โพสต์ทูเดย์รายงาน: ดูบทเรียนต่างประเทศ ห้ามแบงก์บังคับขายพ่วง

ปี2014-05-07

ปัจจุบันผู้บริโภคต่างประสบปัญหาและมีการร้องเรียนจำนวนมาก ถึงพฤติกรรมในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทยที่อาจมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบหลอกลวงผู้บริโภคในรูปแบบหลากหลายโดยปี 2556 บริการของธนาคารพาณิชย์ที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ บัตรเครดิต รองลงมา คือ สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจธนาคารสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก

คณะอนุกรรมการการเงินการธนาคาร ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงมีการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินการธนาคารที่อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยศึกษาแนวทางในต่างประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค ในฐานะที่ธปท.มีหน้าที่กำกับสถาบันการเงิน

จากการศึกษางานวิจัยของ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในต่างประเทศในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้

ประเด็นแรก ธนาคารพาณิชย์สามารถขายพ่วงบริการทางการเงินสองประเภทในสัญญาเดียวกันได้หรือไม่ หรือควรมีใบสมัครหรือสัญญาแยกต่างหากเพื่อให้ผู้บริโภครับทราบการซื้อบริการแต่ละประเภท?

ทั้งนี้ เนื่องจากในประเทศไทยมีการขายพ่วงบริการทางการเงินสองประเภทในสัญญาเดียวกันหลายรูปแบบ เช่น ในการสมัครบัตรเครดิต ธนาคารจะให้กรอกทั้งใบสมัครบัตรเครดิตและสัญญาการทำประกันชีวิตในฉบับเดียวกัน โดยในส่วนสัญญาการทำประกันตัวอักษรจะเล็กมาก จนลูกค้าไม่ได้อ่าน เพราะไม่คิดว่าจะมีการให้ซื้อประกันชีวิตด้วย หรือสมัครบัตรเครดิตแต่มีข้อความให้ทำคำขอกู้เงินด้วย เสมือนมีสัญญาสองฉบับ โดยระบุว่าหากมีการถอนเงินสดโดยบัตรเครดิตจะถูกคิดดอกเบี้ยอัตรา 28% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของเงินกู้ นอกจากนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาจะเป็นตัวอักษรที่เล็กมาก

กรณีเหล่านี้ จากการศึกษากฎหมายและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ พบว่า 1.ในสหรัฐกฎหมายภายใต้ Section 106 ของ Bank Holding Company Act of 1970Z12 U.S.C1972 และในแคนาดา กฎหมายภายใต้ Section 459.1 ของ The Bank Act มีข้อห้ามธนาคารมีพฤติกรรมบังคับขายพ่วงสินค้าหรือบริการ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า

2.สหภาพยุโรป ห้ามการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ และให้ดำเนินการต่อผู้บริโภคด้วยความซื่อสัตย์โดยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคุกคาม ฉะนั้นสัญญาขายพ่วงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์สองฉบับ ด้วยตัวอักษรขนาดเล็กมากจนผู้บริโภคไม่สามารถรับทราบข้อมูลหรือสัญญาอีกฉบับหนึ่ง จึงกระทำไม่ได้

3.สหรัฐห้ามบังคับขายพ่วงบริการทางการเงินที่ไม่ใช่บริการดั้งเดิมของธนาคาร หรือไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติในธุรกิจธนาคาร ตัวอย่างพฤติกรรมต้องห้ามเช่น ธนาคารสัญญาว่าจะให้สินเชื่อหรือให้ส่วนลดสินเชื่อแก่ลูกค้าโดยมีเงื่อนไขว่าลูกค้าต้องซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยจากธนาคารหรือบริษัทในเครือด้วยหรือการกำหนดเงื่อนไขการขอสินเชื่อรถยนต์โดยบังคับให้ลูกค้าต้องซื้อประกันภัยรถยนต์จากธนาคารหรือบริษัทในเครือ เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นการขายพ่วงบริการดั้งเดิม เช่น กู้เงินแล้ว ให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย การฝากเงิน หรือบริการทรัสต์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับ เช่น ธนาคารบังคับให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้เก่าก่อนที่จะให้สินเชื่อรอบใหม่หรือการมีเงื่อนไขการกู้ยืมว่าลูกค้าต้องรับบริการบริหารจัดการหนี้จากธนาคารด้วย หรือเงื่อนไขการให้สินเชื่อลูกค้าต้องรักษาระดับเงินฝากในบัญชีไว้จำนวนหนึ่งเป็นต้น

4.ในสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย ธนาคารจะเสนอขายบริการบัตรเครดิตเพียงอย่างเดียว มิได้โฆษณาหรือขายบริการทางการเงินอื่นใดมาพร้อมกันแต่หลังจากบัตรเครดิตได้รับอนุมัติแล้ว ธนาคารอาจจะเสนอขายบริการการเงินภายหลัง แต่มิได้บังคับให้ผู้ถือบัตรเครดิตต้องสมัครบริการเหล่านั้นด้วย

สรุปแล้ว ในต่างประเทศจะไม่อนุญาตให้ธนาคารขายพ่วงบริการบัตรเครดิตกับบริการอื่นที่ธนาคารให้บริการอยู่นั่นเอง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2557