กับคราวนี้

แต่คราวนี้ (โครงการรับจำนำข้าว) ถ้ามองแบบนั้นก็เป็นการโอนกลับไปให้ภาคเกษตร แต่การโอนครั้งนี้เป็นการสร้างปัญหา คือไม่ได้โอนเงินอย่างเดียว มันกลับกลายเป็นการแทรกแซงตลาด การผูกขาดตลาดข้าว ที่เสียหายที่สุดคือ รัฐบาลคุมตลาดข้าวทั้งหมด เพราะคุณทักษิณต้องการคุมตลาดข้าว และผูกขาดตลาดข้าวเพียงคนเดียว นี่คือปัญหาใหญ่หลวง การทุจริตทั้งหลายอยู่ที่นี่ ไม่นับการทุจริตทุกขั้นตอน อันนั้นผมยกให้ ที่พรรคเพื่อไทยพูดว่าเป็นการทุจริตในทางปฏิบัติ แต่ที่ทุจริตในระดับคอร์รัปชันเชิงนโยบาย คือการขายข้าว ซึ่งมาจากความตั้งใจเลยว่าจะคุมทั้งหมด และคิดว่าจะขายข้าวในราคาแพงได้ เพราะไม่เข้าใจว่าตลาดข้าวเป็นตลาดแข่งขัน นึกว่าตัวเองผูกขาดแล้วจะทำทุกอย่างได้ อันนี้ก็เลยทำลายวินาศสันตะโร ทั้งคุณภาพข้าวและอะไรต่างๆ มากมาย

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความเสียหาย ครั้งนี้รุนแรงมาก แต่ในแง่เกษตรกรดีขึ้น การดีขึ้นแบบนี้มันเป็นผลประโยชน์ที่สร้างความเสียหาย ผมเชื่อว่า ถ้าเกษตรกรรู้เขาก็ไม่มีความสุขหรอก และในที่สุดเวลาใช้เงินคืน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์มาจากเงินกู้ ถามว่าเกษตรกรเป็นคนจ่ายหรือไม่ ก็ใช่ เพราะภาษีทุกบาททุกสตางค์เกษตรกรก็ต้องจ่าย แม้ไม่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จ่ายภาษีที่ดิน เขาก็เอาเงินภาษีพวกนี้มาจ่ายหนี้

ไทยพับลิก้า : รอบนี้จะบอกชาวนาให้เข้าใจง่ายๆ อย่างไร

เขาเข้าใจแล้วว่าไม่ได้เงิน เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน ถ้า “ไม่ยุบสภา” เขาก็จะยังไม่เข้าใจ วันนี้ทำให้เขาเข้าใจว่า “เงินมีจำกัด” ผมคิดว่าเวลานี้เขาเข้าใจแล้ว แต่เขาก็ยังอยากได้ราคาดี ซึ่งโทษเขาไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา

ไทยพับลิก้า : แล้วในช่วงรอยต่อจะแก้ปัญหาอย่างไร

ช่วงนี้มันกลับไปสู่การค้าข้าวปกติแล้ว เพราะถ้าชาวนาเกี่ยวข้าวได้คงไม่มีชาวนาที่ไหนไปจำนำกับรัฐบาล เพราะไม่ได้เงิน ก็จะไปขายให้โรงสี และกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ไม่ง่าย เพราะไม่รู้ว่าเลือกอีกกี่ครั้ง แต่ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญให้เวลา 180 วัน แต่ 3-4 เดือนหลังจากนี้ ข้าวนาปรังออกแล้วคือประมาณมีนาคม เมษายน ก็เชื่อว่ายังตั้งรัฐบาลไม่ทัน อย่างเร็วก็ตั้งรัฐบาลได้ก็มิถุนายน ดังนั้น รัฐบาลไม่กล้าทำจำนำข้าวต่อแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบข้าวก็จะอยู่ในระบบปกติของมัน คือมันเดินได้ แต่ว่าจะเดินในราคาต่ำ

เพราะทุกคนรู้ว่ารัฐบาลมีสต็อกข้าวเยอะ และทุกคนรู้ว่ารัฐบาลต้องรีบหาเงินมาจ่ายชาวนา และทุกคนรู้ว่ามีหนทางเดียวคือรัฐบาลต้องขายข้าว หรือถ้าหมดปัญญาจริงๆ รัฐบาลต้องคืนข้าวให้ชาวนา ถ้าต้องคืนข้าวให้ชาวนา ราคาก็ต้องร่วงไปอีก เพราะฉะนั้น สถานการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับชาวนาเลย ยิ่งจะเป็นผลเสียกับชาวนา ช่วงรอยต่อระหว่างนี้เสียหายต่อชาวนามาก

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลนี้เห็นแก่ชาวนาจริงๆ ไม่เห็นแก่หน้านักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตครั้งนี้ สิ่งที่จะต้องทำคือ ตรวจสต็อก และแยกสต็อกข้าวเน่าข้าวเสียออกไป ประกาศให้ชัดเจนว่า ข้าวเหลือในสต็อกน้อย ส่วนข้าวเน่าข้าวเสียไม่ทำแล้ว จะเผาทิ้งจะอะไรก็แล้วแต่ จะไปทำเอทานอล จะทำอะไรผมไม่สนใจ แต่อย่าเอาเข้ามาในตลาดข้าว แต่ที่ผมกลัวคือทันทีที่เอาไปทำเอทานอล ทำอะไรก็คอร์รัปชันต่อ ทำปุ๋ยยังคอร์รัปชันเลย นักการเมืองเก่งตรงที่มีนวัตกรรมคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้นมีวิธีเดียวที่จะไม่ให้มีคอร์รัปชัน คือ ต้องเผาทิ้ง เพราะเป็นวิธีเดียวที่จบ ป้องกันไม่ให้ใครมาคอร์รัปชัน ไม่ต้องใช้งบประมาณ ไม่ต้องมีอะไรทั้งหลายแหล่

ไทยพับลิก้า : ถ้าเผาทุกอย่างก็จบ

ใช่ คือเก็บไว้ในโกดังก็ต้องจ่ายค่าโกดัง ทำอะไรก็เสียหายทั้งนั้น เพราะฉะนั้นนี่เป็นวิธีเดียวในขณะนี้ที่จะทำได้ คือ จัดการให้รัฐบาลมีข้าวในสต็อกเหลือน้อย เพื่อที่อย่างน้อยราคาในตลาดจะได้สูงขึ้น สามารถยันราคาไม่ให้ตก เพราะถึงอย่างไร รัฐบาลก็ไม่มีปัญญารับจำนำข้าวนาปรังที่กำลังจะออกมาแน่นอน เขาไม่ยอมทำแน่นอน เพราะถ้าเขาทำก็เท่ากับเขาผิด ผิดเพราะมีใครรู้ว่ามีใครบางคนทุจริต (ในรอบที่แล้ว) แล้วไม่ใช่ทุจริตของพ่อค้าแต่เป็นทุจริตระดับสูงของนักการเมือง

ไทยพับลิก้า : ถ้าคืนข้าว ก็อาจหามาคืนไม่ได้และมีปัญหามากใช่ไหม

ผมไม่เสนอว่าคืนข้าวรัฐบาล เพราะรู้ว่าคืนข้าวชาวนาคืนไม่ได้ จะเถียงกันเยอะมาก เพราะชาวนาทุกคนจะเอาข้าวคุณภาพดี ใครจะไปเอาข้าวคุณภาพเลว มันต้องตีเกรด แต่ข้าวคุณภาพเลวมีตั้งเยอะ รัฐบาลถึงได้ขายยาก พอได้ข้าวมาตีราคา แต่ทันทีที่จะขาย ราคาจะตก มันมีปัญหาเรื่องนี้ (ราคาตก) เยอะมากๆ ดังนั้น เรื่องคืนข้าวไม่ง่าย ตอนนี้ชาวนาซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะถ้าไปขายโรงสีเองก็ต้องถูกกดราคา เพราะฉะนั้น ตอนนี้ราคาถึงได้ต่ำเตี้ยมาก

ไทยพับลิก้า : เพราะฉะนั้น ชาวนาก็ต้องอดทนกันไป

รัฐบาลเขาก็จะต้องหาเงินให้ได้ แต่ถ้าเขากู้ไม่ได้ผมก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะทำยังไงนะ เพราะธนาคารไม่ให้กู้ มันหมดทางแล้ว แล้วสถานการณ์นี้คือพอยุบสภาแล้วเขาสั่งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจไม่ได้นะ เพราะรัฐวิสาหกิจไม่กล้าทำเพราะกลัวสหภาพแรงงาน สถานการณ์มันพลิกผันมาก ผมคิดว่าเขาไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ วันนี้เขาจะโกรธมากถ้าใครไปขวางเขาเรื่องนี้

แต่เมื่อถึงฤดูนาปีถัดไป (2557/58) ตอนนั้นน่าจะมีรัฐบาลแล้ว แต่ผมก็เชื่อว่า ไม่แน่รัฐบาลอาจบ้าเลือดเอากลับเข้ามาอีก เพราะรัฐบาลนี้บอกสานต่อนโยบาย แต่นาปรังเห็นแล้วปัญหาเฉพาะคือราคาต่ำแน่ ยกเว้นดินฟ้าอากาศไม่ดี ซึ่งเผอิญหน้าแล้งปีนี้น้ำน้อยมาก รู้อยู่แล้วว่าน้ำน้อยมาก แล้วในบันทึกข้อมูลออกมาจริง คือตั้งแต่หลังจากน้ำท่วมปี 2554 เกษตรกรในภาคกลางบอกว่ามีปัญหาแล้งตลอดในฤดูแล้ง เพราะเขาปล่อยน้ำเหนือเขื่อนเยอะมากมาตลอด เพราะฉะนั้นตัวเลขที่เราไปสำรวจมาแล้วออกมาชัดเจนจนไม่อยากเชื่อ

ข้อมูลน้ำท่วม น้ำแล้ง

จากข้อมูลข้างบน เราไปสอบถามหมู่บ้านทั้งหมด 70 ตำบล แล้วแท่งฟ้าคือน้ำท่วม แท่งสีแดงคือน้ำแล้ง แล้วปีต่างๆ จะเห็นไหมว่าหลังปี 2554 (2011) น้ำแล้งตลอดทุกปี แต่ก่อนไม่เคยแล้งขนาดนี้ แล้วปี 2557 (2014) นี้จะน้ำแล้งจะมากขึ้นอีก เห็นไหมว่าเขาบริหารจัดการน้ำโดยปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างมาก เพราะกลัวน้ำท่วมจึงปล่อยน้ำออกจากเขื่อนตั้งแต่ปลายปีเยอะมาก ผลก็คือพอถึงหน้าแล้ง น้ำไม่มีแล้ว อันนี้เห็นชัดเลยว่าทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อน ถ้าถอยหลังไปในอดีตจะเห็นว่าน้ำแล้งไม่มาก แต่ตอนนี้แล้งมาก

ภาวะน้ำแล้งก็จะช่วยเรื่องราคาข้าวได้บ้าง แต่เมื่อการค้าข้าวกลับไปสู่ระบบปกติ สมมติว่าข้าวนาปีถัดไปกลับเข้าสู่ระบบปกติก็หาทางช่วยเกษตรกรยากจน ซึ่งผมไม่อยากให้ช่วยเป็นแบบกำหนดเป็นต่อไร่หรือต่ออะไรต่างๆ อีก เพราะว่ามีแรงกดดัน แต่สิ่งที่ต้องการให้ทำคือ

เรื่องที่หนึ่ง ผมคิดว่ากระบวนการช่วยต้องกลับมาสู่งบประมาณ คุณจะใช้เงินนอกงบประมาณก็จริงต้องผ่านรัฐสภา ขณะนี้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่มาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวไม่เคยเข้ารัฐสภาเลย เข้าแค่ ครม. ฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้น ถึงคุณไปยืมมาจากธนาคาร จาก ธ.ก.ส. หรือจากใครก็ตาม ต้องขออนุมัติรัฐสภา ขอเปลี่ยนตรงนี้ อันนี้คือปฏิรูปการเมือง ระบบประชานิยม จะต้องเข้มงวดโดยการเอาเงินนอกงบประมาณก้อนไหนก็ตามต้องขอสภา พวกที่เรียกร้องประชาธิปไตยทำไมไม่เรียกร้องอย่างนี้

เรื่องสอง พอเอาเงินที่ทำประชานิยมเข้ารัฐสภาก็จะมีข้อจำกัดแล้วว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ มันก็จะไปแย่งชิงกับเงินก้อนอื่นๆ คุณจะไปกู้ 2 ล้านล้านบาท หรือ 3.5 แสนล้านบาท คุณเอาทั้งหมดมาแย่งชิงกันในรัฐสภาแล้วบอกประชาชนว่าจะหาเงินที่ไหนมาคืน จะเก็บภาษีเท่าไหร่ จะเก็บภาษีอะไร อย่าบอกว่าไม่เก็บภาษีเพราะในที่สุดคุณต้องเก็บ เพราะฉะนั้น สองเรื่องนี้สำคัญมาก

เรื่องสุดท้ายคือ หลังจากนั้นคุณต้องทำประเมินผลโครงการแต่ละโครงการ การประเมินผลไม่ใช่แค่การปิดบัญชี ประเมินผลคือต้องดูผลกระทบว่ามากน้อยแค่ไหน เพราะโครงการใหญ่ขนาดนี้ต้องประเมินผลว่าประชาชนต้องมีสิทธิรู้ว่าเมื่อใช้แล้วมันดีขึ้นแค่ไหน หรือว่าเลวลง

แต่อย่างน้อยๆ ขอ 2 เรื่องแรก เพราะว่ามันจะเปิดเผย แล้วระบบการช่วยในรายละเอียดจะไปช่วยอย่างไร เป็นเรื่องที่มีวิธีการหลากหลาย วิธีการของคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ผมบอกแล้วว่ามีข้อจำกัด วิธีที่อาจจะเป็นวิธีที่ดีก็คือต้องกลับไปที่แนวคิดของคุณทักษิณเรื่องคนจน แล้วช่วยเรื่องส่วนต่างรายได้ว่าจะให้เท่าไหร่ การจดทะเบียนคนจนถึงแม้ว่าจะแย่ มีปัญหาการในจดทะเบียน แต่ว่าถ้าค่อยๆ ทำแล้วปรับระบบไอทีให้ดีมันก็ค่อยๆ แก้ปัญหา ค่อยๆ ลดจำนวนคนที่ขี้โกงลงได้ แต่ถึงมีคนโกงตรงนั้นก็ไม่มากเท่ากับการโกงของนักการเมืองระดับสูง มันเทียบกันไม่ได้ แต่ว่าเราสร้างระบบให้โกงน้อยลงได้ แล้วเงินที่จะช่วยเกษตรกร ช่วยคนจน ก็จะพอบริหารจัดการได้

คือเราไม่มีทางแจกเงินให้คนจนจนกระทั่งคนรวยได้หรอก มันไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาประเทศอยู่แล้ว หนทางก็คือระยะยาว หางาน สร้างงานในชนบท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำคนในภาคเกษตรกับคนนอกภาคเกษตร

ไทยพับลิก้า : กรณีข้าวครั้งนี้ เคยคิดว่าจะไปคุยกับพรรคเพื่อไทยบ้างไหม

ยังไม่ได้คิดอยู่ในหัว แต่คิดว่าต้องไปคุย คือถ้าจะไปคุย ไปชักจูงเขา ถ้าเขาอยากรู้นะผมคิดว่าเขามาหาผมง่ายกว่า แล้วผมยินดีมาก แค่เขาโทรมากริ๊งเดียวผมจัดให้เลย ใครมาเราก็ยินดีคุยไม่เคยปิด ตัวเขาเองต่างหากเวลามีงานสัมมนาใหญ่ๆ ที่ผู้สื่อข่าวจัดหรือใครเชิญมาเขาไม่เคยมา แต่ว่าพรรคการเมืองเขาก็ไม่สนใจเวลาเราไปกรรมาธิการ เราก็เห็นว่าพวกกรรมาธิการมีแต่ ส.ว. เป็นหลัก กรรมาธิการที่เป็น ส.ส. ไม่สนใจเท่าที่ควร ซึ่งแปลก

ไทยพับลิก้า : ช่วงที่มีปัญหาเรื่องนี้ รัฐมนตรีคลัง คุณกิตติรัตน์ วิพากษ์วิจารณ์อาจารย์เรื่องนี้

เรื่องธรรมดา ปล่อยเขาว่าไป ไม่เป็นไร แล้วถามว่าข้อมูลใครผิดใครถูก คุณทำไปแล้ว คุณตาบอดข้างเดียวไม่ได้ ทุกคนอยากช่วยเกษตรกร แต่คุณกิตติรัตน์ยังดีตรงที่เขายังฟังข้าราชการในกระทรวงการคลัง เขาเป็นเจ้ากระทรวง เขาก็ยึดตัวนี้อยู่ (กรอบการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว วงเงิน 5 แสนล้านบาท) แต่มาพักหลังๆ เข้าใจว่าเขาถูกกดดันมาก เขาก็ต้องดิ้นรน แล้วเสร็จแล้วใครไปค้านเขาก็ต้องดุ เพราะเราเป็นคนไปเปิดโปงคนแรกว่าคุณทำไม่ได้นะ เขาก็โกรธ ไม่โกรธได้ไง

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ไทยพับลิก้า : รู้สึกอย่างไรที่ที่ผ่านมาทำเรื่องข้าวแล้วต้องถูกด่าตลอด

เฉยๆ มันต้องทำใจให้ได้ พอทำใจได้แล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แล้วเราก็มีขอบเขตของเราว่าเราสู้ไปถึงจุดไหน คุณก็จะเห็นผมไม่ไปเซ็นจดหมายอะไรต่างๆ จดหมายถอดถอนต่างๆ ผมจะไม่ไปถึงจุดที่ไปฟ้องศาลอะไรต่างๆ ผมจะไม่ทำ ผมหยุดแค่จุดนี้ คือจุดที่ให้ข้อมูลต่างๆ ไม่ไปเคลื่อนไหว และผมพูดตลอดเวลาว่าผมไม่ได้เป็นศัตรูกับพวกคุณนะ เพราะชีวิตผมที่ผ่านมา เราทำวิจัยมาเยอะ แล้วเราเจออย่างนี้เยอะ

เล่าให้ฟังเลย ครั้งแรกที่เจอคือทำโครงการกับอาจารย์อัมมาร ตอนเรียนจบกลับมาใหม่ๆ ทำวิจัยเรื่องนโยบายราคาและการตลาดสินค้าเกษตร เพราะตอนนั้นตลาดสินค้าเกษตรของเราถูกแทรกแซงเยอะ แล้วเวิลด์แบงก์ต้องการปรับโครงสร้างเรื่องนี้ ก็จ้างอาจารย์อัมมารเป็นหัวหน้าทีม อาจารย์อัมมารก็มาเลือกลูกทีม มีหลายคน ผมเป็นหนึ่งในนั้น ผมทำเรื่องปศุศัตว์ และอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ทำเรื่องข้าว เป็นต้น พอเราทำเสร็จก็ต้องส่งให้กระทรวงพาณิชย์ แต่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นบอกงานชิ้นนี้ขยะ ต้องเอาไปเผาทิ้ง แล้วก็ด่าผม

10 ปีให้หลัง กระทรวงพาณิชย์กลับมาหาพวกเรา จ้างพวกเรากลับไปทำแผนแม่บทกระทรวงพาณิชย์สมัยคุณสมพล (เกียรติไพบูลย์) เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ แล้วอธิบดีทุกคนก็มาคุยกับเรา ให้ข้อมูล แล้วก็ยอมรับแล้ว แม้จะใช้เวลา 10 ปีให้หลังไม่สายไป เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตรได้

ไทยพับลิก้า : แล้วเรื่องข้าวคิดว่าจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า

วันหลังให้เขามาเป็นมิตร วันนั้นคือชัยชนะของผม เรารอได้ ไม่มีปัญหา เพราะเขาไม่ได้เป็นศัตรูกับผม มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันเป็นเรื่องนโยบาย ยกเว้นว่าเขาคอร์รัปชัน ผมจะมีปัญหาส่วนตัวกับคนที่คอร์รัปชันแน่นอน แต่ผมไม่เชื่อว่าคุณกิตติรัตน์คอร์รัปชัน เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ศัตรู วันหนึ่งที่เขากลับมา แล้วเขาเห็นแล้วกลับมาเป็นมิตรกับผม วันนั้นจะเป็นวันที่ผมมีความสุข

ไทยพับลิก้า: คือให้เขายอมรับกับสิ่งที่ทำใช่ไหม

ใช่ ให้เขายอมรับ ในที่สุดถ้าเขากลับมายอมรับคือใช้ได้ คนเขาเห็นกันทั่วเมือง เจ้าตัวเขาก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ ถามว่าผมเคยวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเขาไหม ไม่เคย ผมวิจารณ์ตัวโครงการ ตัวรัฐมนตรีไม่เคยวิจารณ์ แม้กระทั่งรัฐมนตรีพาณิชย์ผมยังไม่พูดเลย ผมบอกว่า “นักการเมือง” ถ้าเขาอยากร้อนตัวก็ช่างเขาไป คุณกินปูนร้อนท้องหรือเปล่า ถ้าไม่กินปูร้อนท้องก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าคุณมีส่วนก็ช่วยไม่ได้ เพราะผมด่าคนที่ทุจริต

ไทยพับลิก้า : ชาวนาเองก็มีที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ รู้สึกอย่างไร

มีเป็นธรรมดาที่ไม่เห็นด้วย เพราะว่าราคาขนาดนี้ก็เหมือนว่าเราขวางคอเขา แต่เราไม่ได้ขวางคอเขา วันนี้เขาก็เห็นว่าราคาสูงเกินไป แน่นอนว่ามีชาวนาส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับเรา โรงสีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับผมแน่นอน แต่ยังมีโรงสีที่เห็นด้วยกับผม มีโรงสีที่ไม่เข้าโครงการก็ยังพอมีอยู่ แต่ผมก็บอกว่าผมไม่ได้เป็นศัตรูกับพวกคุณ

ไทยพับลิก้า : ทำเรื่องข้าวเคยโดยถูกขู่ทำร้ายบ้างไหม

ไม่เคยมีใครขู่ มีแต่ถูกด่า เพราะว่าเราไม่ไปยุ่งอะไรบางเรื่องจึงไม่ถูกขู่ แต่มีด่า มีวิจารณ์ แน่นอน แต่ที่ด่ามากที่สุดคือพวกการเมืองก็จะว่ามีแต่ตัวเลข ไม่เคยเข้าใจเรื่องประโยชน์ทางสังคมของชาวนา ไม่เข้าใจว่าโครงการนี้ชาวนามีประโยชน์ทางสังคมเยอะนะ เขาบอกผมไม่เคยพูด ผมบอกผมเคยพูด มีตัวเลขเลยว่าได้เท่าไหร่

แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโชคดีที่ทำงานกับอาจารย์อัมมารมาตลอดตั้งแต่เรียนจบใหม่ แล้วเรียนรู้อะไรจากอาจารย์เยอะมาก ทำให้วิถีชีวิตของเราเข้าใจเรื่องพวกนี้ แล้วอาจารย์ก็เตือนในกลุ่มเรา คือในกลุ่มเราเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า เราไม่ใช่พวก “social engineering” เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงโลก หรือสมมติถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เราต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบด้วย

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ถ้าเราไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบในข้อเสนอของเรา เราก็อย่าพูดมัน คือถ้าเปลี่ยนอะไรใหญ่ๆ ผลกระทบมันรุนแรงต่อสังคมมากและบางทีเรานึกไม่ออกว่าจะเกิดความเสียหายอะไรตามมา ซึ่งเรานึกไม่ถึงทั้งๆ ที่เราหวังดี เพราะฉะนั้น เราจึงค่อนข้างจำกัดตัวเองในข้อเสนอต่างๆ จะค่อนข้างถ่อมตัว ไม่ค่อยกล้าเสนออะไรที่มันถึงระดับหนึ่งแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างที่คุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) พูดเรื่องปฏิรูป เราไม่ไปถึงจุดนั้น เพราะเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องมีข้อมูล ต้องมั่นใจอะไรต่างๆ แล้วถ้าเราจะเสนออย่างนั้นเราต้องรับผิดชอบด้วยนะ

เราคิดว่าเรามีหน้าที่เรื่องหนึ่งคือ ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราพูด อันนี้เป็นเรื่องใหญ่สุดที่เราต้องรับผิดชอบตัวเอง แล้วเราก็อย่าไปเล่นการเมือง เพราะตำแหน่งอย่างนั้นเป็นทุกขลาภ

ไทยพับลิก้า : ต่อจากนี้เรื่องข้าวควรจะต้องทำอะไร

ต้องเรียกร้องให้เอาข้อมูลออกมา เพื่อเป็นบทเรียนว่า การช่วยเหลือชาวนาควรจะช่วยเหลืออย่างไร ไม่ควรจะช่วยแบบเดิม เพราะตราบใดถ้าไม่มีข้อมูลพวกนี้ ผมก็เชื่อว่านักการเมืองก็จะทำต่อไปแน่ๆ และนักการเมืองจะไม่เคยเห็นปัญหาในอนาคต เพราะสิ่งที่นักการเมืองเขานึกถึงคือเสียงวันนี้ เขาไม่ได้นึกถึงเสียงในวันหน้า วิกฤติหนี้ที่เกิดในลาตินอเมริกา ในกรีซ ในประเทศต่างๆ มันเป็นวิกฤติที่เกิดจากนักการเมืองรุ่นปู่ทั้งนั้น ไม่ใช่รุ่นพ่อ แล้วมาส่งผลรุ่นหลาน ไม่มีนักการเมืองคนไหนคิดไปถึงปัญหาของรุ่นหลาน ซึ่งรุ่นพ่อก็ไม่คิด เขาคิดแค่รุ่นเขา เพราะเขาได้คะแนนเสียง

เพราะฉะนั้น นี่คือทางเดียวที่จะถอดบทเรียน คือเอาข้อมูลพวกนี้ออกมาเปิดเผยให้หมด จะทำให้ประชาชนเห็นภาพใหญ่ พอประชาชนเข้าใจ ประชาชนเป็นคนลงคะแนนเสียง ผมถึงอยากรู้คะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จังหวัดต่างๆ ลงคะแนนเลือกใคร อย่างไร ผมอยากรู้ว่าเขา (ชาวนา) เปลี่ยนหรือเปล่า อย่างน้อยผมรู้แล้วว่า ที่อ่างทองพรรคเพื่อไทยแพ้เป็นครั้งแรก ปกติที่อ่างทองพรรคเพื่อไทยชนะ แต่วันนี้พรรคเพื่อไทยแพ้

แต่ภาคกลางไม่ได้ไปเลือกตั้งก็เยอะ ภาคอีสานกับภาคเหนือไปเลือกตั้งเพียง 50% ต้นๆ ก็น่าตกใจ การที่เขาไม่มาลงคะแนน เขาก็รู้แล้วล่ะ ภาคอีสานตอนล่างเขาขายข้าวไม่ได้เงิน เขาก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น คน (ชาวนา) เริ่มเห็นข้อเท็จจริง

แต่สำหรับชาวนาแค่นี้ยังไม่พอ เพราะราคาข้าวยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับชาวนามาก ในชีวิตของชาวนาไม่มีอะไรใหญ่เท่ากับเรื่องราคาข้าว เราก็เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นถึงต้องมีข้อมูลอันนี้ (การใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว ผลขาดทุน สต็อกข้าว จำนวนการขายข้าว ฯลฯ) ออกมา แต่อย่างน้อยที่สุดก็ดีใจว่า ชาวนาภาคกลางจำนวนมากเริ่มเข้าใจแล้วว่า เขาไม่จำเป็นต้องขายข้าวได้ราคาสูงขนาดนี้ อันนั้นผมคุยกับชาวนาเอง แล้วชาวนาพูดเองว่า ไม่จำเป็นต้องสูงขนาดนี้ แต่เขายังอยากได้ราคาดี แต่มันไม่สามารถ ปัญหาก็คือว่า จำนำทุกเมล็ดไม่ได้ อันนี้คือแรงกดดันใหญ่

แต่แรงกดดันใหญ่ในอนาคตต้องแก้ปัญหาระยะยาว เพราะปัญหาใหญ่คือ เรามีเกษตรกรประมาณ 40% ของแรงงานทั้งหมด เฉพาะชาวนาอย่างเดียวที่ทำงานเต็มเวลาคือประมาณ 3 ล้านครัวเรือน และถ้านับเกษตรกรอื่นๆ ด้วยก็ประมาณ 4 ล้านครัวเรือน หรือถ้าเป็นแรงงานก็ประมาณ 40% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งเยอะมาก และภาคเกษตรทั่วโลกอุดหนุนทั้งนั้น

ทีนี้ ถ้ารัฐบาลต้องอุดหนุน ภาคเกษตรนี่แปลก ตอนที่เป็นประเทศยากจนเขาจะรังแกเกษตรกร เขาจะเก็บภาษี เก็บส่วนเกินจากเกษตรกร เพราะเป็นภาคมีรายได้ ก็จะเก็บภาษีไปเลี้ยงคนในเมือง แต่พอประเทศรวยขึ้นมาเขาจะมีอาการอุดหนุนซึ่งเป็นทั่วโลก อย่างอินเดียอุดหนุนเยอะมาก ประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นิพนธ์ พัวพงศกร

ถ้าเกษตรกรมีจำนวนเยอะ เงินอุดหนุนก็ต้องใช้เยอะ ถ้าทำแบบนี้ไปไม่รอด อนาคตหากทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ยังไงก็ไปไม่รอด ระบบอุดหนุนแบบไหนก็ไปไม่รอด แม้แต่ระบบของคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็ไปไม่รอด เพราว่าวันนี้คุณจำกัดการช่วยเหลือเฉพาะ 20 ตัน แต่วันรุ่งขึ้นกลายเป็น 25 ตัน ราคาปีนี้เป็นเท่านี้ ปีต่อไปราคาก็จะถูกกดดันให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นไปไม่รอดแน่นอน งบประมาณที่ใช้ต้องมโหฬาร ถึงแม้รัฐบาลจะไม่แทรกแซงตลาด แต่งบประมาณรวมจะโป่งขึ้นทุกทีๆ

ฉะนั้น ทางออกในระยะยาว ต้องเอาเกษตรกรออกจากภาคเกษตร เวลานี้เรามีรายได้จากภาคเกษตรประมาณ 10% เราต้องมีเกษตรกรอยู่ในภาคเกษตร 10% ต้องค่อยๆ ทยอยลด การมีรายได้ภาคเกษตร 10% และมีเกษตรกรในภาคเกษตร 10% แปลว่า รายได้ต่อหัวของเกษตรกร หรือรายได้ของคนในภาคเกษตร กับรายได้ของคนที่อยู่นอกภาคเกษตรจะเท่ากัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ

เมื่อไม่มีความเหลื่อมล้ำ การอุดหนุนจำนวนมากก็ไม่จำเป็นหรือน้อยลง ราคาอาจต่ำ แต่รายได้สูง โดยที่กำไรต่อหน่วยน้อย แต่ขายจำนวนมากก็ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ พ่อค้าส่งออกข้าวก็เช่นเดียวกัน ได้กำไรกระสอบละ 1-2 เหรียญ แต่ส่งออกทีหนึ่งจำนวนมาก ก็ขายเยอะ เราต้องมีจำนวนเกษตรกรน้อยลง อันนี้เป็นวิธีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะเหลือเกษตรกรที่ยากจนจำนวนน้อยมาก คือเมื่อเกษตรกรรวมมีประมาณ 10% เกษตรกรที่ยากจนอาจจะมีสัก 2-3% ก็จะง่ายในการช่วยเหลือ งบประมาณที่จะมาช่วยเกษตรกรยากจนก็จะไม่เป็นภาระต่อสังคมชนิดที่เรียกว่าก่อให้เกิดวิกฤติ เพราะฉะนั้น เป้าหมายระยะยาวหรือทิศทางระยะยาวต้องไปแบบนี้

แต่การจะไปแนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นอะไรที่ยาก เพราะกว่าสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จะมาถึงจุดนี้ก็ใช้เวลายาวนาน อย่าง สหรัฐอเมริกาใช้เวลา 200 ปี ญี่ปุ่นใช้เวลาเร็วหน่อย คือตั้งแต่สมัยเมจิมาถึงปัจจุบันก็ประมาณ 100 ปี แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เครื่องมือต่างๆ ก้าวหน้าขึ้น ประไทยเราก็น่าจะใช้เวลาสั้นกว่านั้นได้ เราก็ต้องทำ

ขณะเดียวกัน เมื่อแรงงานในภาคเกษตรลดลง แรงงานนอกภาคเกษตรก็เพิ่มขึ้น งานที่สำคัญก็คือ การพัฒนาประเทศยังเป็นเรื่องใหญ่ คือต้องทำให้อัตราการเจริญเติบโตที่ไม่ใช่ 3% ต่อปี ของประเทศไทยควรอยู่ที่ 5-6% ให้ได้ เพื่อยกระดับประเทศ เป็นการเติบโตนอกภาคเกษตร และกิจกรรมนอกภาคเกษตรต้องไม่ใช่อยู่ในเมือง ต้องกระจายไปอยู่ชนบท เดิมเรามีนโยบายการกระจายความเจริญไปอยู่ชนบท เรามีนโยบายส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีการแบ่งเขตการส่งเสริมการลงทุน 3 เขต ใครไปอยู่เขต 3 จะได้รับสิทธิประโยชน์เยอะเพื่อจูงใจให้ไปลงทุน เขต 1 ในกรุงเทพฯ​ได้น้อย แต่คุณทักษิณมายกเลิกอันนี้ มันต้องเริ่มระบบที่สร้างงานในชนบทได้มากขึ้น

ถ้ามีงานอยู่ในชนบท รายได้เขาอาจต่ำกว่าในเมือง นโยบายค่าแรงขั้นต่ำสวนทางกัน เพราะถ้าจ่ายค่าจ้างเท่ากันโรงงานก็ไม่อยากอยู่ต่างจังหวัด แต่อยากอยู่กรุงเทพฯ ดีกว่า เพราะฉะนั้นต้องยอมรับสภาพความจริง ค่าจ้างต่ำก็จริง แต่ในเมื่อเราอยู่บ้าน เราไม่เสียค่าเช่า ไม่เสียค่ารถ ไม่เสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาก และชีวิตทางสังคมดีขึ้น ได้อยู่กับครอบครัว

เมื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ พอรายได้ใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งงานนอกภาคเกษตรต้องไปคิดว่าจะต้องไปทำอย่างไร เพราะแต่ละจังหวัดเจริญไม่เท่ากัน ที่ผ่านมาการพัฒนาอุตสาหกรรมเราคิดอยู่สูตรเดียว จำได้ยุคหนึ่งเรามีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม เราจะมีนโยบายส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม แล้ว ส.ส. ในยุคหนึ่ง นี่คือปัญหาของ ส.ส. และข้าราชการประจำคือ ต้องไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมทุกจังหวัด ซึ่งล้มเหลว อย่างนิคมฯ ลำพูนร้าง เป็นเวลานานกว่ามันจะกระเตื้องขึ้นมาได้ ส่วนนิคมฯ ภาคตะวันออกที่ฉะเชิงเทรา เดี๋ยวนี้บูม แต่เราก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น บางที่เป็นเขตอุตสาหกรรม เขตท่องเที่ยว เขตเกษตร ของพวกนี้ต้องค่อยๆ ทำ ผมคิดว่าเราไม่ได้ทุ่มเงินในการพัฒนามากพอ เราเอามาใช้ในด้านการแจกมากเกินไป เราไม่ได้เอาเงินมาใช้ในด้านการพัฒนาระยะยาวเลย

นอกจากนี้ ในภาคเกษตร มีความจำเป็นที่เกษตรกรต้องมีที่ดินแปลงใหญ่ขึ้น เพราะเราเห็นแล้วว่าลูกหลานเขาไม่ทำ เพราะฉะนั้นที่ดินต้องแปลงใหญ่ขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่เกิด ตอนนี้ก็มีบ้าง แต่กว่าขนาดที่ดินมันจะใหญ่ คงต้องรอเกษตรกรรุ่นที่เป็นหัวหน้าปัจจุบันที่อายุ 50 กว่าปีเลิก เวลานี้ก็ค่อยๆ เลิก เพราะฉะนั้นเวลานี้ที่ดินในภาคกลางก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น แต่ก็มีอุปสรรคในการเช่าที่ดิน ในการขายที่ดิน อุปสรรคเหล่านี้ต้องกำจัด

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ส่วนทางรอดในระยะสั้นต้องรวมกลุ่ม การทำนาในภาคอีสาน เรารู้แล้วว่าไม่รวมกลุ่มต้นทุนจะแพง ที่ผ่านมาทั้งโลกพูดเรื่องรวมกลุ่มของเกษตรกร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แบบจำลองในการรวมกลุ่มให้ประสบความสำเร็จไม่ได้มีแบบเดียว แบบหนึ่งคือ กลุ่มเอ็นจีโอทำสำเร็จบ้าง แต่มีข้อจำกัด เพราะเอ็นจีโอมีปัญหาเรื่องการตลาด อีกพวกหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือ คอนแทร็กฟาร์มมิง บริษัทเอกชนที่ส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าแพง แต่ที่เขาไปทำในแต่ละหมู่บ้านทำไม่เยอะ นี่คือแบบจำลองที่ประสบความสำเร็จ แต่มีน้อย ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ต้องบริหารจัดการ

ที่ดินแปลงใหญ่มีความสำคัญ อย่างอีสานทำนาได้ปีละครั้ง ถ้าจะปลูกข้าวหอมมะลิ เวลานี้ก็มีใครต่อใครไปส่งเสริมเป็นกลุ่มเกษตรกร พวกนี้ทำด้วยใจ แต่เราอาศัยคนทำด้วยใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีไม่กี่คนที่เสียสละ พอเขาไม่อยู่ ลูกหลานก็ไม่เอา จะต้องสร้างระบบที่เป็นมืออาชีพจริงๆ

เช่น ถ้าจะทำข้าวหอมมะลิปลอดสาร เขาต้องปรับที่ดินหมดเลย และต้องเอาเครื่องไม้เครื่องมือไปลง แล้วที่ดินรอบๆ ที่ติดกัน ถ้าเขาไม่ได้ทำข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมี คือถ้าพื้นที่ทางเหนือของเขาไม่ได้ปลูกข้าวปลอดสารพิษ พื้นที่ทางเหนือเขาต้องทำระบบทางน้ำให้ระบายน้ำออกไป เพราะเมื่อเขารดน้ำ ฉีดยาฆ่าแมลง พอน้ำไหลลงมาจะได้ลงทางระบายน้ำที่ทำไว้ ไม่ลงแปลงนาของเขา ของพวกนี้ต้องจัดการกันเป็นกลุ่มทั้งนั้นเลย ซึ่งก็เริ่มมีทำแล้ว ไม่ใช่ไม่มีตัวอย่าง แต่งานพวกนี้แค่ปรับที่ดินอย่างเดียวก็ลงทุนมโหฬาร คุณไม่ทำเป็นกลุ่มไม่ได้ เพราะถ้าคุณทำเป็นกลุ่มก็จะสามารถลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือเครื่องจักรได้ ใช้แรงงานน้อย รายได้ต่อหัวก็จะสูงขึ้น เผอิญโชคดีบ้านเรามีตัวอย่างเกษตรกรที่ทำเป็นกลุ่ม มีคนทำเรื่องพวกนี้หลากหลายขึ้น

เพราะฉะนั้นหัวใจคือ ลดแรงงาน ใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ที่ดินต้องแปลงใหญ่ รายได้ของเกษตรต่อหัวจะสูงขึ้น เพราะถ้าคนน้อยลง ผลิตเท่าเดิม ค่าเฉลี่ยจะสูงขึ้น และไม่ใช่ใช้แค่เครื่องมือเครื่องจักรอย่างเดียว ต้องใช้ความรู้ ซึ่งเรื่องความรู้เป็นเรื่องที่ยากมาก

ตัวอย่างเช่น ประมาณปี 2551 เพลี้ยเริ่มระบาด มีการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท ซึ่งออกแบบมาต้านเพลี้ย แต่เพลี้ยมันกลายพันธุ์ปรับตัวได้ มันกินข้าวพันธุ์ชัยนาทเกลี้ยงเลย เกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ชัยนาทเจ๊ง แต่ปีต่อมาเกษตรกรไทยก็ไม่เอาพันธุ์ชัยนาท เลิกปลูกไปเลย ก็ต้องไปหาพันธุ์ที่ต้านเพลี้ยได้ ก็ไปหาพันธุ์ที่อยู่ในตลาด ทำให้ราคาพันธุ์ต้านเพลี้ยก็พุ่งพรวด ของอย่างนี้ ทางราชการคือกรมการข้าวทำออกมาไม่ทัน กว่าจะออกมาก็อีก 2 ปี ปกติเขาทำงานวิจัยอยู่แล้ว แต่งบวิจัยเขาน้อยมาก นี่คืองานวิจัยที่ต้องทำรองรับเกษตรกร และงานวิจัยแบบนี้เงินไม่เยอะ แต่รัฐบาลก็ไม่ให้ แต่เวลาได้ประโยชน์ไม่ใช่แค่ 1-2 คนได้ประโยชน์ ทุกคนได้ประโยชน์หมด

แล้วสถานการณ์แบบนี้ (โรคระบาด) เกิดขึ้นบ่อยมากเวลานี้ เพราะฉะนั้นความรู้สำคัญมาก และความรู้ต้องไปถึงตัวเกษตรกร ถ้าเป็นที่ดินแปลงใหญ่มืออาชีพจริงๆ ในภาคกลางที่เป็นชาวนารวยๆ เห็นแล้วทึ่ง พวกนี้เขาพิถีพิถันมาก เมื่อขนาดพื้นที่เขามีจำนวนมาก เวลาเขาจ้างอะไรเขาจ้างถูกกว่าคนอื่น และเวลาเขาลงไปดูแปลง สูบน้ำเข้านา เขาจะจู้จี้มาก จะทำแบบไหนที่จะประหยัด ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะทุกบาททุกสตางค์เป็นเงิน

ระบบแบบนี้ต้องมีองค์ความรู้ และองค์ความรู้เริ่มเกิดจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเอ็นจีโอ แต่อย่าไปคิดว่ามันจะมีสูตรเดียว ไม่มีสูตรเดียว แต่นโยบายรัฐบาลต้องเอาใจใส่เรื่องนี้ สนับสนุนให้มีการทดลอง ให้มีการทำนั่นทำนี่เยอะแยะ และข้อดีของเกษตรกรไทยคือ เวลาส่งเสริมอะไรไป เกษตรกรไทยจะไปดัดแปลง เขาจะไม่ทำตามร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ภาคเกษตร “resilient” คือมีความยืดหยุ่น ทำหลากหลาย เวลามีปัญหาก็เลยไม่เสียหายหมด ผมก็แปลกใจ เพลี้ยลงบ้านเรา ระยะหลังลงหนัก แต่ไม่เสียหายหนัก ไม่เหมือนอินโดนีเซียที่โดนทีหนึ่งผลผลิตหายไป 20% เมื่อปีที่แล้วโดนเพลี้ยระบาดผลผลิตก็หายไปเกือบ 10% หนักมาก เพราะเกษตรกรของเขาไม่ได้ปรับตัวเหมือนเกษตรของเรา ของเราปรับตัว และแต่ละคนทำหลากหลายมาก ทำให้คนขายพันธุ์ข้าวบ่น เพราะในตลาดต้องการพันธุ์หลากหลายมาก เจ้านี้จะเอาอย่างหนึ่ง เจ้านั้นจะเอาอย่างหนึ่ง ความหลากหลายเราเยอะ

เพราะการที่เรามีความหลากหลาย ถึงแม้แต่ละเจ้าจะปลูกอย่างบ้าเลือดคือทำนาปีละ 3 ครั้ง หรือ 2 ปี 5 ครั้ง แล้วเพลี้ยลง เราก็ไม่เคยเจอปัญหาร้ายแรง สาเหตุหนึ่งเพราะเรารายเล็ก แต่ถ้าเราขยับเป็นรายใหญ่เมื่อไรเราจะมีปัญหา เพราะรายใหญ่จะปลูกเหมือนกันหมด ก็จะมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นเรื่ององค์ความรู้ เรื่องการใช้เครื่องจักร เรื่องเกษตรกรต้องมีความรู้ มันไม่ยากแล้วสมัยนี้ มีเครื่องไม้เครื่องมือถ่ายทอดเรื่ององค์ความรู้ได้ แต่หน่วยราชการไม่สามารถเป็นที่พึ่งเรื่องพวกนี้ได้ดี ยังโชคดีมีมหาลัย มีบริษัท และมีเอ็นจีโอ

เพราะฉะนั้น รูปแบบของการส่งเสริมของราชการต้องปรับตัว หน้าที่หลักของการส่งเสริมคือให้ความรู้ ไม่ต้องไปชี้นำ เขาจัดการเอง สินเชื่อเขาก็ไม่มีปัญหา เรื่องการตลาดก็มีเอกชนที่พร้อมจะช่วย เช่น เข้ามาช่วยการตลาด 1 ไร่ 1 แสน เป็นต้น มีคนพร้อมจะเข้ามาช่วย แต่ระบบบ้านเราเป็นระบบที่ใครพร้อมอะไรก็ต่างคนต่างทำ แต่ภาคการเมืองไม่สนใจ เพราะงานแบบนี้เป็นงานที่ไม่ได้เสียง เงินที่ใช้ทำวิจัยก็เลยถูกเอามาใช้งานส่งเสริมและอื่นๆ แทน

นี่คือทิศทางที่ต้องไป และอย่าไปแทรกแซงตลาด เราชอบบอกพ่อค้าเอาเปรียบ แล้ววันนี้ถามว่าพ่อค้าที่เป็นพรรคพวกของรัฐบาลยิ่งไม่เอาเปรียบเราหรือ ยิ่งโคตรเอาเปรียบเลย เพราะซื้อจากรัฐบาลราคาถูกมาก แล้วก็ไปขายราคาสูงกินส่วนต่างเข้ากระเป๋า ไม่เลวร้ายยิ่งกว่าหรือ เขาโกงพวกเรา โกงภาษีประชาชน แต่กลับไม่ถูกด่า

ระบบทุนนิยมพรรคพวกกับทุนนิยมแข่งขัน อันไหนเลวร้ายกว่ากัน ระบบปัจจุบัน (ทุนนิยมพรรคพวก) ต้องเลิก แล้วทุนนิยมแข่งขันดีอย่างไร ประเทศไทยค้าข้าวมาตั้งแต่เปิดประเทศทำสนธิสัญญาเบาว์ริงมาจนกระทั่งก่อนปีที่รัฐบาลจะแทรกแซงครั้งหลัง ข้าวของไทยนอกจากปริมาณขายได้มากที่สุดแล้ว ขายได้ 100 กว่าประเทศ ปริมาณข้าวส่งออก 8-9 ล้านตัน เราขายได้ 100 กว่าประเทศ ไม่ได้ขาย 4-5 ประเทศ เป็นรัฐต่อรัฐ และมีผู้ขาย 100 กว่าราย และเราขายในราคาที่สูงกว่าทุกประเทศ ยกเว้นอเมริกาเท่านั้น เพราะข้าวเรามีคุณภาพดีที่สุด

แล้วประเทศไหนจะซื้อข้าวชนิดไหน ส่งมอบที่ไหน ปริมาณเท่าไร เวลาไหน ไม่เคยพลาด นี่คือระบบแข่งขัน ระบบโลจิสติกส์ที่พ่อค้าไทย เกษตรกรไทย โรงสีไทยช่วยกันทำทั้งนั้น ระบบมันมี ถ้าข้าวไม่ดี เกษตรกรก็ได้ราคาต่ำ ข้าวดีเกษตรกรก็ขายได้ราคาดี โรงสีขายได้ราคา ผู้ส่งออกขายได้ราคาดี

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร

ผู้ส่งออกแม้มันตีหัวมาเป็นทอดๆ เขาไม่ได้เอาเปรียบ มันเป็นกระบวนการคัดสรรทำให้ข้าวเราคุณภาพดี ที่ผ่านมาเราเข้าใจผิด ไม่อย่างนั้นไทยเป็นอันดับหนึ่งได้อย่างไร ถามว่าเป็นฝีมือรัฐบาลไหม ไม่ใช่ ส่วนใหญ่เป็นฝีมือเอกชน ฝีมือที่รัฐบาลทำในอดีตคือวิจัยเรื่องคุณภาพข้าว อันนี้รัฐบาลทำจริงในอดีต และกระทรวงพาณิชย์ก็ทำจริงในเรื่องส่งเสริมเรื่องข้าวหอมมะลิให้หอมมะลิเป็นที่นิยมไปทั่วโลก แต่วันนี้กระทรวงพาณิชย์เขียนด้วยมือ ลบด้วยตีน

กระทรวงพาณิชย์ทำดีหลายอย่างในอดีต เช่น ตลาดกลางข้าว ทำให้ตลาดแข่งขันกัน แต่ทำด้วยมือลบด้วยตีนอีก เพราะทันทีที่คุณทักษิณเอาโครงการจำนำข้าวมา ก็ไม่มีใครอยากจะไปขายที่ตลาดกลางอีกต่อไป ไปขายให้รัฐบาลหมด

ถ้าเราไม่มีเอกชนที่แข่งขันกัน เรามีวันนี้ได้อย่างไร คนอื่นเขาอิฉจากันทั้งนั้น เราสร้างมาจนเข้มแข็ง เวลาประชุมเรื่องข้าวใครๆ ก็อาศัยไทย ทำไมเราไม่คิด เราคิดอยู่แค่อย่างเดียวว่า ช่วยชาวนาเยอะๆ ชาวนารวย ประเทศจะเปลี่ยนแปลง ก็พินาศ กลับมาที่ผมบอกว่าโชคดีมีพระสยามเทวาธิราช ทำให้มียุบสภา ขอบคุณคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ทำให้มันกลายเป็นแบบนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด