ภาวะผู้นำทางเศรษฐกิจ: ของหายากในสังคมไทย? (ตอนที่ 1)

ปี2014-04-24

สมชัย จิตสุชน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ท่านผู้อ่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเคยสงสัยไหมครับว่า ในระยะเกือบยี่สิบปีมานี้ ทำไมไทยเราถึงไม่มีข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่น่าประทับใจเอาเสียเลย

สมัยก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เราเคยมีภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู ส่งออกสินค้าใหม่ๆ จำนวนมากไปหลากหลายประเทศ นักลงทุนต่างชาติรุมตอมประเทศไทย เงินทองไหลมาเทมาจนเราฝันเฟื่องจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ของเอเชีย ควบคู่กับการแปลงร่างเป็นเสือตัวที่ห้าของภูมิภาคนี้ ในช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยมีข่าวดีเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอีสต์เทิร์นซีบอร์ด (eastern seaboard) การชักชวนให้ญี่ปุ่นมาลงทุนผลิตรถยนต์ในเมืองไทยสำเร็จ รวมทั้งนักลงทุนจาก ประเทศอื่นอีกจำนวนมาก

และหากถอยหลังไปไกลกว่านั้นเช่นในช่วง 10-15 ปีแรก ของการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ประมาณช่วงปี 2504-2520) เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายประการที่ทำให้คนไทยเริ่มลืมตาอ้าปากได้ มีนวัตกรรมด้านการเกษตรที่พลิกชีวิตชาวนาชาวไร่ ภาคเอกชนสะสมความเข้มแข็ง จนกลายเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาจนทุกวันนี้

ในขณะที่ไม่มีข่าวดี ข่าวร้ายกลับมาเยือนเราเป็นระยะ หนักบ้างเบาบ้าง การล่มสลายของฟองสบู่เศรษฐกิจจนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และความเสียหายทางเศรษฐกิจตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เราติดเชื้อมาจากข้างนอก และแน่นอนความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน

เหล่านี้ล้วนเป็นข่าวร้ายที่ดูเหมือนจะเกิดถี่ขึ้น ที่น่ากังวลใจยิ่งคือ หลายประเทศเพื่อนบ้านมิได้มีแต่ข่าวร้ายเช่นเรา ตัวอย่างคือ มาเลเซียกำลังก้าวย่างอย่างมั่นคงไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อินโดนีเซียมีพัฒนาทางการเมืองที่น่าทึ่งและกำลังกลายเป็นสวรรค์นักลงทุน เช่นเดียวกับเวียดนามที่ยังคงดึงดูดเงินทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ฟิลิปปินส์หลุดพ้นจากหล่มเศรษฐกิจที่ติดอยู่หลายสิบปีและจะกลายเป็นดาวดวงใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

คำถามคือทำไมไทยจึงดูไม่โดดเด่นอีกต่อไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเพราะเราโชคร้ายกว่าประเทศอื่นเขา หรือเป็นเพราะเราทำตัวเอง หลายคนคงอยากโทษปัญหาการเมืองว่าเป็นต้นเหตุ เช่น ถ้าไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งของคนในชาติ ป่านนี้เราคงได้เห็นข่าวดีเช่นการเดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูง การเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ของภูมิภาค เป็นต้น

ผมเองไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องของโชคและไม่คิดว่าการเมืองเป็นสาเหตุของทุกปัญหา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศบ่งชี้ว่าโชคมีผลน้อยมาก เช่น บางประเทศที่ไม่ได้มั่งมีทรัพยากรธรรมชาติ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าที่เราขาดข่าวดีและมีแต่ข่าวร้ายนั้นเป็นเพราะเราทำตัวเราเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นเพราะเรายังขาดอะไรบางอย่างที่สำคัญยิ่งในการทำให้ประเทศก้าวหน้ามากกว่านี้ จัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่านี้

ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราขาดคือภาวะผู้นำ (leadership) ที่ดี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราขาดผู้นำที่ดีเป็นคนๆ ไป เช่น หลายคนอาจคิดว่าเราน่าจะมีผู้นำอย่างนายลี กวน ยู ของสิงคโปร์ หรือนายปาร์ค จุง ฮี ของเกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นการคาดหวังที่ไม่ถูกต้อง เราควรคาดหวังว่าสังคมไทยสามารถสร้าง “มวลผู้นำ” ขึ้นมาในหลากหลายองค์กรและสถานะ ทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการ และภาคเอกชน

เราจะสร้างมวลผู้นำขึ้นมาได้นั้น คำถามแรกที่ต้องตอบคือ ผู้นำที่ดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวควรมีคุณสมบัติอย่างไร? ในรายงานของ “คณะกรรมการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” หรือ Growth Commission กล่าวว่าผู้นำจะต้องสามารถผสมผสานวิสัยทัศน์ (insight) ประสบการณ์ และทักษะทางการเมือง ในการหาจุดสมดุลระหว่างขั้วอำนาจเพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่นำความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศโดยรวม โดยต้องทำหลายเรื่องที่สำคัญคือ

(ก) ใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ทั้งในการป้อนอุปสงค์ให้เศรษฐกิจไทยและเป็นอุปทานขององค์ความรู้ (ข) ต้องทำให้เศรษฐกิจที่มีการแข่งขันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่เอื้อต่อการขยายตัวระดับมหภาค (ค) สร้างความชัดเจนและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ (ง) ปรับปรุงภาคราชการให้มีประสิทธิภาพ (จ) ทำการเมืองให้มีเสถียรภาพเพื่อให้มีการลงทุนต่อเนื่องแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้กุมอำนาจทางการเมืองก็ตาม

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการขยายตัวทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นข้อเสนอกว้างๆ สำหรับประเทศโดยทั่วไป ในตอนหน้า ผมจะเขียนถึงข้อเสนอแนะของผมว่าในบริบทของสังคมไทยนั้น เราควรจะจัดลำดับความสำคัญของมาตรการที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (จนหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ผมเคยเขียนถึงก่อนหน้า) อย่างไร และผู้นำแบบใดที่เราต้องมี เพื่อให้แน่ใจว่าจะนำมาตรการเหล่านั้นมาปฏิบัติจนเห็นผลจริง โดยครอบคลุมทั้งผู้นำในภาครัฐและภาคเอกชน

ภาวะผู้นำทางเศรษฐกิจ: ของหายากในสังคมไทย? (ตอนที่ 2)


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 เมษายน 2557