เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2557 ที่ผ่านมา มูลนิธิเอเชียร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้จัดการสัมมนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคในหัวข้อ “การปรับทัพ AEC ให้สอดคล้องกับ SMEs” หรือ “Making ASEAN Economic Community Work for SMEs” โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ SMEs และนักวิชาการ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ
หุ้นส่วนประเทศไทยจึงนำมาเสนอข้อคิดเห็นของผู้นำทางความคิดและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศเพื่อจะได้เห็นภาพ
เวอโรนิค ซัลส์-โลแซค ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ มูลนิธิเอเชีย กล่าวว่า มูลนิธิเอเชียมีความตั้งใจในการส่งเสริมกิจกรรม SMEs ในภูมิภาคอาเซียนและการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อ SMEs ภายใต้กรอบของ AEC ด้วยตระหนักดีว่าเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากถึง 90%ของผู้ประกอบการทั้งหมด และมีการจ้างงานกว่า 60% ของการจ้างงานรวม สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 32-50%ของจีดีพี
แต่ที่ผ่านมาพบว่าในการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีส่วนร่วมน้อยมากส่วนใหญ่จึงยังมีปัญหา การขาดเงินทุน ข้อมูลในการทำธุรกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 นี้
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปีหน้านั้น มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงเน้นการเสริมความรู้ ข้อมูล และหาประสบการณ์ในการเตรียมตัวสำหรับการเข้าสู่ AEC ทั้งในเชิงรุกในการไปทำธุรกิจทั้งในด้านการค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และเชิงรับในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเข้ามาของธุรกิจของประเทศสมาชิก
ต้องเรียนรู้ในเรื่อง1) การขยายตัวการค้าภายใต้ AEC 2) โอกาสการลงทุนใน AEC 3) การพัฒนา SME เพื่อรองรับAEC และ 4) ประสบการณ์ของSMEs ที่ประสบความสำเร็จในอาเซียน
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย การเปิดประชาคมอาเซียนถือเป็นความท้าทาย เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยควรเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ เพราะตลาดภายนอกอย่างเออีซีมีแนวโน้มสดใสและภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในขณะที่ตลาดภายในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรดูลู่ทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหรือในอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจในประเทศได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดี
ศก สีพนา ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า โอกาสของเอสเอ็มอีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นอยู่ที่มุมมอง โดยส่วนตัวมองในแง่บวกว่าเออีซีคือโอกาส หากเอสเอ็มอีสามารถจัดวางตำแหน่งตัวเอง ในบริบทของเออีซีสำหรับเอสเอ็มอีคือเรื่องของการนำไปใช้
เป็นเรื่องการปฏิบัติซึ่งจะพบว่าตอนนี้แต่ละประเทศต่างพยายามกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NBT) มากีดกันทางการค้า
ศก บอกว่า ปัจจุบันในประเทศกัมพูชามี1.4 หมื่นรายการขณะที่ในประเทศลาวมีถึง 1.8 แสนรายการ ซึ่งในอาเซียนก็ยังไม่มีฐานข้อมูลกลางที่จะรู้ได้ว่าในแต่ละประเทศมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอะไรบ้างประเทศต่างๆ จึงควรร่วมมือกันทำฐานข้อมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการของแต่ละประเทศสามารถมาเรียนรู้เตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำธุรกิจได้
สิ่งเหล่านี้เอสเอ็มอีจะต้องศึกษาให้ละเอียดต้องกำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนและแนวทางปฏิบัติในข้อกำหนดต่างๆ เพราะในบริบทเออีซีสิ่งที่เอสเอ็มอีเผชิญจะไม่เหมือนกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจมากกว่า
การเตรียมความพร้อมของเอสเอ็มอีของประเทศต่างๆในอาเซียน ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด อย่ากลัวการเปิดเออีซี ต้องมองภาพใหญ่ที่เป็นโอกาสรออยู่ ต้องมองว่าทำอย่างไรเอสเอ็มอีจะสามารถผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของอาเซียนหรือของโลกที่มีการเติบโตมากขึ้นได้ในอนาคต
นั่นคือต้องให้ความสำคัญกับการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ๆ ที่ดำเนินการถูกต้องในประเทศนั้นๆ หรือการจับคู่ธุรกิจแทนการเข้าไปแข่งขัน ซึ่งทำได้ยาก วิธีการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายระดับมหภาคได้
อย่างไรก็ตาม หากเอสเอ็มอีมีการเตรียมความพร้อมที่ดี มีข้อมูล เข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ และสิ่งที่จะทำให้เอสเอ็มอีอยู่รอดได้ในเออีซีคือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและครบครัน จะทำให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปลาใหญ่กินในที่สุด
นี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เอสเอ็มอีก้าวกระโดดหรือประสบความสำเร็จได้ในเออีซี
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 เมษายน 2557