‘มูดี้ส์’ ขู่ลดเครดิต-การเมืองยื้อ เชื่อมั่นอุตฯ ต่ำสุดรอบ 57 เดือน

ปี2014-04-29

พิษการเมืองลามหนัก เอสเอ็มอีส่อเจ๊งนับแสนราย ส.อ.ท.เผยความเชื่อมั่นอุตฯ ต่ำสุดรอบ 57 เดือน ส่งผลการบริโภคชะลอตัว

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนมีนาคม 2557 จำนวน 1,107 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.7 ของเดือนกุมภาพันธ์ ค่าดัชนีฯดังกล่าวปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 57 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอยู่ในภาวะอ่อนแอจากปัญหาการเมือง ทำให้การบริโภคชะลอตัว ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายลดลง ขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ และผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นลงทุน หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาวและความพร้อมในการเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ดังนั้น ภาครัฐต้องจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ พบว่าความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมกลางและอุตสาหกรรมขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปรับตัวลดลงจากในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากปล่อยให้สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน นับจากเดือนพฤษภาคมนี้ต่อเนื่องไปถึงปลายปี จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับ ผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี อาจทำให้ต้องปิดกิจการสูงกว่า 1 แสนราย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่พึ่งพาการค้าปลีกภายในประเทศเป็นหลัก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรเตรียมรองรับโดยเตรียมสำรองเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอถึงสิ้นปี อาจต้องยอมกำไรต่ำ หรือขาดทุนเล็กน้อย เพื่อให้มีกระแสเงินสดเข้ามาหมุนเวียนธุรกิจ เชื่อว่าหลังจาก 6 เดือนผ่านไปแล้วการเมืองจะกลับมาดีขึ้น จากนั้นความมั่นใจการบริโภค การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะตามมาอย่างรวดเร็ว เพราะโครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง มีเพียงปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองความไม่มั่นคงทางการเมือง

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ในส่วนของ ส.อ.ท.จะเข้าไปช่วยเจรจากับรัฐบาล และสถาบันการเงิน ให้ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอี รวมทั้งการขอให้ธนาคารยืดเวลาชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีก 3-6 เดือน เร็วๆ นี้ จะเข้าไปหารือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้ช่วยค้ำประกันหนี้ให้กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง ขณะที่รัฐบาลควรเร่งผลักดันงบประมาณปี 2558 เพื่อให้มีงบลงทุนออกมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีให้ดำเนินกิจการต่อไปได้

นายสุพันธุ์กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุดมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีกำหนดหารือกับรัฐบาลในวันที่ 30 เมษายน เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง และหลายฝ่ายเริ่มมีแนวโน้มหันหน้ามาเจรจากัน ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มเปิดการเจรจาเช่นกัน ทำให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลาย เป็นประโยชน์กับประเทศ ถ้ามีความตั้งใจจริง หากมีการกำหนดการเลือกตั้งใหม่ชัดเจนและทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลาย สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนมากขึ้น

นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธาน ส.อ.ท. ดูแลสายงานการค้าชายแดน กล่าวว่า การค้าชายแดนในปี 2556 มีมูลค่าประมาณ 9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกประมาณ 5 แสนล้านบาท และการนำเข้า 4 แสนล้านบาท ปี 2557 คาดว่าส่งออกชายแดนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 20-30% เมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากในระดับ 7-8% โดยการส่งออกผ่านแดนไปยังประเทศพม่าจะขยายตัวมากที่สุดประมาณ 20-30% เนื่องจากมีประชากรกว่า 60 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง รถยนต์มือสอง เครื่องอุปโภค บริโภค กัมพูชาจะขยายตัวประมาณ 10% สปป.ลาวจะขยายตัวประมาณ 15-20% โดยสินค้านำเข้าหลักจะเป็นวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และบางส่วนวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และบางส่วนเป็นสินค้าผ่านแดนไปยังเวียดนาม และจีนตอนใต้

นางแก้วเก้า เผอิญโชค นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ทีเอเอสเอ็มอี) เปิดเผยในงานสัมมนา ร่วมพัฒนาเอสเอ็มอีไทยสู่ความยั่งยืนว่า หากการเมืองยังขัดแย้งยืดเยื้อไปถึงปลายปี กังวลว่าจะมี เอสเอ็มอีต้องปิดกิจการ จำนวนน่าจะใกล้เคียงกับที่ ส.อ.ท. ประมาณคือ 1 แสนราย เพราะขณะนี้กำลังซื้อชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคยังเติบโตต่อเนื่องแต่อาจลดปริมาณลง อยากให้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่กิจการต่างๆ เล็ง เห็นถึงผลกระทบต่อเอสเอ็มอี เพราะหากบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ แต่เอสเอ็มอีต้องเข้าไปอยู่ในโซนอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีไม่มีศักยภาพมากขนาดนั้น

นายวิชัย โภชนะกิจ รองอธิบดีพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเตรียมพร้อมเข้าเออีซี เพราะจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพราะสามารถเชื่อมโยงได้ทุกประเทศ เกิดความได้เปรียบ ดังนั้น สินค้าจากเอสเอ็มอีไทยสามารถเข้าถึงตลาดเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น แต่ต้องมาจากการเตรียม พร้อมที่ดีเช่นกัน

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส (มูดี้ส์) ได้แถลงข่าวบทวิเคราะห์เกี่ยวกับประเทศไทย โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ Baa1 และมีแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ เป็นผลมาจากสถานะทางการเงินของรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากต้นทุนการระดมทุนต่ำและโครงสร้างหนี้เอื้ออำนวย รวมทั้งความผันผวนจากปัจจัยภายนอกมีอยู่อย่างจำกัด ปัจจัยหลายด้านเกี่ยวข้องกับการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะที่ดี เมื่อเปรียบเทียบเกี่ยวข้องกับการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2557 หรือหากความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบเชิงลบไปยังภาคการท่องเที่ยวหรือภาคการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หากต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะดุลการชำระเงินอ่อนแอลงโดยฉับพลัน รวมทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะเป็นผลลบต่อความน่าเชื่อถือเช่นกัน ยังไม่มีความชัดเจนว่าการจัดการเลือกตั้งรอบใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด มูดี้ส์เห็นว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงจุดส่งผลให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างฉับพลัน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบเชิงลบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2558 ล่าช้านั้น คาดว่าจะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินลงทุนโครงการภาครัฐ มูลค่าหลักแสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่คาดว่างบประจำจะสามารถเบิกจ่ายได้ โดยใช้วงเงินตามงบประมาณปี 2557 อย่างไรก็ตาม พบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปีนี้ มีความล่าช้าบ้างและบางโครงการก็ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้

“หากสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมตามที่ กกต.คาด จะมีรัฐบาลใหม่และมีสภาในช่วงเดือนกันยายน เข้ามาจัดทำงบใหม่ จัดทำงบปีหน้าไม่ทันแน่นอน เพราะกระบวนการต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนกว่าจะแล้วเสร็จใช้ได้จริง” นายสมชัยกล่าว และว่า มีความเป็นห่วงว่าในภาวะเศรษฐกิจซบเซาจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย เพราะเริ่มเห็นสัญญาณว่า ช่วงเวลาการทำงานเฉลี่ยต่อคนลดลงไป สะท้อนถึงค่าจ้างลดลงด้วย ส่งผลต่อการบริโภคได้ ส่วนกรณีกระทรวงการคลังมีแนวคิดจัดทำงบประมาณปี 2558 ขาดดุล 5 แสนล้านบาท จากงบประมาณในปี 2557 ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีความเป็นไปได้ที่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา เป็นหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ความเป็นไปได้ที่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา เป็นหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง

นายสมชัยกล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกเดินสายเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทย ว่า ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เป็นทางสายกลางทำให้คู่ขัดแย้งได้มีโอกาสหารือกัน เพราะฝ่าย นปช.ต้องการเลือกตั้ง ส่วนฝ่าย กปปส.ต้องการปฏิรูปก่อน แนวทางของนายอภิสิทธิ์คือทั้งปฏิรูปและการเลือกตั้ง

“ต้องคุยกันว่าอะไรจะปฏิรูปได้ก่อนการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งจะปฏิรูปอะไร จะต้องประกันว่าการปฏิรูปและการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริง คู่ขัดแย้งต้องสละจุดยืนของตนเอง คาดว่านายอภิสิทธิ์อาจจะไปหารือกับนายสุเทพ และทางฝั่งอดีต นายกฯ ทักษิณ หรือคนที่มีอำนาจจริง แต่เป็นการกระทำทางลับ” นายสมชัยกล่าว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้พูดคุยเอกอัครราชทูตของหลายประเทศ ทราบว่าแต่ละประเทศกังวลและเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเรื่องของเม็ดเงินลงทุนที่ยังไม่ลงไป ตลอดจนความไม่แน่นอน และความไม่มั่นใจของนักลงทุน ผู้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยต้องพิจารณาว่าอนาคตในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทยจะไปในทิศทางใด จากกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ทำให้ต้องหาวิธีอื่น ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้าทำตรงนี้ ทำให้งบลงทุนในร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ต้องถูกบรรจุใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังนั้นต้องเร่งรัดให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพื่อเรียกความมั่นใจของนักลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเขากำลังจับตามองตรงนี้ ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่เออีซี ขณะเดียวกันนักลงทุนไม่ได้มองแค่ประเทศไทย แต่ยังมองถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงต้องช่วยกันดูว่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะเสียไปหรือไม่


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 เมษายน 2557