‘ชีวิตหลายรส อาณัติ อาภาภิรม’ หนังสืออีกเล่มที่ควรอ่าน

ปี2014-05-02

บางกอกเกี้ยน
bangkokian@matichon.co.th

หนังสือแนวคิดการบริหารจัดการ และชีวประวัติ 2 เล่ม ที่เคยนำเสนอก่อนหน้านี้ คือ เสนาะ อูนากูล พลังเทคโนแครต ของสำนักพิมพ์มติชน เป็นหนังสือการขับเคลื่อนและเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย (2504-2535) ผ่านชีวิตและผลงานของ เสนาะ อูนากูล

ต่อมาแนะนำหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เป็นประวัติชีวิตของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ชื่อ “พรหมไม่ได้ลิขิต” เป็นวิถีชีวิตของ นพ.พรหมินทร์และแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการก้าวกระโดดนโยบายพลิกผันจากเดิม เป็น “ประชานิยม” ที่ทั้งยอมรับและไม่ยอมรับในสังคมทุกวันนี้

มาถึงเล่มนี้ “ชีวิตหลายรส อาณัติ อาภาภิรม ประสบการณ์ ทัศนคติ และท่าที” ของสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ราคา 200 บาท

อาณัติ อาภาภิรม นับเป็นเทคโนแครตอีกคนหนึ่งที่มีผลงานทั้งจากการเป็นนักวิชาการแล้วก้าวเข้าสู่แวดวงการ เมือง ในยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถึงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนสิ้นรัฐบาลชุดนั้น

ในยุค พล.อ.เปรม การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเริ่มเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว มีโครงการใหญ่ “อีสต์เทิร์นซีบอร์ด” อันเป็นที่มาของประโยคฮิตขณะนั้น คือยุค “โชติช่วงชัชวาล”
อ.อาณัติเป็นผู้มีบทบาทในโครงการนั้น ในฐานะผู้ว่าการ ปตท.

สุทธิชัย หยุ่น เขียนไว้ในคำแถมพกว่า “ผมได้อ่านร่างต้นฉบับหนังสือที่ ดร.อาณัติ อาภาภิรม เขียนเล่าชีวิตตัวเองแล้วเหมือนได้ฟังผู้ใหญ่อารมณ์ดีมานั่งเล่าเรื่องราวของตัวเองอย่างสนุกสนานและครื้นเครง…”

เรื่องของ ดร.อาณัติเป็นเรื่องจริงของผู้ชายไทยคนหนึ่งที่ทำงานหนัก ผ่านประสบการณ์ทุกด้าน ทั้งเป็นอาจารย์ บริหารภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และผ่านเข้าไปในแวดวงการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์เอไอที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ทั้งยังเป็นผู้รู้เรื่องน้ำและการพลังงาน ในฐานะผู้บุกเบิก
วันนี้ ดร.อาณัติ อาภาภิรม คือผู้บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอสว่ากันเฉพาะสารบัญ ตั้งแต่เรื่องแรก จีนกับความผูกพันของผม ก็เริ่มเห็นว่า ดร.คนนี้มีแนวทางความคิดเป็นอย่างไร โดยเฉพาะต่อการพัฒนาประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ส่วนเรื่องในวัยเด็ก หากใครมีวิถีชีวิตละแวกเสาชิงช้า จะรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งสี่ห้าสิบปีที่ยังมีรถรางวิ่งจากริมคลองหลอดผ่านสี่กั๊กเสาชิงช้าและสนามหลวงในขณะนั้นซึ่งเป็นที่ฝึกหัดขี่จักรยานของคนรุ่นนั้น แม้กับข้าพเจ้า (ผู้เขียน) โดยเฉพาะโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจที่นิสิตนักศึกษายุคนั้นต้องไปพิมพ์หนังสือรุ่น

จำได้ว่า เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผูกเหตุการณ์ของคนในโรงพิมพ์นี้ขึ้น

อ.อาณัติบอกว่า “สาระของหนังสือ ความตั้งใจของผมคือ หนึ่ง เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่เลือกแล้วว่าน่าสนใจและมีความสำคัญ สอง ทุกเรื่องที่เล่าล้วนแต่มีทัศนคติและมุมมองของผมต่อประสบการณ์เหล่านั้นสอดแทรกอยู่ และสาม คือท่าทีของผมต่อเรื่องต่างๆ ก็จะติดอยู่ในทุกเรื่องที่เล่าด้วยเช่นกัน”การเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ ดร.อาณัติบันทึกไว้ว่า “จนกระทั่งผมอายุ 74 ผมผ่าตัด 2 ครั้ง ทำให้รู้สึกว่าถ้าจะเขียนก็คงต้องเขียนตอนนี้ล่ะ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้เขียนแล้ว…” วิธีการเริ่มเขียนคือ “เรียกลูกชายคนเล็กมาบอกว่าพ่อจะเขียนหนังสือล่ะนะ อัดเสียงไว้ด้วย คือถ้าไม่บอกเดี๋ยวเลิก เพราะรู้ว่ามันต้องเหนื่อยแน่ๆ…”

ดร.อาณัติ เป็นพี่ชายของ อนุช อาภาภิรม นักเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ ผู้เขียนบันทึกไว้ว่า วันที่ 7 ตุลาคม 2519 น้องชายของผม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นหนึ่งในมันสมองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขณะนั้นหายไปจากบ้านแต่เช้ามืด ผมถามแม่ “อนุชไปไหน” แม่บอก “เขาไปแล้ว” ผมคิดทันทีว่าเขาเข้าป่า หรือไม่ก็ไปจีน ผมได้ข่าวในเวลาต่อมาว่าเขากับภรรยาไปอยู่คุนหมิง

“ผักกาด เมื่อไหร่พ่อแม่จะกลับมา” หนูผักกาดวัย 5 ขวบคือลูกสาวคนเดียวที่อนุชฝากให้ครอบครัวช่วยกันเลี้ยงดูแลตั้งแต่ขวบครึ่ง “เมื่อประชามีชัย” เป็นคำตอบจากเด็กหญิงผักกาด

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 พฤษภาคม 2557