โพสต์ทูเดย์รายงาน: ล็อกกุญแจตรวจ ‘โกดัง’ ดันราคาข้าวเปลือกพุ่ง 1 พันบาทต่อตัน

ปี2014-06-25

อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งปิดโกดังข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรัฐบาล และสั่งห้ามขนย้ายโดยเด็ดขาด ก่อนมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งพร้อมส่งชุดเคลื่อนที่เร็ว 100 ทีม ลุยตรวจสอบโกดังข้าวทั่วประเทศในอีกไม่กี่วันนี้

ส่งผลกระทบต่อตลาดซื้อขายข้าวเปลือกและราคาข้าวสารในตลาดทันที โดยวันนี้ราคาซื้อขายข้าวทุกชนิดขยับขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 บาท/ตัน

“ราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) ขณะนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 8,000-8,200 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ที่ราคาข้าวเปลือกลดลงต่ำสุดที่ 7,200-7,400 บาท/ตัน หรือต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ข้าวสารในประเทศราคาขยับขึ้นเช่นกัน ราคาซื้อขายอยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม จากที่เคยอยู่ที่ 10-11 บาท/กิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากคำสั่ง คสช. ที่สั่งหยุดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ส่งผลให้ไม่มีข้าวไหลในสต๊อกไหลออกสู่ตลาด ผู้ซื้อที่เคยซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลได้ จึงต้องมาไล่ซื้อข้าวในตลาด” มานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุ

สอดคล้องกับความเห็นของ สมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่มองว่า ราคาข้าวที่ขยับขึ้นในช่วงนี้เป็นผลมาจากผู้ซื้อไม่สามารถเอาข้าวมาจากสต๊อกรัฐบาลได้ จึงต้องไปซื้อข้าวในตลาดส่งผลให้ภาพรวมราคาข้าวปรับตัวขึ้นมาดีขึ้น โดยราคาซื้อขายข้าวเปลือกเพิ่มเป็น 8,000 บาท/ตัน ส่วนราคาส่งออกข้าวของไทยยังคงทรงตัว เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่แนวโน้มราคาข้าวไทยอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น

“การสั่งตรวจสต๊อกข้าวและหยุดการซื้อขายทั้งหมดทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพมากขึ้น แตกต่างจากในช่วงที่มีการเร่งระบายข้าวจากสต๊อกจำนวนมาก ซึ่งกดทับราคาข้าวลงสู่จุดต่ำสุด” สมเกียรติ ระบุ

สมเกียรติ ยังบอกว่า การสั่งยุติระบายข้าวจากสต๊อกชั่วคราว ไม่ทำให้ไทยเสียโอกาสในการขายข้าวให้กับต่างประเทศ เพราะพ่อค้ายังสามารถซื้อข้าวในตลาดได้ อีกทั้งประเมินว่ากลุ่มของโรงสีมีการเก็บสต๊อกข้าวไว้จำนวนมากตั้งแต่รัฐบาลยุติโครงการรับจำนำ ซึ่งน่าจะรองรับต่อความต้องการซื้อของผู้ส่งออกในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ส่วนราคาส่งออกข้าว

ไทยจะปรับฐานขึ้นไปสูงถึง 450-500 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือไม่ คงบอกไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายของ คสช. เช่น หากปล่อยข้าวออกมาในปริมาณมากก็จะทำให้ปรับตัวลดลง แต่หากปล่อยออกมาในปริมาณเหมาะสม ราคาข้าวก็ทรงตัวและปรับตัวสูงขึ้นได้

ในขณะที่นักวิชาการที่คร่ำหวอดในวงการข้าว เช่น สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันคลังสมองของชาติ ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า “พอผู้ซื้อรู้ว่า คสช. ยุติการระบายข้าว ราคาข้าวสารในตลาดปรับเพิ่มขึ้นทันที 10-15 เหรียญสหรัฐ/ตัน เช่น ข้าว 5% เวียดนามราคาเพิ่มขึ้นเป็น 405-415 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 390-400 เหรียญสหรัฐ/ตันในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่ราคาข้าว 5% ของไทยราคาเพิ่มเป็นอยู่ที่ 380-390 เหรียญสหรัฐ/ตัน และน่าจะไปถึงระดับ 400 เหรียญสหรัฐ/ตันได้ จากที่เคยซื้อขายต่ำสุดที่ 365-375 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตอนที่รัฐบาลเร่งระบายข้าว”

สมพร ยังให้ข้อมูลว่า ในช่วง รมช.พาณิชย์ เข้าชี้แจงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีปริมาณข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล พ่อค้าในวงการระบุว่า มีการย้ายข้าวสารจากโกดังข้าวแถว จ.อยุธยา และอ่างทองขึ้นไปพิษณุโลกบางวันมากถึง 250 คันรถสิบล้อ เพราะเอาข้าวไปเติมโกดังข้าวที่ขาด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ คสช. จะเข้ายึดอำนาจและล็อกกุญแจโกดังข้าว

ทว่า ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกลับไม่ได้ทำให้นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อย่าง นิพนธ์ พัวพงศกร ยินดีปรีดากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก

“ราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นมาในระยะนี้ เป็นผลทางอ้อมจากการเข้ามาตรวจสอบสต๊อกรัฐของ คสช. เท่านั้น แต่ไม่ใช่การสร้างราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นถาวร และสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า ก็คือสต๊อกข้าวรัฐบาลที่คาดว่าจะมีประมาณ 15-16 ล้านตันนั้น คาดว่าจะเหลือข้าวคุณภาพดีสามารถขายได้จริงเพียง 10 ล้านตัน เพราะมีการทุจริตในการนำข้าวสารเข้าโกดัง เช่นการนำข้าวเก่าไปเวียนเทียนข้าวใหม่ และข้าวหายเช่นเดียวกับมูลค่าความเสียหายจากโครงการในช่วง3 ปีอยู่ในระดับที่สูงมาก” นิพนธ์ กล่าว

นิพนธ์ ทิ้งปมว่า หลัง คสช. เคลียร์สต๊อกข้าวในโครงการรับจำนำจบแล้ว ทิศทางราคาข้าวไทยจะไปทางไหน ขึ้นอยู่กับนโยบายบริหารจัดการหลังจากนี้ ซึ่งนิพนธ์ มองว่า หากปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ ราคาข้าวไทยจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 400 เหรียญสหรัฐ/ตันและขยับเป็น 500 เหรียญสหรัฐ/ตันได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากระทบ เช่น ภาวะภัยแล้งหนัก

จากนี้ไปคงต้องจับตาผลการตรวจโกดังข้าวรัฐบาลว่ามีบทสรุปอย่างไร แต่ราคาข้าวเปลือกที่ปรับสูงขึ้นทำอย่างไรให้ชาวนาได้ประโยชน์เต็มที่

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24 มิถุนายน 2557