นณริฏ พิศลยบุตร และจิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก จากที่เคยมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง และมีอายุขัยที่ค่อนข้างสั้น กลายเป็นสังคมที่ประชากรมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำ และมีช่วงอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนแรงงานอายุมากมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงแรก เนื่องจากในช่วงแรกนั้น โครงสร้างประชากรจะมีกลุ่มแรงงานวัย 30-55 ปีในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีประสิทธิภาพแรงงานที่สูง ทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลประโยชน์จากประชากรในกลุ่มนี้มากขึ้น ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากสัดส่วนแรงงานของกลุ่มที่อายุมากกว่า 55 ปีจะเริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้น ในขณะที่แรงงานวัย 20-55 จะมีสัดส่วนที่ลดน้อยลง
ในกรณีของไทย งานวิจัยของ วรเวศม์ สุวรรณระดา (2556) พบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาสังคมสูงวัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมากกว่าที่ควรจะเป็น เกิดขึ้นเนื่องจาก ลูกจ้างภาคเอกชนทยอยออกนอกกำลังแรงงานตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องสูญเสียแรงงานที่มีศักยภาพอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้เอง มาตรการจูงใจลูกจ้างเอกชนในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปให้กลับเข้ามาในกำลังแรงงาน จึงอาจจะเป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบของปัญหาสังคมสูงวัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในแวดวงวิชาการจะวิพากษ์ถึงความเหมาะสมของนโยบายการขยายเวลาทำงานของคนกลุ่มอายุ 50-59 ดังกล่าวเพื่อชะลอปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อระบบเศรษฐกิจ แต่กระนั้น กลับยังไม่พบถึงงานวิจัยที่ประเมินผลกระทบของนโยบายจูงใจดังกล่าวต่ออัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จึงทำให้การวิพากษ์ขาดมิติในเชิงปริมาณในการเข้าถึงผลได้ของนโยบายจูงใจดังกล่าว
งานวิจัยของผู้เขียนและ ดร.จิระวัฒน์ (2556) ได้ทำการประเมินผลได้ของนโยบายการขยายเวลาทำงานของกลุ่มคนอายุ 50-59 โดยวิธีการ Simulation เพื่อวัดขนาดของปัญหาสังคมสูงวัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย รวมทั้งประเมินผลกระทบของนโยบายการขยายอายุทำงานในเชิงปริมาณ ทำให้ทราบว่ามาตรการจูงใจลูกจ้างเอกชนอายุ 50-59 ให้อยู่ในกำลังแรงงานจะช่วยชะลอผลกระทบของปัญหาสังคมสูงวัยได้มากน้อยเพียงใด
ผลการประเมิน (ดูรูปประกอบ) พบว่า นโยบายขยายอายุการทำงานของคนกลุ่มอายุ 50-59 ปีจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยได้เพียงร้อยละ 0.5-1.4 ในระยะสั้น (1-10ปี) เท่านั้น และจะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นในระยะยาวแบบ cumulative (ร้อยละ 5 ณ ปีพ.ศ. 2593) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับนโยบายทางเลือกอื่นๆ เช่น การเพิ่มเทคโนโลยีทางการผลิต จะพบว่ามาตรการข้างต้นให้ผลดีต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ไม่สูงมากนัก
ด้วยเหตุนี้เอง ด้วยผลประโยชน์ของนโยบายที่ค่อนข้างจำกัด หากภาครัฐมีความประสงค์ที่จะเลือกใช้มาตรการจูงใจลูกจ้างเอกชนกลุ่มอายุ 50-59 ปีให้กลับเข้าสู่กำลังแรงงาน ภาครัฐควรที่จะทำการพิจารณาศึกษาต้นทุนที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ และสังคมอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้แน่ใจว่าต้นทุนที่สังคมจะต้องแบกรับจากการปรับใช้นโยบายมีความเหมาะสมเมื่อเทียบกับผลได้พึงประเมินข้างต้น จึงจะทำให้นโยบายดังกล่าวส่งผลดีสุทธิต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
รูปแสดงผลการ Simulation ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยในกรณีสังคมสูงวัย และกรณีสังคมสูงวัยที่ปรับใช้นโยบายดึงลูกจ้างกลุ่มอายุ 50-59 กลับเข้ากำลังแรงงาน
ที่มา: ประมวลผลโดยผู้วิจัย
หมายเหตุ: ชุดโครงการโมเดลใหม่ในการพัฒนา
—
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 มีนาคม 2557