สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
แก้คอร์รัปชันยังมีหวัง ภาคเอกชนพร้อมร่วมแก้ปัญหา จี้ต้องกระตุ้นภาครัฐจริงใจเปิดเผยข้อมูล และผู้ปฎิบัติบางส่วนต้องหยุดพฤติกรรมบีบบังคับให้คนซื้อความได้เปรียบทางการแข่งขัน จะช่วยลดทุจริตคอร์รัปชั่นลงได้
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นคือปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนจนดูกลมกลืนไปกับความถูกต้องจนยากจะแยกออก นำไปสู่สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ในการสัมมนาเรื่อง “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นไว้อย่างน่าสนใจ โดยช่วงหนึ่งมีการนำเสนอเกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์ของภาคธุรกิจต่อปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย รวมถึงปัญหาของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กล่าวคือ
นายกิตติเดช ฉันทังกูล กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ได้เปิดเผยถึงผลการวิจัยศึกษาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย พบว่า กลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่าระดับความรุนแรงของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งจากผลการศึกษาการคอร์รัปชั่นในมุมมองของภาคเอกชนไทยสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจ 1,066 ราย ในปี 2556 พบว่า เอกชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 93 มองว่าการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยร้อยละ 68 ระบุว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก และ ร้อยละ 55 มองว่าเมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชั่นจะมีต้นทุนหรือสัดส่วนของธุรกิจที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ10 ซึ่งกระบวนการที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นมากที่สุดคือ การจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ รองลงมาคือขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ รวมทั้งการประมูลโครงการของภาครัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเจ้าหน้าที่รัฐอาศัยช่องโหว่จากกฎระเบียบสร้างโอกาสในการทุจริต ซึ่งรูปแบบการทุจริต 3 อันดับแรกคือ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การให้ของขวัญหรือติดสินบน และการทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มทุจริตมากที่สุด 3 อันดับแรกนั่นคือ ธุรกิจโทรคมนาคม การเกษตร พลังงานและสาธารณูปโภค
นางสิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยอมรับว่า การดำเนินการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีความล่าช้า เนื่องจากมีการแก้กฎหมายหลายครั้งและทำไปตามขั้นตอนการเก็บข้อมูลหลักฐานด้านเอกสารที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบและได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง โดยขณะนี้ ป.ป.ช.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบทุกโครงการของรัฐบาลอยู่
ทั้งนี้ นางสิริลักษณา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของ ป.ป.ช.ดำเนินการอย่างมีระบบและสามารถเชื่อมโยงได้หลายๆทาง ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาพิจารณาทำให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น แม้ว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยยังมีอยู่ แต่หากได้รับความร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปราบปรามทุจริตต้องทำหลายๆด้านจึงจะประสบผลสำเร็จ
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงผลการสำรวจข้อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) หน่วยงานในกำกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า หน่วยงานของรัฐยังคงถูกร้องเรียนโดยเฉพาะเรื่องไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง หรือเปิดเผยข้อมูลช้าถึงร้อยละ 30 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากนัก รองลงมาคือ การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐร้อยละ 19 ส่วนหน่วยงานส่วนท้องถิ่นกว่าร้อยละ 70 ไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 22 ถูกจัดอยู่ในระดับที่แย่-แย่มากในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ ซึ่งบางหน่วยงานไม่สามารถตรวจสอบจำนวนรายการจัดซื้อจัดจ้างได้ทั้งหมด เนื่องจากขาดฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่สมบูรณ์ รวมทั้งยังขาดรูปแบบบนเว็บไซต์ที่เป็นมาตรฐาน
นอกจากนี้ในการสัมมนายังพูดถึงความเป็นไปได้การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของทั้งในส่วนภาคธุรกิจและการปฎิรูปของภาครัฐ โดย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการคอร์รัปชั่นในประเทศจะสามารถขจัดสิ้นให้หมดไปได้ ควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดปัญหา โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการลดบทบาทอำนาจรัฐให้น้อยลง เนื่องจากการทุจริตส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ ซึ่งภาคธุรกิจแบ่งเป็น 3 พวก ได้แก่ 1.พวกที่ไม่ต้องพึ่งอำนาจคือไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นเลย เช่น ธนาคาร 2.พวกที่จำเป็นต้องจ่ายไม่เช่นนั้นดำรงชีวิตไม่ได้หรือเรียกว่าพวกถูกขู่กรรโชก ซึ่งเป็นต้นทุนภาระ 3.พวกที่จ่ายเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เพราะเป็นการจ่ายเพื่อการซื้อหาความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น การเซอร์เวย์ การสัมปทาน การล๊อคสเปค เป็นต้น
นายบรรยง ยังระบุอีกว่า ไทยมีการลงทุนในส่วนของการซื้อหาความได้เปรียบทางการแข่งขันมากเกินไป เพียงเพื่อต้องการให้ได้กำไรส่วนเกิน แต่กลับมองข้ามไปว่ากลไกอย่างนี้ส่งผลให้เกิดความบิดเบือนในทุกๆด้าน ส่งผลกระทบและนำความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจมากมายมหาศาล
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ทุกคนทราบดีว่าการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่กลับพบว่าในระบบฐานข้อมูลเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางไม่มีข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐมากนัก โดยหน่วยงานที่ฝ่าฝืนและไม่ทำการเปิดเผยข้อมูล คือ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
โดยนายประสงค์เสนอแนะว่า หากต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น ควรนำสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ออกจากการเป็นหน่วยงานของภาครัฐ และควรให้มีเว็บไซต์กลางสำหรับเปิดเผยข้อมูล เพื่อพัฒนาระบบค้นหาให้ดีและง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น
แม้การสถานการณ์คอร์รัปชั่นยังสูงอยู่ แต่ในภาพรวมพบว่ามีแนวโน้มความพยายามในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานต่างๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ผู้นำธุรกิจต่างพร้อมที่จะร่วมแก้ปัญหาและเชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชั่นสามารถแก้ไขได้หากทุกภาคส่วนร่วมมือ ซึ่งหน่วยงานที่ต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการทุจริตมากที่สุดคือ รัฐบาล และนักการเมือง โดยใช้กลยุทธ์การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิด ขณะที่บทบาทของภาคเอกชนต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนให้เครือข่ายภาคธุรกิจ ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งจะเป็นทางออกและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด.
ชมเทปบันทึกการสัมมนา “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย” ได้ ที่นี่