tdri logo
tdri logo
18 เมษายน 2014
Read in Minutes

Views

โพสต์ทูเดย์รายงาน: ทีดีอาร์ไอแนะรื้อกฎหมายคัดบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

ปัญหาตลอดกาลของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในประเทศไทยที่ไม่สามารถบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและประสบผลขาดทุนเป็นส่วนใหญ่นั้น สาเหตุหลักสำคัญมาจากการที่ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง คัดเลือกบุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้าเป็นผู้บริหาร รวมทั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ จนก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ทั้งเรื่องการให้บริการประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การสูญเสียงบประมาณและการแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงได้ทำการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของการคัดเลือกผู้มาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ

ทั้งเนื่องจากเห็นว่ากรรมการรัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแลการบริหารกิจการ การตัดสินใจ การวางแผนนโยบายและวางแผนกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐวิสาหกิจการได้มาซึ่งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจนและโปร่งใส ทั้งการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและวิธีการแต่งตั้ง

ที่ผ่านมา ได้มีการออก พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 แต่ทีดีอาร์ไอพบว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นเพียงหลักเกณฑ์กว้างๆ และยังคงอาศัยดุลพินิจของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งเป็นหลัก ทำให้มีการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจในลักษณะการให้รางวัลบ้าง เพื่อหาผลประโยชน์บ้างหรือเพื่อแทรกทางการเมืองรวมถึงมีการถอดถอนกรรมการออกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ผลที่ตามมาคือ กรรมการรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการแต่งตั้งขาดความรู้ความสามารถที่จำเป็นในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

ทีดีอาร์ไอจึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายคุณสมบัติมาตรฐานฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นเพื่อให้การแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการที่มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ประกอบด้วย

1. แก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 9 พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ โดยกำหนดให้มติของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ยกเว้นให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสามารถเข้าทำงานได้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการที่มาประชุมและให้การลงมติต้องกระทำโดยลับ

2. แก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 10 พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ โดยตัดอำนาจของรัฐมนตรีคลังในการยกเว้นการดำเนินกระบวนการสรรหาสำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีเหตุผลจำเป็นพิเศษออก เพื่อมิให้รัฐมนตรีคลังสามารถใช้ดุลพินิจเกินกว่าที่ควรจะเป็น

3. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 255 วรรคหก โดยกำหนดห้ามข้าราชการอัยการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อลดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการอัยการ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 255 วรรคหก ที่ต้องการให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงบัญญัติว่า “พนักงานอัยการต้องไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกันเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอัยการ” อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นดังกล่าวทำให้คณะกรรมการอัยการใช้ดุลพินิจอนุมัติให้อัยการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อรัฐวิสาหกิจกระทำผิดกฎหมาย หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายจำเป็นต้องเสนอเรื่องผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาฟ้องร้องผู้กระทำผิดต่อศาล หากข้าราชการอัยการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดอาจไม่ดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับตัวเอง จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 วรรคหกดังกล่าว

4. ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการคัดสรรบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อโดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการจัดทำบัญชีรายชื่อและปรับปรุงแก้ไขคุณสมบัติของบุคคลในบัญชีรายชื่อให้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจมากขึ้น โดยอย่างน้อยควรกำหนดให้ต้องผ่านการสอบหลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับกรรมการที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เพื่อให้บุคคลในบัญชีรายชื่อมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน รวมทั้งประเมินและวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงของรัฐวิสาหกิจได้

5. ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ต้องเปิดเผยกระบวนการคัดเลือกกรรมการ โดยอย่างน้อยควรต้องระบุสาขาความเชี่ยวชาญของกรรมการนั้นๆและให้เหตุผลประกอบว่ามีความเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ อย่างไร และหากไม่ได้กรรมการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ควรกำหนดให้ต้องคัดเลือกกรรมการจากบุคคลในบัญชีรายชื่อ

6. ในระยะต่อไป เมื่อการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจแล้ว ควรกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการของรัฐวิสาหกิจว่าต้องไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เพื่อลดปัญหา

บทบาทที่ขัดแย้งกันและปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง หน่วยงานนั้นๆ ควรส่งตัวแทนที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ได้เสียมาดำรงตำแหน่งแทนที่จะเป็นข้าราชการประจำ โดยเลือกมาจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจแทน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 เมษายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด