tdri logo
tdri logo
26 พฤษภาคม 2014
Read in Minutes

Views

รายงานพัฒนาโลก 2014 ไทยบริหารจัดการความเสี่ยงได้ปานกลาง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับธนาคารโลก จัดการสัมมนาเรื่อง “รายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2014 เรื่อง “ความเสี่ยงและโอกาส: การบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อการพัฒนา (World Development Report 2014: Risk and Opportunity: Managing Risk for Development)” เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่เกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น โรคระบาด วิกฤติการณ์ด้านการเงิน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

ดร.นอร์แมน วี. โลไอซ่า หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานพัฒนาโลกปี 2014 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ หน่วยเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แผนกพัฒนาการเศรษฐกิจ ธนาคารโลก ได้กล่าวว่า ธนาคารโลกได้เลือกหัวข้อเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงเนื่องจากพบว่า เศรษฐกิจทุกวันนี้ต้องประสบกับความเสี่ยงที่ถี่และรุนแรงมากขึ้นจากการหลอมรวมของเศรษฐกิจโลก และพัฒนาการทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ปัญหา ณ จุดใดจุดหนึ่งสามารถลุกลามขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้แล้ว ภาวะโลกร้อนอันส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของอากาศทำให้ทุกประเทศต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง อุทกภัย  วาตภัย ฯลฯ  ดร.นอร์แมน กล่าวว่า  จากการศึกษากรณีศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกพบว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ประเทศมี “ภูมิคุ้มกัน” ต่อแรงกระทบของปัจจัยต่างๆ ทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและในการดำรงชีวติของประชาชนมีเสถียรภาพซึ่งจะมีผลทำให้สามารถตักตวงโอกาสทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศที่ไม่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี

ดร.นอร์แมน กล่าวว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นมีสี่ขั้นตอน  ขั้นตอนแรกเป็นการตระหนักของผู้กำหนดนโยบายในระดับสูงสุดถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการความเสี่ยง ขั้นตอนที่สองจะต้องมีการรวบรวมและประมวลข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทุกประเภทว่ามีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดและขนาดของความเสียหายหากเกิดขึ้นจริงนั้นสูงมากน้อยเพียงใด  เพื่อที่จะสามารถจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงเพื่อที่จะจัดสรรทรัพยากรที่มี่จำกัดในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า  ขั้นตอนที่สาม จะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบ ซึ่งมีสองส่วน คือ การเตรียมการในการป้องกันและรับมือในการรับความเสี่ยง (preparing)  และการบริหารจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากความเสี่ยง (coping)  ประการสุดท้าย การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบจะต้องเริ่มจากการมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประเมินความเสี่ยงที่เรียกว่า “คณะกรรมการความเสี่ยงแห่งชาติ (national risk board)” ซึ่งจะเป็นหน่วยงานกลางที่มีภารกิจในการรวบรวมและประมวลข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ของประเทศและกำหนดแผนยุทธศาสต์และแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบริหารจัดการความเสี่ยงรวมทั้งบริหารจัดการให้มีการดำเนินการตามแผนดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้แล้ว  ในส่วนของบทบาทของภาครัฐในการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น  รายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2557 หรือ WDR 2014 ได้เสนอแนะแนวทางหลัก 5 ประการ ได้แก่

1. อย่าสร้างความไม่แน่นอนหรือควรลดความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะนโยบายต่างๆในด้านการเมือง รัฐควรละเว้นจากการดำเนินนโยบายที่สร้างความเสี่ยงให้แก่ประชาชน

 2. ควรจัดหาสิ่งจูงใจที่เหมาะสมแก่ประชาชนเพื่อให้สามารถวางแผนและเตรียมการในการรับความเสี่ยงโดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือความสูญเสียต่อผู้อื่น เช่น รัฐส่งเสริมกิจการภายในครัวเรือนเพื่อลดการพึ่งพาผู้อื่น

 3. ควรยึดมั่นในวิสัยทัศน์ระยะยาวเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงโดยการสร้างกลไกทางสถาบันที่อยู่เหนือวงจรทางการเมือง เช่น การบริการด้านสุขอนามัย โดยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ระบบการเงินต้องมีจุดที่สมดุลระหว่างบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพ

4. ส่งเสริมความยืดหยุ่นภายใต้กรอบสถาบันที่ชัดเจน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ๆหากมีการย้ายถิ่นของครัวเรือนด้วยการส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัว การยืดหยุ่นและการคว้าโอกาส

5. ปกป้องกลุ่มเปราะบางไปพร้อมๆกับสนับสนุนการพึ่งพาตนเองและรักษาความยั่งยืนทางการคลัง โดยรัฐสามารถช่วยกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยการจัดหาทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญให้แก่กลุ่มประชากรที่ยังขาดโอกาสเพื่อให้สามารถเรียนรู้และลดความเปราะบางอันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตที่เป็นไปอย่างยั่งยืน

รายงานฉบับนี้ได้มีการประเมินขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงของประเทศต่างๆ ทั่วโลก  รวมถึงประเทศไทย  ซึ่งผลการประเมินแสดงว่า ไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับปานกลาง การบริหารจัดการในเรื่องภัยพิบัติธรรมชาตินั้น แม้จะมีแผนการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน ประเทศ  ส่วนการจัดการความเสี่ยงด้านการเงินนั้นประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีเนื่องจากสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง  แต่ในช่วงที่ผ่านมาฐานะทางการคลังเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น  ดร.นอร์แมนกล่าวว่า  ประเทศไทยสามารถลดความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจในขณะนี้โดยการลดการใช้จ่ายของภาครัฐให้น้อยลงเพื่อเก็บงบประมาณไว้ใช้ในยามที่ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางแผนแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยการตั้งเป้านโยบายในเรื่องการพัฒนาประเทศ

ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า รายงานนี้เป็นรายงานที่ดี เพราะแสดงให้เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีกล่าวถึงทั้งที่เป็นที่สำคัญ อย่างไรก็ตามรายงานควรเพิ่มการอภิปรายเรื่องแนวทางการจัดการความเสี่ยงเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างประเทศไทยที่กำลังตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap) นอกจากนั้นรายงานควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสถาบันว่าจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในแนวทางที่ถูกต้องได้อย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ไทยกำลังประสบปัญหาทางวิกฤติด้านการเมือง และการขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดปัญหาสุ่มเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆตามมา

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการ ระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ที่เห็นว่า  รายงานของธนาคารโลกนั้นได้นำเสนอหลักแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงได้อย่างชัดเจนและครบถ้วนหากแต่ยังขาดรายละเอียดข้อมูลในการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในทางปฏิบัติซึ่งมีข้อจำกัดจำนวนมาก  เช่น ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงมีประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างมาก แต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานดังกล่าวคงไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่องบประมาณและแผนงานของกระทรวงต่างๆ ได้  ทำให้การบริหารความเสี่ยงของประเทศไม่มีลักษณะที่บูรณาการ  หากแต่ยังคงมีลักษณะ “ต่างคน ต่างทำ” ในรายกระทรวงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   นอกจากนี้แล้ว ในเชิงการเมืองนั้น การสร้างระบบกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีนั้น “ไม่คุ้มค่า” เพราะนอกจากมีความซับซ้อนแล้ว  ผลงานที่ได้ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ประจักษ์ต่อประชาชน  ต่างจากการบริหารจัดการภัยพิบัติ เช่น การแจกถุงยังชีพเมื่อเกิดน้ำท่วม  ที่ได้ทั้งงบประมาณและคะแนนเสียง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด