โรดแมปบริหารประเทศ ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคสช.นอกจากจะเพื่อสร้างความปรองดอง สลายสีเสื้อ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการแก้ปัญหาลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ ฯลฯ
คสช. “คืนความสุขให้คนในชาติ”
สิ่งหนึ่งที่คสช.ย้ำมาตลอด ก็คือ “การคืนความสุขให้คนในชาติ” ดังจากล่าสุดที่ คสช. สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) โดยให้เสริมแผนสร้างสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เน้นการทำให้สังคมอยู่กันด้วยการเคารพกฎหมาย และให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำทุกวิถีทางให้ค่าดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจว่าหลังวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา (คสช.ควบคุมอำนาจ) คนไทยมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่
ซึ่งว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะ สศช.เริ่มพัฒนา”ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุข” มาตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 8-9 ภายใต้กรอบแนวคิดว่า ความอยู่ดีมีสุขที่หมายถึงการมีสุขภาพอนามัยที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ มีความรู้ มีงานทำอย่างทั่วถึง มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ มีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคงอยู่ในสภาพ แวดล้อมที่ดี และอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ
ประกอบกับกระแสโลกขณะนั้นเองก็ได้ให้ความสนใจในความพยายามวัดความสุขประชาชน เมื่อประเทศภูฏานได้พัฒนา “ดัชนีความสุข” (Gross National Happiness: GNH) ขึ้นเมื่อปี 2547 ภายใต้แนวคิดที่ว่า การพัฒนาประเทศไม่ควรคำนึงถึงการพัฒนาด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว หากต้องคำนึงถึงความสุขของประชาชนในด้านจิตใจ และความสมดุลในการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆด้วย
สำหรับแผนพัฒนาฯ ฉบับ 11 สศช. ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” ของคนไทยจากที่ต้องปรับปรุง (ดัชนีระหว่างร้อยละ 60-69.9) ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 มาเป็นระดับปานกลาง (ดัชนีระหว่างร้อยละ 70-70.9)ในปีแรกของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 หรือในปี 2555 (ตารางประกอบ) ซึ่งในปี 2550 จากดัชนีชี้วัดอยู่ที่ร้อยละ 65.76 ได้ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 69.87 ในปี 2554 และร้อยละ 71.36 ในปี 2555
รับวัดค่ายาก
ในขณะที่มุมมองนักวิชาการจะสะท้อนเรื่องนี้อย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจเริ่มที่ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิตว่า การวัดดัชนีความสุขของประชาชน แม้จะเป็นเครื่องมือที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ดัชนีชี้วัดความสุขถือเป็นปัญหาทางทฤษฎีที่วัดได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของประชาชน
“รูปแบบการชี้วัดอาจให้ สศช. สร้างโมเดลขึ้นมาและให้นำมาเป็นประ เด็นถกเถียงทางวิชาการ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม เนื่องจากความสุขของประ ชาชนก็คือความมั่นคง ความแน่นอนของชีวิต และที่สำคัญมีความสุขแล้วจะต้องมีเสรีภาพด้วย วิธีวัดจึงต้องทำการสอบ ถามความรู้สึก ไม่ใช่จะวัดในเชิงปริมาณอย่างเดียว”
ถามสะท้อนได้จริง?
ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาสศช.จะได้จัดทำเครื่องชี้วัด “ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุข” แต่ก็มีประเด็นให้ถามกันว่า จะสามารถสะท้อนความสุขประชาชนได้จริงหรือ ?
โดยดัชนีดังกล่าว วัดจากเครื่องชี้วัดดังนี้ 1.การมีสุขภาวะที่ดี 2.ครอบครัวอบอุ่น 3.ชุมชนเข้มแข็ง 4.เศรษฐกิจเข้มแข็งและเป็นธรรม 5.มีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุล และ 6.สังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล
สอดคล้องกับนักวิชาการภาคเอกชนที่ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ 9 ปี คือหลังเหตุการณ์ คมช. ในปี 2549 หรือหลังวิกฤติการเมืองปี 2553 สังคมไทยอยู่ในภาวะความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย แต่ค่าดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขในปี 2554 และปี 2555 (หลังมหาอุทกภัยปี 2554) กลับยกระดับดีขึ้น
หนุนทำควบคู่กับจีดีพี
ด้าน ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบี กล่าวว่า ในช่วงแรกที่มีการวัดดัชนีความสุข อาจมองเป็นเรื่องแปลกเหมือนอย่างประเทศภูฏานทำใหม่ๆ แต่ในระยะหลังนักเศรษฐศาสตร์ให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งความเห็นส่วนตัว มองว่าการวัดดัชนีความสุขของประชา ชน เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการเครื่องชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐฯแม้เศรษฐกิจจะมีการเติบโตอย่างมาก แต่ความสุขของประชา ชนกลับมีไม่สูงมากนัก
แต่ประเด็นว่าจะใช้มาตรฐานใดในการวัด เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดว่าจะเริ่มจากดัชนีทางสังคมก่อน สำรวจสุขภาพประชาชนเป็นอย่างไร การเข้าถึงการให้บริการทางด้านสุขภาพ รวมถึงการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดเป็นอย่างไร การก่ออาชญากรรม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น เรียกว่าเป็นการใช้พื้นฐานการดูแลทางด้านสังคมก่อน หลังจากนั้นค่อยเริ่มใส่ปัจจัยด้านอื่นเข้าไป เช่น ความกังวล หรือความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ดัชนีชี้วัดความสุขของประชาชน หรือ Gross National Happiness: GNH ที่คสช. ต้องการเห็น สำคัญจึงอยู่ที่ตัวชี้วัดที่จะสะท้อนข้อเท็จจริงและน่าเชื่อถือ ต้องตามดูกันต่อว่าคสช.จะยึด “ดัชนีความสุข” ที่สศช.ทำอยู่แล้วหรือรูปแบบฉันใด
“ดัชนีชี้วัดความสุขเป็นปัญหาทางทฤษญีที่วัดได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของประชาชน”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8-11 มิถุนายน 2557