tdri logo
tdri logo
1 สิงหาคม 2014
Read in Minutes

Views

กรุงเทพธุรกิจรายงาน: “ความยั่งยืน” นามธรรมสู่รูปธรรม

การพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจเป็นแนวความคิดที่ฟังดูเหมือนเป็นนามธรรม ที่คนอาจมองว่าเป็นคำที่ฟังดูดี แต่ว่าไม่ใกล้ตัว กินไม่ได้แต่จริงๆ แล้ว ทุกวันนี้การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในเฉพาะระบบเศรษฐกิจไทยที่ไปเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโลก

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาและหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ว่าหากประเทศพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยละเลยประชาชน โดยละเลยสังคม เอาเปรียบแรงงาน เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม เป็นการยากที่จะทำมาค้าขายกันต่างประเทศได้

ซึ่งการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยากมากยิ่งขึ้น โจทย์ของประเทศจึงเป็นโจทย์ที่ใหญ่ และท้าทายในฐานะ TDRI เป็นหน่วยงานวิชาการ จึงยากมีส่วนร่วมที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น แต่คำถามคือ ทำอย่างไร เลยมีความจำเป็นต้องมีการค้นคว้ามีการวิจัย เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และมั่นใจว่า ถ้าดำเนินการพัฒนาประเทศตามแนวทางที่เกิดจากการค้นคว้า และวิจัยในหลายๆ โจทย์ที่คิดค้นจะไม่เกิดความผิดพลาด

อย่างไรก็ดี TDRI ก็ประสบกับโจทย์ๆ หนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ นั่นคือ “เรื่องของการศึกษา”

“คุณภาพการศึกษาในประเทศไทยตกต่ำลงมาก เป็นเรื่องที่มีข้อมูลสนับสนุนจริง ยกตัวอย่างเช่น คะแนนสอบประเทศไทย ทั้งที่สอบในประเทศไทยเองและไปสอบเทียบในประเทศอื่นๆ คะแนนของไทยตกต่ำลดลงมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนว่าการศึกษาของเราขยายปริมาณ แต่คุณภาพนั้น ด้อยลงๆ แล้วก็จะไปเกี่ยวเนื่องกับโจทย์แรกด้วย ถ้าเราจะไปพัฒนาประเทศต่อให้เรามีแนวคิดที่ดี แต่ถ้าคุณภาพของคนเราไม่ถึงก็ไปไม่ได้ เพราะการพัฒนาคนนั้นสำคัญที่สุด”

ดังนั้น TDRI จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ช่วยคิดหาวิธีปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ร่วมกับองค์กรต่างๆ จำนวนมาก นอกจานั้นยังมีองค์กรระหว่างประทเศที่จะมาร่วมงานด้วย อาทิ ธนาคารโลก วิทยาลัยฝึกหัดครูของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการจะทำให้การศึกษาของประเทศไทยดีขึ้นเช่นกัน

“เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่กินใจของคนทุกๆ ภาคส่วน ภาคธุรกิจเองก็คิดว่าถ้าแรงงานไม่มีคุณภาพธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ พ่อแม่ก็รู้สึกเป็นห่วงอนาคตลูกผมว่าเรื่องนี้แม้ในมุมหนึ่งคนไทยจะมองว่าเป็นโจทย์ที่ยากมาก แต่รู้สึกได้ว่ามีพลังในเรื่องนี้ อยู่เยอะ พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน อยากให้ลูกของคนได้รับการศึกษาที่ดี เพราะการศึกษาทำให้มีความสามารถอยู่รอดในสังคมและในอนาคตได้ เขาเรียกว่ามีการเคลื่อนย้ายทางสังคม มีการศึกษาก็ไม่ต้องเป็นคนจนต่อไปอย่างนี้เป็นต้น”

ดร.สมเกียรติ บอกว่า การวิจัยของ TDRI เริ่มทำไปเมื่อปีที่แล้ว และกำลังจะต่อยอดในปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นข้อผิดพลาดจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือ ยิ่งปฏิรูปการศึกษาที่เคยเป็นอยู่ ยิ่งทำให้สองเรื่องต้องห่างกันออกไปทุกทีๆ โดยเรื่องแรกก็คือ คะแนนสอบนักเรียนที่ใช้วัดคุณภาพการศึกษา และอีกเรื่องหนึ่งคือผลตอบแทนของครูและโรงเรียน ในขณะการเรียนของนักเรียนแย่ลง แต่เงินเดือนของครูเพิ่มขึ้น และโรงเรียนเองก็ได้รับการประเมินโดยสำนักมาตรฐานการศึกษาให้ผ่านเกณฑ์ ซึ่งทาง TDRI มองว่าเรื่องเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นพร้อมกัน

“การที่นักเรียนมีผลการเรียนแย่ลง ในขณะที่โรงเรียนและครูรู้สึกว่าตัวเองดีขึ้น มันต้องมีอะไรผิดปกติแล้ว อันนี้เป็นจุดที่เราค้นพบ และก็พบว่า ครูนั้นใช้เวลาจำนวนมากไปในสิ่งที่ไม่ส่งผลกับการเรียนของนักเรียน เช่นครูต้องไปเขียนเอกสารวิชาการต่างๆ ครูต้องไปทำอะไรต่างๆ มากมาย ทำงานธุรการทำแบบประเมิน แล้วการประเมินของครูไปอยู่ตรงนั้น

น้ำหนักของระบบที่กระทรวงศึกษาในปัจจุบันนี้ ให้กับการที่ครูช่วยทำให้การเรียนของนักเรียนดีขึ้น มีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วมันคือหน้าที่หลักของครูอาจารย์เลยด้วยซ้ำ แต่ 97 เปอร์เซ็นต์ กลับไปดูเรื่องความสามารถของครูในการเขียนบทความวิชาการต่างๆ ได้ดีขนาดไหนอะไรต่างๆพวกนี้

..ด้วยระบบการประเมินเป็นแบบนี้ ครูก็ต้องวิ่งไปทางนั้น เพื่อที่ครูอยากจะได้เลื่อนขั้น เป็นตัวอย่างที่ว่าถ้าเราอยากจะได้การศึกษาที่ดี เราวิจัยและตีปัญหาได้แตก โอกาสปฏิรูปแล้วสำเร็จจะมีเยอะ”

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด