tdri logo
tdri logo
26 สิงหาคม 2014
Read in Minutes

Views

กรุงเทพธุรกิจรายงาน: เปิดผลศึกษาจำนำข้าว ขาดทุนพุ่ง 5.1 แสนล้าน

เปิดผลศึกษาทีดีอาร์ไอ ระบุจำนำข้าว 5 รอบการผลิตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขาดทุนทางบัญชีพุ่ง 5.19 แสนล้าน เม็ดเงินทุจริตสูง 1.11 แสนล้านบาท เกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมืองระดับสูง ชี้โครงการก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร แนะแก้ ก.ม.รัฐธรรมนูญ ก.ม.เลือกตั้ง ตีกรอบนโยบายประชานิยม ลดความเสียหายอนาคต

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และคณะได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การคอร์รัปชันกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าว ทุกเม็ด” นำเสนอสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยรายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 5 รอบ การผลิตตั้งแต่ ปี 2554/55 ถึงปี 2556/57 และประมาณการมูลค่าการทุจริตใน การระบายข้าว

รายงานศึกษาพฤติกรรมการทุจริตและประมาณการมูลค่าการทุจริตในการระบายข้าว 4 ประเภท คือ ปัญหาข้าวหาย จากโกดังกลาง การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ การขายข้าวให้ผู้เสนอราคาซื้อแบบลับๆและโครงการข้าวถุงราคาถูกของกระทรวงพาณิชย์ โดยวิเคราะห์หลักฐานที่บ่งชี้ว่าการทุจริตในการระบายข้าว อาจมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ผู้มีอำนาจตัดสินใจระบายข้าว จากหลักฐานทางราชการ

ชี้ขาดทุนทางบัญชี 5.19 แสนล้าน

โครงการรับจำนำข้าว 5 ฤดูมีการรับจำนำข้าวเปลือก 54.35 ล้านตัน มีค่าใช้จ่ายรวม 9.85 แสนล้าน เป็นเงินซื้อข้าว 8.57 แสนล้านบาท เงินที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเงินนอกงบประมาณที่กู้จากสถาบันการเงินของรัฐ โดยรัฐบาลไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา โครงการมีการขาดทุนทางบัญชีสูงถึง 5.19 แสนล้านบาท (หรือเกือบ 53% ของค่าใช้จ่าย) ต้นตอของการขาดทุนจำนวนมหาศาล เกิดจากการรับจำนำในราคาสูง แต่ขายข้าวในราคาต่ำ เพื่อมิให้ผู้บริโภคซื้อข้าวราคาแพง และการทุจริตโดยขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก

ผลศึกษาระบุว่า ชาวนาทั่วประเทศได้รับผลประโยชน์ส่วนเกินสุทธิสูงถึง 5.6 แสนล้านบาทจากโครงการรับจำนำข้าว แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกเป็นของชาวนารายกลางและรายใหญ่ ซึ่งอาศัยในเขตชลประทานของภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง แต่มีข้อค้นพบสำคัญ คือ หากเรานับรวมผลประโยชน์และต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในโครงการรับจำนำ ปรากฏว่าต้นทุนสวัสดิการ (welfare cost หรือความเสียหายสุทธิต่อสังคม) สูงถึง 1.23 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นความสูญเสียต่อสังคมสูงกว่าประโยชน์ที่ตกแก่ชาวนาและผู้บริโภค

“ความสูญเสียไม่นับรวมความเสียหายที่วัดไม่ได้ เช่น ชื่อเสียงและคุณภาพข้าวไทย การถลุงทรัพยากรจากพฤติกรรมแสวงหาค่าเช่า และการค้าข้าวแบบพรรคพวกที่ทำลายระบบการค้าแบบแข่งขัน ดังนั้นวาทะกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่อ้างว่าโครงการเป็นประโยชน์ต่อชาวนา จึงเป็นเพียงความพยายามกลบเกลื่อนความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคมแบบขาดความรับผิดชอบ”

ยอดทุจริตจำนำข้าว 1.1 แสนล้าน

ส่วนการทุจริตนั้นรายงานได้ประเมินผลไว้ว่า มูลค่าการทุจริตในการระบายข้าวที่เกิดจากการจำนำราคาสูงขายข้าวในราคาต่ำกว่าตลาด คิดเป็นเงิน 84,476.20 ล้านบาท

ขณะที่มูลค่าการทุจริตแยกตามวิธีระบายข้าว 3 วิธี มีมูลค่า 78,873 ล้านบาท ประกอบด้วย การทุจริตจากการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 7.8 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 45,094 ล้านบาท หรือ 57% การทุจริตจากการเลือกขายข้าวให้พ่อค้าพรรคพวกที่เสนอซื้อในราคาต่ำ ราว 4 ล้านตัน เป็นเงิน 21,512 ล้านบาท หรือ 27% และการทุจริตจากโครงการข้าว ธงฟ้า/ข้าวถุงถูกใจ 1.1 ล้านตัน เป็นเงิน 12,267 ล้านบาท หรือ 6 %

นอกจากนี้ยังมีการทุจริตข้าวหาย 2.9 ล้านตัน เกิดจากผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ใช้อำนาจนำข้าวเปลือกหรือข้าวสารจากโรงสีในโครงการฯ ไปขายให้ผู้ส่งออก (ข้าวนึ่ง) และพ่อค้าข้าวถุง แล้วจัดหาข้าวราคาต่ำมาส่งคืนโกดังในภายหลัง มูลค่าทุจริตส่วนนี้เท่ากับ 25,616.95 ล้านบาท และรายงานล่าสุดในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวในเดือนก.ค. 2557 ยังพบว่ามีข้าวบางส่วนที่ไม่ได้นำมาคืน คาดว่ารัฐจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกราว 6.5 พันล้านบาท

“การทุจริตเกิดจากการใช้อำนาจของรัฐในการจัดการสต็อกและการระบายข้าว และการที่โรงสีหรือเจ้าของโกดังบางแห่งแอบขโมยข้าวโดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ รวมมูลค่าทุจริตทั้งการค้าข้าวรัฐต่อรัฐ, การเสนอซื้อข้าวราคาต่ำ, ข้าวถุง, ข้าวหายจะคิดเป็นเงิน 1.11 แสนล้านบาท”

ชี้ผู้มีอำนาจการเมืองเอี่ยวทุจริต

รายงานได้พบหลักฐานเชื่อมโยง ที่ทำให้เชื่อว่าการทุจริต อาจเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจทางการเมืองระดับสูงมีดังนี้ 1.ตัวเลขการส่งออกของกรมศุลกากร ไม่ปรากฏว่ามีตัวเลขการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐและรัฐบาลไม่เปิดเผยตัวเลขส่งออกแบบรัฐต่อรัฐ ทั้งปริมาณและราคาโดยอ้างว่าเป็นความลับ

2.เปิดให้มีการยื่นเสนอราคาซื้อข้าวของรัฐ แต่ไม่รายงานข้อมูลปริมาณและราคาที่ขายให้พ่อค้าแต่ละราย รวมทั้งการที่มีพ่อค้าเพียงไม่กี่ราย ที่สามารถซื้อข้าวจากรัฐโดยการเสนอราคา 3.หลักฐานการทุจริตในโครงการข้าวถุงที่ตรวจสอบพบโดยคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา

4.ปัญหาข้าวหายที่ตรวจสอบพบโดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ น่าจะเกี่ยวพันกับการที่ประเทศไทยยังมียอดการส่งออกข้าวนึ่ง ทั้งๆที่ไม่ได้มีการอนุมัติให้มีการสีข้าวนึ่งในโครงการฯมีการระบายข้าวสารเก่า ในโครงการจำนำก่อนปี 2554 อย่างต่อเนื่องถึง 2 ล้านตัน การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ยอมให้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้ตลอดทั้งปี แทนการอนุมัติเฉพาะช่วงที่ขาดแคลน และการออกมาตรการผ่อนผันให้โรงสีชะลอการสีแปรจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องสีให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน

ชี้แห่เพิ่มผลผลิตสูญเสียทรัพยากร

รายงานประเมินถึงการแสวงหากำไร พิเศษหรือค่าเช่าทางเศรษฐกิจพบว่า โครงการจำนำพบว่ามีผู้ได้รับค่าเช่าทั้งสิ้น 6 กลุ่ม มูลค่ารวมกว่า 5.85 แสนล้านบาท ชาวนาได้รับค่าเช่าเศรษฐกิจไปมากที่สุด 51% ผู้บริโภคได้ไป 24% พ่อค้าพรรคพวกได้ไป 14%โรงสีได้ไป 9% โกดังได้ไป 2 %และเซอร์เวเยอร์ได้ 0.4%

“การรับจำนำข้าวก่อให้เกิดกำไรพิเศษจำนวนมหาศาลแก่ผู้เกี่ยวข้อง จึงลงทุนทุ่มทรัพยากรเพื่อแสวงหากำไรพิเศษเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรและโรงสีจึงมีพฤติกรรมการแสวงหากำไรพิเศษ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตโดยเกษตรกรจำนวน 57.06 % เพิ่มการใช้ปุ๋ย ฉีดยา และดูแลแปลงและควบคุมระดับน้ำมากขึ้น ขณะที่โรงสีลงทุนขยายกำลังการผลิตทำให้มีกำลังการผลิตถึง 100 ล้านตันต่อปี ทั้งที่ไทยผลิตข้าวเพียงปีละ 35 ล้านตัน และเจ้าของโกดังเร่งขยายความจุโกดัง เป็นการถลุงทรัพยากรที่สูญเปล่าและส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”

รายงานระบุว่า รัฐบาลบริหารจัดการนโยบายรับจำนำข้าว แบบขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนและรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยปละละเลยปัญหาการทุจริตในการระบายข้าว การไม่ใส่ใจกับรายงานข้าวหายจากโกดังกลาง แต่กลับสั่งให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนประธานคณะอนุกรรมปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว การโกหกประชาชน และการปิดบังข้อมูลการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ การปล่อยให้ค่าใช้จ่ายของโครงการรับจำนำบานปลาย

แนะแก้ ก.ม. ตีกรอบประชานิยม

รายงานยังมีข้อเสนอแนะ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายงบประมาณรายจ่ายสำหรับโครงการจำนำข้าว และโครงการประชานิยมทั่วไป โดยควรกำหนดให้พรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมหาเสียง ต้องให้ความชัดเจนของนโยบาย เช่น ประชาชนจะได้อะไร และมีต้นทุนในการดำเนินโครงการเท่าไร เมื่อได้เป็นรัฐบาล จะต้องแถลงนโยบายให้รัฐสภาทราบตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะที่มาของเงินค่าใช้จ่ายและจะหารายได้ชดเชยอย่างไร พร้อมกับต้องเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณสำหรับนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้ต่อรัฐสภาทุกปี

นอกจากนี้ให้มีการจัดทำบัญชีรวมของโครงการรับจำนำข้าวและโครงการช่วยเหลือเกษตรกรทุกโครงการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภารับทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รายรับ ผลกำไรขาดทุน ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ของนโยบาย

การเปิดเผยข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวและโครงการประชานิยม โดยการแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เพิ่มมาตราที่กำหนดให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยม และการแทรกแซงตลาด เช่น ค่าใช้จ่าย รายรับ ผลกำไรขาดทุน และรายละเอียดของการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้นและสามารถตรวจสอบได้

จี้จำกัดรัฐเข้าแทรกแซงตลาด

นอกจากนี้ต้องจำกัดบทบาทรัฐในการแทรกแซงตลาด โดยรัฐต้องตราพระราชบัญญัติ จำกัดขอบเขตการแทรกแซงตลาด และการประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับเอกชน เพื่อมิให้นโยบายของรัฐบาลทำลายการแข่งขันในตลาด เช่น ห้ามมิให้รัฐบาลแทรกแซงซื้อข้าวจากเกษตรกรเกินกว่า 5%-10% ของปริมาณการบริโภคในประเทศ เป็นต้น

การจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบและบทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าว เพื่อนำเสนอต้นทุนการศึกษา ภาวะขาดทุน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน

รัฐควรที่จะดำเนินการ ออก พ.ร.บ.การประกันราคาพืชผลเกษตร โดยพยายามจำกัดวงเงินการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่ราคาพืชผลตกต่ำและควรเร่งปรับปรุงข้อมูลนโยบายชดเชยความเสียหายของพืชผล ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และจะต้องดำเนินการลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพผลผลิตข้าวช่วยเหลือเกษตรกรยั่งยืน

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 สิงหาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด