ความท้าทายของนักวิจัย

ปี2014-05-07

วีระพันธ์ โตมีบุญ

บางคนเข้าใจว่า งานวิจัยเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ทำแล้วไม่ได้ใช้ แต่ในความเป็นจริง ผลงานนั้นคือประโยชน์ทั้งทางการศึกษา และการนำไปต่อยอดพัฒนา นักวิจัยจึงเป็นผู้มีหน้าที่สำคัญที่จะหาความหมายทั้งทางกว้างและลึกในเรื่อง ต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านนโยบายสาธารณะ

นักวิจัยรุ่นใหม่ ก็ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นก่อน ๆ ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรต่อยอด และอะไรที่ควรระวัง โดยได้มีงานสัมมนา “การก้าวสู่งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและนโยบายสาธารณะ จะสร้างความท้าทายได้อย่างไร?” จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยอาวุโส ให้เข้าใจการสร้างงานวิจัยและการยกระดับงานวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างฐานความรู้และการต่อ ยอดความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตรและนโยบายสาธารณะ
ซึ่งจะเป็นการจุดประกายการใช้ความรู้ ในการติดตาม และชี้แนะให้กับสังคมไทย

ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายตอนหนึ่งว่า อยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้แต่ยังขาดประสบการณ์การทำวิจัยในบริบทต่าง ๆ นำประสบการณ์ของท่านไปเป็นตัวอย่างในการทำวิจัยที่ตอบโจทย์วิจัยที่เป็นข้อถกเถียงได้อย่างตรงประเด็น โดยยกตัวอย่างนโยบายข้าว ที่มีทฤษฎีและโจทย์ที่ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ส่งผลกับความเชื่อ ที่ผู้กำหนดนโยบายมีต่อเกษตรกรและประชาชน โดยปัญหาที่น่าสนใจคือ ข้าว ทั้งด้านมูลค่าข้าวส่งออกและราคาพรีเมี่ยม อันเป็นผลพวงมาจากภาระของเกษตรกรที่ต้องเสียให้กับรัฐบาลปลายทาง

ตอนหนึ่ง ศ.ดร.อัมมาร ระบุว่า สิ่งที่ท้าทายและต้องต่อสู้จนทุกวันนี้คือ แนวคิดที่ให้ราคาข้าวเริ่มต้นจากต้นทุนของเกษตรกรบวกค่าขนส่ง ซึ่งเป็นการคิดแบบสินค้าอุตสาหกรรม ไม่ใช่กับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยอธิบายว่า ข้าวที่ได้มาไม่ได้อยู่ในเขตที่มีต้นทุนต่ำเสมอไป ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและพื้นที่ห่างไกล แต่ข้าวและสินค้าเกษตรหลายอย่างรวมอยู่ที่ตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยความต้องการของคนทั่วประเทศและทั่วโลกจะมีผลต่อตลาดกลางเหล่านี้ ความต้องการและต้นทุนจึงสะท้อนเป็นราคาต่อรองซื้อขาย และเป็นประเด็นที่ต้องวิจัย จะใช้ความเชื่อที่เริ่มต้นจากเกษตรกรแล้วบวกต้นทุนหรือไม่ เหตุใดพ่อค้าจึงกดราคา งานเกี่ยวกับสินค้าเกษตรจะดีมากถ้าเข้าใจการประยุกต์ทฤษฎีอุปสงค์ อุปทานและกลไกตลาด การต่อสู้กับพลังอุปสงค์ อุปทานที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาด

“ราคาสินค้าไม่ได้เริ่มจากต้นทุนการผลิต แต่กลไกตลาดกลางไม่ได้สนใจว่าข้าวมาจากที่ใด และกำหนดราคาตามสภาพอุปสงค์ อุปทาน ทำให้ราคาในจังหวัดต่าง ๆ ถูกหักด้วยค่าขนส่งมาที่กรุงเทพฯ เป็นบทเรียนที่นักเศรษฐศาสตร์ ต้องพิจารณาว่า การคิดเช่นนี้จะทำให้ระบบการค้าข้าวเป็นอย่างไร ” ศ.ดร.อัมมารกล่าว

การสัมมนาเดียวกัน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวว่า นักวิจัยที่เห็นขณะนี้ยังไม่เป็นมืออาชีพพอ จึงขอให้ทุ่มเท ให้เวลากับการทำวิจัยมากขึ้น เพราะนโยบายมีความกว้างและครอบคลุมมากกว่าที่คนทั่วไปคิด ตั้งแต่การเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสังคม นโยบายที่เหมาะสมหรือไม่ รวมถึงประสิทธิผลและผลกระทบของนโยบายโดยเฉพาะต่อกลุ่มคนที่มิใช่เป้าหมาย นโยบายอาจมีผลกระทบข้างเคียง เช่น การสร้างเขื่อนกระทบต่อคนในพื้นที่ การตั้งอุทยานแห่งชาติกระทบต่อพื้นที่ทำกิน การย้ายสนามบินกระทบต่อสุขภาพจากเสียง ฯลฯ นโยบายยังมีช่องว่าง ขาดกลไกและวิธีการ ทั้งเรื่องอาหารนำเข้าปลอดภัย การแก้ไขการปลอมปนข้าวหอมมะลิในตลาดจีน ทั้งต้องพิจารณาว่า นโยบายมีประสิทธิผลหรือไม่ เช่น เก็บค่าภาษีน้ำเสียแล้วมลพิษไม่ลดลง นโยบายสวัสดิการคนจนแต่คนจนยังเข้าไม่ถึง การปฏิรูปการศึกษาแต่ผลเอเน็ต โอเน็ตกลับลดลง เด็กไม่เรียนโรงเรียนในพื้นที่และการศึกษากลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์

ดร.มิ่งสรรพ์ สรุปว่า นักวิจัยต้องมองว่าทำวิจัยเพื่อใคร ใครได้รับผลประโยชน์ แต่ปัญหาของนักวิจัยคือ ไม่มีโจทย์ ไม่เข้าใจหรือขาดประสบการณ์ด้านนโยบาย ไม่มีเวลา ไม่มีเวทีพัฒนาศักยภาพ บริหารทุกคนทุกประเภทแบบเดียวกันหมด ขาดการขับเคลื่อนและสื่อสารกับสาธารณะ

โจทย์ที่ท้าทายมีอยู่มากมาย ความพร้อมของนักวิจัยเพื่อให้เกิดงานที่เป็นประโยชน์มีพอหรือยัง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ ‘รู้เหนือ รู้ใต้’ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2557