‘เมนูคอร์รัปชัน’ หนังสือดีที่ทุกสีต้องอ่าน

ปี2014-05-01

ชำนาญ จันทร์เรือง

ปกหนึ่งในประเด็นข้อพิพาทระหว่างสี ที่ต่างฝ่ายต่างยกมาโจมตีกันในขณะนี้ ก็คือการทุจริตคอร์รัปชัน โดยฝ่าย กปปส. ก็โจมตีว่ารัฐบาลภายใต้อิทธิพลของระบอบทักษิณเป็นภัยร้ายที่กินบ้านกินเมือง ทุจริตคอร์รัปชัน จำเป็นต้องกำจัดไปให้สิ้นซาก และอีกฝ่ายตีโต้กลับว่าคุณสุเทพภายใต้เงาของพรรคประชาธิปัตย์ก็ทุจริตคอร์รัปชันอย่าง เลวร้ายเช่นกัน โดยต่างฝ่ายต่างยกคดีหรือ กรณีต่างๆ มาแฉต่อสาธารณะ แต่ด้วยเหตุที่สื่อ ส่วนใหญ่ได้เลือกข้างไปเสียแล้ว สื่อจึงเลือกเสนอแต่เพียงด้านใดด้านหนึ่งที่ตนเองเลือกข้างเท่านั้น และฝ่ายที่เลือกข้างใดก็เลือกที่จะเลือกเชื่อข้อมูลของฝ่ายตนเท่านั้น

นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “TDRI” ซึ่งบางครั้งก็ถูกมองว่าเอียงไปทางเหลือง (กรณีจำนำข้าว) บางครั้งก็ถูกมองว่าเอียงไปทางแดง (กรณีสองเอาสองไม่เอา) ได้จัดพิมพ์หนังสือ “เมนูคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์” ซึ่งเรียบเรียงจากโครงการ “คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์” ขึ้น โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลของการคอร์รัปชันตั้งแต่เบาไปหาหนัก ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคดีหรือกรณีต่างๆ นั้นเกิดในสมัยใดและใครเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง

การนำเสนอเป็นการนำเสนอในลักษณะของกรณีศึกษาจำนวน 35 กรณี ซึ่งมาจากการรวบรวมการนำเสนอข่าวโดยสื่อมวลชนและกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ โดยมีคณะผู้จัดทำซึ่งประกอบไปด้วยสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ / ปกป้อง จันวิทย์ / อิสร์กุล อุณหเกตุ / ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ / กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ และสาโรช ศรีใส

เนื้อหาของหนังสือเริ่มจาก “ออร์เดิร์ฟ : เรียกน้ำย่อย” ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการสมาร์ทการ์ด บัตรไม่ฉลาด / ผู้ใหญ่รวมหัว ฮั้วนมโรงเรียน / ใบอนุญาต “ซานติก้า” คร่า 66 ศพ / อมเงินช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วม / คนกรมศุลฯปั้น “สายสืบปลอม” เบิกรางวัลนำจับ / มายาโกงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ / สปส. เล่นแร่แปรธาตุ โยกเงินประกันสังคมเช่าคอมพ์
หลังจากนั้นก็ติดตามมาด้วย “จานหลัก : อิ่มเต็มคำ” ซึ่งประกอบไปด้วย “จำนำข้าว” ฉาวทุกเม็ด / หลอกชาวบ้าน อ้างพอเพียง / กั๊กโควตา “กากถั่วเหลือง” / ผลประโยชน์ทับซ้อนของบอร์ด ปตท. / โรงไฟฟ้าบางคล้ากับ EIA ที่หายไป / แอร์พอร์ตลิงค์เจ๊ง รฟท. จุก / “คิง เพาเวอร์” ใหญ่คับสุวรรณภูมิ / รื้อสัมปทานลานจอดรถสุวรรณภูมิ / บ้านเอื้ออาทร เอื้อพวกพ้องผู้รับเหมา / เรื่องน้ำเน่า โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน / เมื่อกระทรวงหมอเลือกข้างพ่อค้ายา / ส.ป.ก. 4-01 แจกที่ดินเศรษฐี / ประมูลกล้ายางบนความทุกข์เกษตรกร / “โฮปเวลล์” กับค่าโง่เสาตอม่อ 9,000 ล้าน

นอกจากนั้ยังมี “เปิบพิสดาร : สากกะเบือยันเรือขุด” ที่ทำให้เห็นว่าอะไรจะขนาดนั้น คือ “เรือขุดหัวสว่าน” ซื้อของ แต่ไม่ได้ของ / GT 200 ไม้ล้างป่าช้าราคาแพง / เงินบริจาคสึนามิล่องหน / ค่าโง่พันล้าน ที่ราชพัสดุหมอชิต / ฮุบที่ธรณีสงฆ์ เนรมิตสนามกอล์ฟอัลไพน์ / นำเข้ารถหรู เลี่ยงภาษีหมื่นล้าน / สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ เซ็นปุ๊บ อนุมัติปั๊บ

ปิดท้ายด้วย “ของหวาน : ทานง่าย อร่อยทุกมื้อ” ที่เอากันดื้อๆ คือ แป๊ะเจี๊ยะหลักแสน แย่งเก้าอี้นักเรียน / เปลี่ยนอุทยานให้เป็นรีสอร์ต / ผู้พิทักษ์เศรษฐกิจนอกกฎหมาย / องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กินรวบครบวงจร / ทำผิดจ่ายถูก-ทำถูกจ่ายแพง วิบากกรรมแรงงานต่างด้าว / “องค์การค้าคุรุสภา” งาบจัดซื้ออุปกรณ์การเรียน / เรื่องลับๆ ของท่านผู้พิพากษา

ในการนำเสนอข้อมูลนอกจากจะทำอย่างเป็นระบบด้วยการนำเสนอปูมหลัง เส้นทางผลประโยชน์ สถานะของคดี ผลกระทบต่อประชาชนแล้ว ยังทำเป็นแผนภูมิหรือกราฟฟิกที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย พร้อมกับอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งทำให้เราทราบว่าการทุจริตคอร์รัปชันนั้นปรากฏอยู่ในแทบทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคเล็กพรรคใหญ่ พรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน หากได้ขึ้นมาเสวยอำนาจเมื่อใดก็มักจะทุจริตคอร์รัปชันเสมอ

การทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้มีเพียงเฉพาะนักการเมืองระดับชาติเท่านั้น แต่แทรกซึมไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงระดับปัจเจกบุคคล หรือกระทั่งโกงกันเป็นขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการผู้พิพากษาตุลาการ

ปัญหาคอร์รัปชันจะไม่มีวันแก้ไขได้เลยเป็นอันขาด ถ้าตราบใดการปกครองของบ้านเรา ยังปกครองด้วยระบบธนาธิปไตย ใช้อำนาจเงินกรุยทางเข้าสู่ความเป็นใหญ่ทั้งในทางการเมืองและราชการประจำ คนที่อยู่ในวงราชการที่กินแต่เงินเดือนนั้นก็พออยู่ได้ แต่ทว่าไร้เพื่อนพ้อง ไร้บริวาร บางทีก็มีอันตราย เพราะไปขัดขวางผลประโยชน์หรือขัดใจเพื่อนฝูง ขัดใจผู้บังคับบัญชา ขัดใจนักการเมือง ไม่ว่าในระดับชาติหรือในระดับท้องถิ่นแล้วเราจะแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ข้าราชการไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองนั้น อันที่จริงก็เป็นลูกหลานชาวบ้าน เมื่อต้นแบบหรือสังคมส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ผลที่ได้ก็เป็นเช่นนั้น ป่วยการที่จะโทษกันไปโทษกันมา ถ้าสังคมหรือต้นแบบมีคุณธรรม จริยธรรมแล้ว ข้าราชการหรือนักการเมืองซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมก็จะดีด้วย

ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเร่งให้การศึกษาทั้งทางด้านจริยธรรมและความมีระเบียบวินัย สร้างความเข้าใจแก่สังคมให้เห็นว่า การคอร์รัปชันนั้น แม้แต่เพียงการรับสินน้ำใจก็เป็นความผิดแล้ว ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ลูบหน้าปะจมูก หรือเลือกปฏิบัติแล้วไซร้การคอร์รัปชันก็ย่อมจะทุเลาลงได้ ถึงแม้จะใช้เวลาเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม

อ่านบทความนี้จบแล้วอย่าลืมไปซื้อหามาอ่านเพื่อรู้ทันการคอร์รัปชันของไทยเราเสียนะครับ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 เมษายน 2557