ชี้การเมืองยื้อเอสเอ็มอี ‘อ่วม’ เตือนดูแลสภาพคล่อง

ปี2014-04-01

‘ทีดีอาร์ไอ’ คาดการเมืองยื้อเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 3% ระดมทีมนักเศรษฐศาสตร์ทำตัวเลขจีดีพีอย่างเป็นทางการ เตรียมแถลงรายไตรมาส

“สมชัย” แนะเอสเอ็มอีรอบคอบทำธุรกิจ ดูแลกระแสเงินสดอย่างเคร่งครัด ชี้ยังไม่เกิดปัญหาว่างงานสูง แต่มีแนวโน้มผู้ประกอบการลดภาระหันจ้างงานเป็นรายชั่วโมงมากขึ้น เลี่ยงจ่ายค่าแรง 300 ตัดสวัสดิการหลังยอดขายหาย-กำไรหด แนะเอสเอ็มอีลงทุนเพื่อนบ้าน ลดความเสี่ยงจากการเมืองในประเทศ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มสูงที่จะขยายตัวได้น้อยกว่า 3% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังตั้งทีมขึ้นมาจัดทำตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2557 โดยจะใส่ปัจจัยต่างๆ ลงไปในการวิเคราะห์ลงไปอย่างรอบด้าน คาดว่าในอีกไม่เกิน 2 เดือนตัวเลขนี้จะแล้วเสร็จ และสามารถแถลงต่อสาธารณชนได้

โดยต่อไปทีดีอาร์ไอจะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาส พร้อมการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เข้าใจสถาการณ์การเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาต่างๆ ได้มากขึ้น

ส่วนปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีสายป่านในการดำเนินธุรกิจไม่ยาวนัก คือมีเงินทุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็มักจะมีความกังวลกับสถานการณ์แบบในปัจจุบัน ที่ยอดขายลดลง กำไรลดลง เอสเอ็มอีจำนวนมาก จึงกังวลว่าในที่สุดอาจส่งผลต่อ สภาพคล่องของธุรกิจ

สิ่งที่เอสเอ็มอีไทยต้องระวังมากในการดำเนินกิจการธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่แน่นอนคือ ต้องระมัดระวังเรื่องกระแสเงินสดมากที่สุด โดยมีแนวโน้มที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เพราะภาครัฐไม่สามารถออกนโยบายที่ช่วยเหลือได้เพราะรัฐบาลอยู่สถานะรัฐบาลรักษาการ มีปัญหาทางการเมืองที่ต้องจัดการมาก จนอาจลืมให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบกับไม่สามารถทำนโยบายใหม่เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้เพราะจะ เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งตามกำหนดของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“มีความจำเป็นที่เอสเอ็มอีต้องคาดการณ์เหตุการณ์ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คือหากขายสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ไม่ได้เลย เราจะจัดการกระแสเงินสดอย่างไร หรือจะมีแผนในการแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่บางรายการให้เป็นเงินสดได้อย่างไร หรือแม้กระทั่ง ความสัมพันธ์กับธนาคารในฐานะผู้ปล่อยกู้ ก็ต้องรักษาไว้ให้ดี เพื่อไม่ให้มีปัญหาการขาดสภาพคล่องจนต้องล้มเลิกกิจการ”

อย่างไรก็ตาม มองว่าการพยายามควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะไม่ส่งผลต่อการว่างงานของแรงงาน ที่อาจถูกนายจ้างเลิกจ้าง เพื่อควบคุมต้นทุนทางธุรกิจได้แต่มีความเป็นไปได้ ที่ผู้ประกอบการจะหาวิธีการลดรายจ่าย โดยการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง หรือการจ้างงานตามชิ้นงาน แทนการจ้างงานเต็มเวลาเพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท รวมทั้งเป็นการลดภาระสวัสดิการต่างๆ ที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้พนักงานประจำ ซึ่งผลกระทบก็คือแรงงานที่เป็นลูกจ้างของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีรายได้ต่อเดือนลดลง และต้องลดการบริโภคสินค้าต่างๆ ลงบ้าง เนื่องจากรายได้ลดลง ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ก็ยังมีหนี้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้ลดลง

หากมีความเป็นไปได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรดูลู่ทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหรือในอาเซียนให้มากขึ้น เพราะตลาดภายนอกมีแนวโน้มที่สดใส จากการเปิดประชาคมอาเซียนและภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองไปยังตลาดอื่นๆ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เอสเอ็มอีไทยความเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 เมษายน 2557