สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
วงเสวนาทีดีอาร์ไอเห็นพ้อง สังคมไทยตื่นตัวและมีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่กระจัดกระจายจำนวนมาก แต่ยังขาดการนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและยังไม่มีการนำเอาข้อมูลเชิงประจักษ์ไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เสนอควรมีศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลของทุกฝ่าย และมีการพัฒนาดัชนีฐานข้อมูล สถิติของการคอร์รัปชั่นที่เจาะลึกโดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ชูโมเดลเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง ระบุข้อมูลคืออาวุธที่จะต้านและลดคอร์รัปชั่นได้ในระยะยาว
การสัมมนาเรื่อง “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” ซึ่งทีดีอาร์ไอร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาฐานข้อมูลดัชนีและสถิติเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยวงเสวนาได้เสนอความคิดเห็นมุมมองของนักวิชาการได้อย่างน่าสนใจ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ปัจจุบันจะเห็นว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่มากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดทำระบบข้อมูลต้องดูวัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลไปใช้ อาทิ ในเชิงสาธารณะ ในเชิงนโยบาย และในเชิงวิชาการ แม้ว่าสังคมไทยจะมีความซับซ้อน แต่หากมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากศูนย์กลางที่มีการรวบรวมฐานข้อมูลของหน่วยงานแต่ละภาคส่วน จะทำให้สามารถจัดระบบข้อมูลและสถิติของแต่ละหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และหากมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องทุกปีก็จะสามารถทราบถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิเคราะห์ข้อมูลหรือการนำมาอ้างอิงในเชิงวิชาการ และขับเคลื่อนการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ด้านคุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเสริมว่า เราต้องสร้างดัชนีที่ไปไกลกว่าแค่ความคิดเห็น เป็นดัชนีที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นโดยข้อมูลที่เราจะใส่ลงไปเพิ่มเติมเพื่อทำให้เห็นในเชิงเจาะลึกมากขึ้น ซึ่งดัชนีตอนนี้คิดว่ามีเพียงพอและชี้ให้เห็นความรุนแรงของคอร์รัปชั่นระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่ต้องทำเพิ่มเติมคือการทำให้เห็นในเชิงเจาะลึกในรายสาขาธุรกิจมากขึ้น สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมสำหรับการเก็บข้อมูลของไทยคือ ข้อมูลในเชิงปริมาณที่เป็นตัวเลข โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆที่รัฐบาลเป็นผู้อนุมัติ ยกตัวอย่างเช่น โครงการสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งน่าจะมีข้อมูลที่เทียบเคียงเพื่อดูความแตกต่างได้จากประสบการณ์ของต่างประเทศ จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นคือผู้บริโภคข้อมูลเพื่อนำมาใช้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน จึงต้องการข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างรอบด้าน และมีข้อสังเกตข้อมูลคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประการแรก มีข้อมูลหรือดัชนีหลายตัวที่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการทุจริตคอร์รัปชันหากแต่สามารถสะท้อนสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันได้ เช่น ข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี 2554 ที่อธิบายเรื่องความพึงพอใจของประชาชนต่อบริการของภาครัฐ ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งให้เหตุผลถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนในการใช้บริการที่อาจสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมที่เป็นการทุจริตคอร์รัปชัน หรือ รายงานของมูลนิธิเพื่อคนไทยซึ่งอธิบายถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งรวมถึงปัญหาคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจไม่เป็นทางการหากสามารถสะท้อนความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ เช่น ผู้รับเหมาในเมืองไทย 40% เกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือกรณีข้าราชการซึ่งมีการสำรวจว่ามีข้าราชการสีดำที่มีเป้าหมายในการแสวงหาผลประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชัน 30% มีข้าราชการที่ดี 20% และข้าราชการสีเทาหรือที่เรียกว่า “กินตามน้ำ” 50% เป็นต้น
ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ควรศึกษาต่อว่า ข้าราชการส่วนใหญ่คือครึ่งหนึ่งที่เป็นข้าราชการสีเทา ๆ นั้นเข้าสู่กระบวนการทุจริตเพราะจำเป็นหรือเมื่อมีโอกาส ไม่ได้โกงเป็นนิสัย ถ้าสามารถไปเก็บข้อมูลนี้ได้ ก็รู้ว่าจะแก้อย่างไร ประการที่สอง มีข้อมูลจากการวิจัยที่มีทั้งความสอดคล้องและขัดแย้งกันอยู่ และยังไม่มีการนำมาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงที่มาของความขัดแย้งดังกล่าว เช่น ผลการสำรวจบางกรณีชี้ว่าคนในต่างจังหวัดให้ความสำคัญกับปัญหาคอร์รัปชั่นมากกว่าคนในกรุงเทพ หรือ อัตราการให้สินบนในประเทศไทยซึ่งข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าอัตราอยู่ที่ 20-25 แต่การสำรวจโดยหน่วยงานในประเทศไทยพบว่า 25-30% แต่ถ้าไปคุยกับธุรกิจก่อสร้างจะกล่าวถึงตัวเลข 7% เป็นต้น ซึ่งต่างจากตัวเลขก่อนหน้านี้อย่างมีนัยสำคัญ
ดร.มานะเสนอว่า ควรมีการนำดัชนีคอร์รัปชั่นที่มีอยู่มากมายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในรูปสถิติ หรือการให้คะแนนต่างๆนั้นมาจัดระบบ มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ทำให้เห็นความเชื่อมโยงในแต่ละหมวด ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่ชัดเจนสามารถนำไปใช้งานได้ทันที
เช่นเดียวกับ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าควรจะมีการพัฒนาศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันทั้งนี้หน่วยงานของรัฐควรมีการเก็บ “สถิติการทุจริตคอร์รัปชัน (corruption statistics)” เช่นกัน เช่น กระทรวงยุติธรรมเก็บข้อมูลจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน และ ลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเก็บข้อมูลสถิติการซื้อเสียงหรือรับสิ่งของเพื่อแลกกับคะแนนเสียง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บสถิติเกี่ยวกับความพึงพอใจของประชาชนต่อบริการของหน่วยงานท้องถิ่นเป็นต้น
เกาหลีใต้ที่เคยเป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นอันดับต้นๆแต่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากมีกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วนและมีการจัดทำดัชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชันที่หลากหลายทุกปี โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญมี3 ข้อ ได้แก่ 1.การคอรัปชั่นเกิดขึ้นที่จุดไหนบ้าง ซึ่งอาจได้มาจากการประเมินความพึงพอใจในการรับบริการของประชาชน หรือ การสำรวจความเห็นเกี่ยวกับระดับและความแพร่หลายของการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ 2. การคอร์รัปชันในแต่ละหน่วยงานมีระดับความรุนแรงหรือร้ายแรงแค่ไหน 3.การคอร์รัปชั่นในหน่วยงานนั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร และอาจจะเพิ่มข้อที่ 4 คือ ผลกระทบของการทุจริตคอร์รัปชันดังกล่าวเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันและการออกแบบยุทธศาสตร์หรือมาตรการในการต่อต้านคอร์รัปชันที่ถูกจุด
โดยสรุปวงเสวนายอมรับว่า ดัชนีวัดสถานการคอร์รัปชั่นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบและมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลเพื่อที่จะอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำมาเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์รูปแบบและแนวโน้มของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และในการออกแบบมาตรการในการต่อต้านคอร์รัปชันที่ตรงเป้า ดัชนีและข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นคือ คานงัดที่สำคัญบนเส้นทางการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะด้านหนึ่งเป็นการ “จับชีพจร” การทุจริตคอร์รัปชันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนในสังคม ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบยุทธศาสตร์และมาตรการในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ.