แนวหน้ารายงาน: กรมวิชาการเกษตรกับการเสวนาสุดยอดแห่งปี

ปี2014-06-25

เมื่อไม่นานมานี้ กรมวิชาการเกษตรได้จัดงานเปิดบ้านงานวิจัยการเกษตร และได้จัดเสวนาหัวข้อ “ความจริงวันนี้ สภาวะวิกฤติไทย ใครสร้าง ใครแก้” โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในสังคมว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถระดับปรมาจารย์ด้านเกษตรและเศรษฐกิจการเกษตร ที่สำคัญทุกท่านวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนความจริงสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรได้อย่างตรงไปตรงมากับการทำงานของอดีตรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไป

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงเหตุผลของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า ผมคิดโครงการมานานก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุผลเดียว คือ อยากเตือนสติ เตือนจิตสำนึกของผู้บริหารให้ได้คิดเสียทีว่า อย่าพายเรือให้โจรนั่ง รู้ว่ารัฐบาลโกงยังไปเป็นเครื่องมือให้เขาโกงกัน นั่งเชียร์กัน เดินตามกัน เป็นขบวนเป็นฝูงเป็ด กรมวิชาการเกษตรเป็นกรมแรกที่ทนไม่ได้เดินออกจากฝูงลูกเป็ดพวกนี้มา ผมให้ความเชื่อมั่นได้ว่าอย่างน้อยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร 2 คน คือ ผมและท่านอนันต์ ดาโลดม ที่ไม่เคยเขียนโครงการไปให้นักการเมือง หวังว่าอธิบดีคนต่อไปจะเป็นใครก็แล้วแต่ให้ถือปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเรายังรักษาความเป็นวิชาการของเราไว้ให้เข้มแข็ง นักการเมืองมีแต่จะเกรงใจ

“แม้รู้ว่าการกระทำเช่นนี้ย่อมเกิดแรงเสียดทาน อาจเสียหายจนกระทบต่อหน้าที่การงานแต่ตัดสินใจแล้วว่าไม่เป็นไร เป็นอธิบดีมาแล้วเกือบ 2 ปี ถ้าไม่กล้าออกมาพูด ไม่กล้าออกจากฝูงแล้วประเทศไทยจะเหลือ อะไร โชคดีเกิด คสช. พวกลูกเป็ดกลับตัวแทบไม่ทัน ขอบคุณ พระสยามเทวาธิราชยังดูแลบ้านเมืองเราให้พ้นภัยเสมอ” นายดำรงค์ กล่าว

ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยกล่าวว่า 2-3 วันที่ผ่านมาเห็นข่าวชาวนาไปรับเงินแล้วรู้สึกดีใจ ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ ในช่วงปี 2556-2557 เป็นช่วงที่วิกฤติที่สุดในชีวิตของชาวนาไทย ซึ่งจากการวิเคราะห์สภาวะวิกฤติเกษตรไทย ผมคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีในวิกฤติของชาวนา ในกระบวนการของรัฐบาลทำให้คนไทยตื่น และให้ความสำคัญกับภาคเกษตรไทยมากขึ้น รัฐประหารครั้งนี้ น่าจะได้ใจชนบท คือ เกษตรกรไทย ดังนั้นใครที่จะไปเป็นรัฐบาลต่อไป ก็คงต้องเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นในการทำร้ายคนจนเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดนโยบายให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาการเกษตร ไม่ใช่เพียงแค่หวังผลทางการเมืองแต่ทำร้ายระบบการเกษตรหมด

นอกจากนี้ ถ้าหันมาดูงบประมาณด้านการเกษตรจะพบว่า ลดลงทุกปี สมัยก่อนงบประมาณอยู่ในระดับ 3-4 แต่ปัจจุบันอยู่ระดับ 10 วงเงินอาจดูสูงขึ้นแต่สัดส่วนของงบประมาณกระทรวงเกษตรฯวันนี้มีอยู่ 3 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินแต่ละปี หมายความว่าเงินงบประมาณจำนวนนี้ต้องดูแลเกษตรกร 40 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งชาติแล้วเป็นประชากรที่มีปัญหามากสุด ต่ำต้อยที่สุดในทุกเรื่อง แล้วจะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรได้อย่างไร อีกทั้งยังมีปัญหาทุจริตกินบนหัวของชาวไร่ชาวนาอีกที่ทำให้เงินที่มีอยู่น้อยแล้วลดลงไปอีก

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI กล่าวว่าการเกษตรในวันนี้ ต้องมองไปข้างหน้า หากจะพูดถึงวิกฤติเกษตรไทย ใครสร้าง ใครแก้ คงต้องมองย้อนหลัง เท้าความว่าใครเป็นคนสร้าง ใครที่จะเป็นคนแก้ อย่าได้คิดว่าเราจะสามารถควบคุมอะไรทุกอย่างได้ บางอย่างเราอาจจะมีอำนาจในตลาดโลกเหนือกว่าประเทศอื่น และบางอย่างอาจจะมีอำนาจน้อย เช่น ข้าว ซึ่งราคาข้าวโดยปกติจะอยู่ในราคา 5-6 พันบาท ราคาไม่เคยขึ้นถึง 1 หมื่น แต่ในปี 2551 ขึ้นไปจนถึง 14,000-15,000 บาท และค่อยๆ ลดลงเหลือ 1 หมื่นต้นๆ ในราคาตลาด ไม่ใช่ราคาที่นักการเมืองได้เนรมิตขึ้นมา ราคาลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเรื่องที่รัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งปัญหาจากโครงการนี้ทุกท่านคงทราบดี แต่กำลังจะชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลงของวัฏจักรระยะยาวในราคาสินค้าเกษตร

ยางพาราก็เช่นเดียวกัน ราคายางลดต่ำลงมาแต่ลดต่ำลงช้ากว่าพืชชนิดอื่นๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดยางพารา แต่ว่าราคายางพาราจะยืนราคาได้นานกว่าพืชอื่น และในที่สุดราคาของยางพาราก็ลดลงมา เกษตรกรก็โวยวายขึ้น รัฐบาลที่หลังจากเบ่งกล้าม ทำเก่งมากกับเรื่องข้าวหลังจากนั้นจึงถูกบังคับให้ต้องทำเรื่องยางพาราด้วย เพราะฉะนั้นราคาที่ต่ำลงมาเรื่อยๆ เป็นราคาที่ต่ำลงมาตามธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลดันเอาไว้บางส่วน แต่ดันเอาไว้ด้วยการใช้กำลังแต่ไม่อยากจะบอกว่ากำลังภายใน เพราะรัฐบาลไม่มีกำลังภายใน จึงใช้กำลังจากเงินภาษีอากรของประชาชน

สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดโลกที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ แต่รัฐบาลเลือกที่จะตั้งราคา 15,000 บาท โดยไม่ได้พยายามควบคุมการผลิต โดยอ้างว่า เขาจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโยกขึ้นไปเอง โดยการไม่ยอมขายข้าว เพราะฉะนั้น ขาหนึ่งก็กระตุ้นเกษตรกรให้ปลูกข้าวกันอย่างบ้าระห่ำโดยที่รัฐบาลไม่ยอมขาย ดึงการส่งออกเอาไว้ วันดีคืนดีก็จะได้ยินคำว่าขายข้าว จี ทู จี ซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น ผมเรียกว่าข้าว โจร ทู โจร และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะทั้ง 2 ด้านที่เขาบอกว่าเป็น 2 ด้านที่ซื้อข้าวลม เป็นโจรทั้งคู่ ผมจึงคิดว่าประเด็นที่มันเกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ เหล่านี้กระตุ้นให้เกษตรกรปลูกมากๆ แต่ไม่ยอมขาย ส่งผลให้ข้าวในสต๊อกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

อีกส่วนหนึ่งเป็นความลับที่อยากจะบอกว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดอ่านที่จะเป็นพ่อค้าข้าวใหญ่ที่สุดในโลกไม่ได้ทำบัญชีเรื่องของการจำนำข้าว พอถึงเวลาเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังจะต้องไปปิดบัญชี แต่บัญชีอยู่ในสภาพที่นำมาอ้างอิงไม่ได้ เพราะว่ามีหลายนิติบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้แจ้งว่ามีข้าวอยู่ในความรับผิดชอบกี่ตันและรับข้าวมาเป็นใบประทวนแต่ข้าวอยู่ที่อื่น ในขณะที่ข้าวของรัฐบาลกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปและซื้อขายกันด้วยกระดาษ ซึ่งเป็นช่องทางการโกงได้อย่างสบาย เงินที่ได้มาโดยไม่มีการทำบัญชีที่ถูกต้องจะทำให้เงินรั่วไหลโดยง่าย

กรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าวที่ทำงานเรื่องวิจัยเป็น กรมที่อาภัพที่สุดในบรรดากรมต่างๆ ของส่วนราชการ เนื่องจาก การวิจัยทางด้านการเกษตรผลตอบแทนจากการวิจัย ต่อเกษตรสูงกว่าการชลประทานมองว่ากรมวิชาการเกษตรเป็นกรมที่ไม่ควรจะอาภัพที่สุดเพราะว่าเป็นกรมที่ใช้งบประมาณที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ถ้าสามารถวิจัยพืชใหม่ๆ ออกมาได้เกษตรกรก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการรัฐบาลหลายโครงการวิกฤติตลอด แต่ไม่ใช่เกษตรกรวิกฤติเป็นนักการเมืองวิกฤติ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯไม่มีนักเกษตรที่แท้จริงมาบริหาร ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง คนที่เป็นนักการเมืองเข้าไปมี 3 ช่อง คือ พวกที่ร่ำรวยแล้วเข้าไปหาเกียรติยศ อีกส่วนหนึ่งยังไม่รวยเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ พวกที่ 3 มีอุดมการณ์ ซึ่งพวกนี้มีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 24 มิถุนายน 2557