โพสต์ทูเดย์รายงาน: ละเลงเงินข้าว 7 แสนล้าน ครัวเรือนเกษตรกรเฉา-หนี้พุ่ง 28%

ปี2014-06-02

สิทธิณี ห่วงนาค

นับตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยสั่งเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2554 จนถึงวันนี้ รัฐบาลได้กู้เงินมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งเงินค่าข้าวเปลือกและค่าบริหารจัดการโครงการแล้วทั้งสิ้น 9.34 แสนล้านบาท

แบ่งเป็น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีและนาปรัง ปีการผลิต 2554/2555 ที่มีการจ่ายค่าข้าวเปลือกเงินให้ชาวนา 3.36 แสนล้านบาท (ข้าวเปลือก 21.4 ล้านตัน)โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีและนาปรัง ปีการผลิต 2555/2556 ที่มีการจ่ายค่าข้าวเปลือกเงินให้ชาวนา 3.53 แสนล้านบาท (ข้าวเปลือก 22.49 ล้านตัน)

และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2556/2557 ที่อยู่ระหว่างการจ่ายเงิน 1.81 แสนล้านบาท (ข้าวเปลือก10.8 ล้านตัน)

ทว่าเงินค่าข้าวเปลือกที่รัฐบาลจ่ายให้ชาวนาในปีการผลิต 2554/2555 และ 2555/2556 ที่มีเม็ดเงินสูงถึง 6.89 แสนล้านบาท ตลอดจนโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง 2 ปีการผลิตอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แทบไม่ได้ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรโดยเฉลี่ยรวยขึ้น ซ้ำร้ายกลับมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ปีการผลิต 2555/2556 ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 1.46 แสนบาท เทียบกับปีการผลิต 2553/2554 ที่ยังไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้ 1.37 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.5% ส่วนรายจ่ายปีการผลิต 2555/2556 เพิ่มขึ้นเป็น 8.8 หมื่นบาท จาก 7.99 หมื่นบาทในปีการผลิต 2553/2554 หรือเพิ่มขึ้น 10%

ส่วนรายได้ครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นจาก 5.72 หมื่นบาท ในปีการผลิต 2553/2554 เป็น 5.76 หมื่นบาทในปีการผลิต 2555/2556 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.06%เท่านั้น แต่หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มจาก 5.98 หมื่นบาท ในปีการผลิต 2553/2554 เป็น 7.66 หมื่นบาทหรือเพิ่มขึ้น 28%

“90% ของเกษตรกรทั่วประเทศ หรือ 5 ล้านครัวเรือน เป็นชาวนา 3.8-3.9 ล้านครัวเรือน แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการจำนำข้าวมา 2 ปี แต่สินค้าเกษตรตัวอื่นราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเงินที่ถึงมือชาวนาทำให้ครัวเรือนโดยรวมมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใด” สุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการ สศก. ให้ข้อมูล

แต่ฟากฝั่งชาวนานั้น ต้องถือว่าต่างพึงพอใจกับโครงการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล

บุญรอด ยอดมีศิลปะ แกนนำเกษตรกรชาวนา จ.อ่างทอง กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวมีข้อดีคือ ชาวนารู้แน่นอนว่าจะขายข้าวได้เท่าไหร่ แม้ที่ผ่านมาชาวนาจะไม่เคยได้เงินเต็ม 1.5 หมื่นบาทโดยขายข้าวได้ประมาณ 1.2-1.3 หมื่นบาทต่อตันเนื่องจากข้าวมีความชื้นสูงถึง 25-30% และในฐานะที่เป็นชาวนา คงตอบได้ยากว่าระหว่างโครงการประกันรายได้และโครงการรับจำนำข้าวอะไรดีกว่ากัน แต่สิ่งที่ชาวนาต้องการ คือ การขายข้าวได้ในราคาที่แน่นอน

“รัฐบาลควรประกาศราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำจากชาวนาในปีนั้นๆ ว่าเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้ชาวนารู้ล่วงหน้าและบริหารตัวเองได้” บุญรอด กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะยุติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว แต่ชาวนาส่วนใหญ่น่าจะยังอยู่รอดได้

“สิ่งที่เห็นวันนี้ คือ ชาวนาเริ่มไปจองพันธุ์ข้าวจากแปลงเพื่อนบ้านที่เห็นว่าพันธุ์ดี รวงสวย ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เรื่องใส่ปุ๋ยก็คิดมากขึ้นจากเดิมใส่ไร่ละ 50 กิโลกรัม ตอนนี้ใส่ไม่เกิน 30 กิโลกรัม และหันมาใช้แรงงานตัวเองมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนปลูกข้าวให้เหลือไม่เกิน 5,000 บาทต่อตัน แต่ประเด็นที่สำคัญมากกว่า คือรัฐบาลต้องดูแลค่าครองชีพไม่ให้สูงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ” บุญรอด กล่าว

ในขณะที่มุมมองของนักวิชาการที่เกาะติดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมาตั้งแต่ต้น เช่น นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า โครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนารวยขึ้นหรือไม่นั้น ยังไม่มีใครรู้ เพราะต้องรอตัวเลขสำรวจอย่างเป็นทางการ แต่หากถามในแง่ความคุ้มค่าแล้วในฐานะผู้เสียภาษีถือว่าไม่คุ้มแน่

“3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว 9.5 แสนล้านบาท ขายข้าวได้เงินคืนมา 2 แสนล้านบาท เหลือข้าวในสต๊อก 16 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่ารัฐบาลต้องขาดทุน 5.5 แสนล้านบาท และเงินเหล่านั้นเป็นเงินของคุณและของผมทั้งนั้นจึงอยากถามว่าแล้วทำไมจึงไม่เอาเงินเหล่านั้นมาแจกพวกเราบ้าง” นิพนธ์ ระบุ

นิพนธ์ เสนอว่า ต่อไปนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหารประเทศจะต้องเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แต่ควรใช้วิธีการอื่นแทนเช่น การจ่ายเงินส่วนต่างหรือประกันรายได้ ส่วนราคาประกันรายได้จะเป็นเท่าไหร่ ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ และต้องไม่กำหนดว่าราคาต้องเป็นเท่านั้น เท่านี้ แต่ต้องพิจารณาว่ารัฐบาลมีเงินในกระเป๋าที่จะจ่ายให้ชาวนาได้เท่าไหร่

“ถ้าถามว่าชาวนาราคาข้าว 2 หมื่นบาทต่อตันเหมาะสมหรือไม่ เขาก็ต้องบอกว่าเหมาะสม แต่ตรงนั้นไม่ใช่โจทย์ในการช่วยเหลือชาวนา และหากรัฐบาลต้องช่วยเหลือชาวนาก็ต้องตั้งโจทย์ใหม่ว่า รัฐบาลมีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ที่จะนำไปช่วยเหลือชาวนา โดยไม่ไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นๆ”นิพนธ์ ย้ำ

นิพนธ์ แนะว่า การช่วยเหลือชาวนาต้องมีขอบเขตเช่น การจำกัดปริมาณการช่วยเหลือต่อรายไม่เกิน 10 ตัน เพราะชาวนาในประเทศกว่า 80% ทำนาได้ผลผลิตข้าวเปลือกไม่เกิน 10 ตันเท่านั้น

แต่ที่แน่ๆ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่สะท้อนจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรของ สศก.ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเงินที่รัฐบาลทุ่มไปมากกว่า 7 แสนล้านบาท ไม่ได้ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 มิถุนายน 2557