tdri logo
tdri logo
16 มิถุนายน 2014
Read in Minutes

Views

จับทิศทาง สปส. แก้ปัญหากองทุนชราภาพถังแตก

ชุติมา สิริทิพากุล
tan.error@yahoo.com

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการทางการแพทย์ หรือบอร์ดการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้อนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านการแพทย์เป็นจำนวนไม่น้อยให้แก่ผู้ประกันตน ทั้งการปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายให้กับสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมจาก 1,404 บาท เป็น 1,446 บาทต่อคนต่อปี สำหรับสถานพยาบาลที่ต้องรับภาระโรคที่มีภาวะเสี่ยง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตนกรณีทุพพลภาพจาก 40,000 บาท ทั้งการฟื้นฟูและฝึกอาชีพ เป็นค่าผ่าตัดฟื้นฟู 40,000 บาท การฝึกอาชีพ 24,000 บาท ค่าอุปกรณ์เทียมร่างกาย 160,000 บาท

ทว่า…ท่ามกลางสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้นนั้น สปส.กลับวิตกกังวลถึงเสถียรภาพของกองทุนชราภาพ เพราะนับตั้งแต่มีการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ และบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่เข้าเกณฑ์ในปีนี้เป็นปีแรก กว่า 1.3 แสนคน วงเงินประมาณ 4.7 พันล้านบาท คาดการณ์ว่ากองทุนนี้จะเลี้ยงตัวอยู่ได้เพียงช่วง 30 ปีเท่านั้น

กองทุนชราภาพเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกองทุนประกันสังคม แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไว้ 6 แนวทาง คือ 1.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างแบบขั้นบันได 2.การเพิ่มอายุผู้รับบำนาญ 2 ปี ทุกๆ 4 ปี 3.การเพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิ 4.ปรับคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตแทน 60 เดือนสุดท้าย 5.แนวทางผสม 1+3 และ 6.ใช้ทุกแนวทางพร้อมกัน

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ผู้ประกันตนจะยินยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา สปส.ถูกตั้งคำถามมากว่า เหตุใดผู้ประกันตนจึงเป็นคนเพียงกลุ่มเดียวที่ยังต้องถูกเก็บเงินสมทบในการรักษาพยาบาล ทั้งที่ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทย

เมื่อกองทุนชราภาพที่ควรเป็นที่พึ่งในยามเกษียณของคนทำงานเริ่มส่งสัญญาณไม่ดี ย่อมสะท้อนถึงปัญหาภายใน สปส.โดยเฉพาะโครงสร้างขององค์กรที่เริ่มตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2533 แต่ไม่เคยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานให้เป็นไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเลย คงเพดานไว้ที่ 15,000 บาท หรือจ่ายสมทบสูงสุดที่ ร้อยละ 1.5 ตลอดมาตั้งแต่ปี 2533 หรือตั้งแต่ก่อตั้ง สปส.ขึ้นมา ด้วยสภาพทางสังคมสมัยก่อนเงินที่เก็บเข้ากองทุนก็เพียงพอต่อการใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป อีกทั้ง สปส.ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านการรักษามากขึ้นๆ โดยไม่คำนึงถึงรายรับที่เข้ามาในอนาคต เงินกองทุนรักษาพยาบาลก็อาจจะไม่เพียงพอ จนทำให้ต้องโยกย้ายกองทุนอื่นเข้ามาเสริม

ดร.วรวรรณกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้โอนย้ายกองทุนรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยส่วนตัวเห็นว่าก็เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากปัจจุบันสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนก็แตกต่างกัน การนำทุกกองทุนสุขภาพมารวมกัน ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน

“หากสิทธิด้านพื้นฐานของ สปสช.ซึ่งรัฐสนับสนุนขยายไปถึงลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยที่รัฐเปลี่ยนเป็นสนับสนุนเงินผ่าน สปสช. ส่วน สปส.นั้น ก็เป็นการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนั้น สิทธิพื้นฐานของทุกคนก็ให้ไปอยู่ใน สปสช.ส่วนสิทธิพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาจากพื้นฐานก็ให้ไปอยู่ใน สปส. เช่น สปสช.การนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลต้องนอนห้องรวม แต่หากเป็นผู้ประกันตนต้องการนอนห้องเดี่ยว ก็เป็นเรื่องที่ สปส.ต้องจ่ายเพิ่มให้ เป็นต้น และต้องคำนวณไปถึงกรณีคลอดบุตร ชราภาพ ด้วยว่าจะสามารถให้สิทธิประโยชน์พิเศษได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้กระทบต่อด้านอื่นๆ

ด้าน สุภัทรา นาคะผิว รองประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน บอกว่า เพราะไม่เห็นด้วยกับการเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ประกันตน เนื่องจากสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ผู้ประกันตนได้รับ น้อยกว่าประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสียอีก เช่น การทำฟันที่ประกันสังคมจ่ายเพียงครั้งละ 300 บาท ปีละ 2 ครั้ง เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอนในการทำฟันแต่ละครั้ง แถมยังให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินไปก่อนแล้วนำใบเสร็จไปเบิกทีหลัง โดยในความเห็นนั้น คิดว่าแทนที่จะหันมาเก็บเงินจากผู้ประกันตนเพิ่ม สปส.ควรนำเงินสมทบกองทุนรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนจ่ายร้อยละ 0.8 ทุกเดือน ไปเข้ากองทุนชราภาพแทน และให้รัฐบาลดูแลสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนเหมือนกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทุกคน

นอกจากนี้ สุภัทรายังมองว่า ควรมีการรื้อโครงสร้างระบบประกันสังคมใหม่ เนื่องจากโครงการเดิมนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2533 อาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น ควรจะปรับระบบใหม่ รวมทั้งมองว่ารัฐควรปฏิรูประบบบำนาญของประชาชน รัฐควรดูแลประชาชนทั้งประเทศ เพราะมีประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้รับเงินบำนาญ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากประชาชนกลุ่มนี้ก็ทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และที่สำคัญรัฐควรจัดสรรเงินบำนาญให้กับประชาชนอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะขณะนี้ผู้ที่ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการ สปส. มองว่า อัตราการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้านสิทธิประโยชน์ชราภาพยังไม่สมดุลกับอัตราจ่ายออก คือเก็บจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ร้อยละ 3 แต่กองทุนต้องจ่ายเงินออกไปในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งตั้งแต่ปี 2533 สปส.กำหนดเพดานการส่งเงินสมทบไว้ที่ 15,000 บาท จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว ทั้งที่สภาพการณ์ของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก การเก็บเงินเข้ากองทุนจึงไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ในเมื่อกองทุนชราภาพเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทุนประกันสังคมคิดเป็นร้อยละ 90 หากขาดเสถียรภาพ ก็อาจส่งผลต่อกองทุนทั้งหมดได้

“ส่วนข้อเสนอให้รวบการดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนไว้ที่ สปสช.นั้น ผมมองว่า แต่ละกองทุนมีการดูแลและให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน อย่างผู้ประกันตนมาตรา 39 ของ สปส.นั้น ก็เป็นการสมัครใจที่จะส่งเงินต่อเอง ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้หลุดออกจากการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างของบริษัทแล้ว สามารถจะเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ แต่ยังมีจำนวนมากเลือกที่จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แสดงให้เห็นว่า สปส.มีสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดังนั้น…ต้องรอดูว่าอนาคต สปส.จะมีทิศทางในการแก้ปัญหากองทุนชราภาพอย่างไร และจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน ที่เป็นสมาชิกหรือไม่


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 14 มิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด