“ศ.นพ.เกษม” ชี้การศึกษาไทยต้องรื้อทั้งระบบ ขาดธรรมาภิบาล จี้ 4 กระทรวงหารือวางทิศทางใหม่ เผยผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้เด็กไทยถดถอย
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้จัดงานประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคมนี้ ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี กรุงเทพฯ โดยมีการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นคานงัดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาใน 9 ประเด็นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การยกระดับการเรียนรู้ของสังคมไทยให้เป็นผลสำเร็จในอนาคต ตั้งแต่การพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาครู การดูแลเด็กด้อยโอกาส ไปจนถึงระบบบริหารจัดการใหม่ที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน
ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “สังคมเรียนรู้จะเกิดขึ้นและเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างไร” ว่า การเรียนรู้ตามนิยามของยูเนสโก ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนให้ดีขึ้น 3 ด้าน คือ มีความรู้ มีทักษะ และเป็นคนดีมีคุณธรรม กระบวนการการศึกษาต้องทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น ทำงานเก่งขึ้น และเป็นเด็กดี ซึ่งขณะนี้ในบางประเทศมุ่งแต่ข้อแรก และการเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นตลอดชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา
“อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาในปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานความต้องการของผู้จัดการศึกษา ไม่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของสังคมและตลาดแรงงาน ดังนั้นกระทรวงทั้ง 4 กระทรวง ได้แก่ ศึกษาธิการ แรงงาน พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ต้องช่วยกันออกแบบ เพราะในปัจจุบันเราขาดแคลน ปวส.ที่มีคุณภาพ และต้องเป็นการกระจายการเรียนรู้ให้มากขึ้น ทั้ง อบจ. อบต. รวมถึงหลักสูตรชุมชน” ศ.นพ.เกษม กล่าว
ศ.นพ.เกษม กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการศึกษาที่ดีต้องประกอบด้วย 1.ครูดีมีคุณภาพ เป็นครูที่ได้รับแรงบันดาลใจที่อยากเป็นครู 2.ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในห้องเรียน และ 3.สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียนรู้ ซึ่งในประเทศฟินแลนด์ทำทั้งหมด โดยส่งเสริมค่านิยมครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ทำให้เด็กเลือกอาชีพครูเป็นอาชีพอันดับ 1 พร้อมกับมีการพัฒนาครูจบใหม่ไปฝึกงานกับครูผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาให้เกิดครูมีคุณภาพ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า จากข้อมูลของ ยูเนสโก ในปี 2554 พบว่า ประเทศไทยมีรายจ่ายด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับรายจ่ายงบประมาณแผ่นดินสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศกานา โดยไทยลงทุนด้านการศึกษาอยู่ที่ 24% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 20% และเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศที่มีการพัฒนาด้านการศึกษาในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อยู่ที่ 20.5% มาเลเซีย 20.8% และญี่ปุ่น 9.7% ขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไทยเวทีเศรษฐกิจโลกได้จัดอันดับให้ไทยมีคุณภาพการศึกษาอยู่ในลำดับรั้งท้ายของประเทศในกลุ่มอาเซียน
ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ผลการวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาตั้งแต่ปี 2551-2553 พบว่า งบประมาณการศึกษาไทย 80% ภาครัฐเป็นผู้จ่าย แม้ว่าเรามีการเรียนฟรี 15 ปี แต่ครัวเรือนก็ยังเป็นผู้ออกอีก 20% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ซึ่งเป็นค่าเดินทางหรือค่าเล่าเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนเรียกเก็บ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้จ่ายงบประมาณการศึกษามากที่สุด 80% ส่วนท้องถิ่นจ่ายอยู่ที่ 15% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่านมและอาหารกลางวัน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยใช้เงินมากสำหรับการศึกษา แต่ก่อนเคยคิดว่า การศึกษาไม่ดี เพราะมีการลงทุนน้อย แต่ตอนนี้เรื่องอย่างนี้ไม่เป็นความจริงต่อไปแล้ว เพราะใน 10 ปีที่ผ่านมา มีการก้าวกระโดดของภาครัฐในการลงทุนเรื่องการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งขณะนี้มีการลงทุน 4-5 แสนล้านบาทต่อปี แต่ผลที่ออกมากลับไม่ดี ประสิทธิภาพแย่ลง โดยพบว่าผู้ที่จบการศึกษายังทำงานไม่ได้ ต้องเอามาฝึกหัดนาน หลายคนไม่มีพื้นฐานที่จะเรียนรู้ต่อ หากดูจากการวัดผลทั้งจากการสอบประเมินผลระดับนานาชาติ(พิซ่า) และการสอบโอเน็ต ก็ตกกันครึ่งประเทศ
“ประเทศไทยไม่ใช่ลงทุนน้อยเกินไป แต่เป็นการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงออกหลายอย่าง เช่น ระบบโรงเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้คนต้องไปเรียนกวดวิชามากขึ้น เพราะไม่แน่ใจความรู้จากโรงเรียนเพียงพอหรือไม่ การลงทุนในครูที่ปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนแบบก้าวกระโดดเหมือนกับงบด้านการศึกษา เพราะมีคณะกรรมการกำหนดการเพิ่มเงินเดือนและวิทยฐานะ เงินเดือนของครูจึงกลายเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ในระบบการศึกษา จึงควรทำอย่างไรให้เงินเดือนของครูที่เพิ่มขึ้นไปผูกโยงกับผลการเรียนรู้ของเด็กที่ดีขึ้น แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ เมื่อใส่เงินเข้าไปมาก แต่คุณภาพของเด็กที่มาจากโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลนั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำจากเด็กที่เรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่” ดร.สมเกียรติกล่าว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 พฤษภาคม 2557