ซิป้าและทีดีอาร์ไอแถลงผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยปี 2556 โต 9.9% คาดการณ์สิ้นปี 2557 โตประมาณ 8.6% โดยยังต้องเร่งสร้างบุคลากรคุณภาพสูงต่อไป
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2556 และประมาณการปี 2557 โดยนางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รักษาการผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า การสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เป็นกิจกรรมที่ ซิป้าจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามความก้าวหน้าตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ได้ร่วมงานต่อเนื่องกับทีดีอาร์ไอ
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอและ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการสำรวจในปี 2556 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการปรับปรุงการจัดหมวดหมู่กิจกรรมของอุตสาหกรรมในประเทศไทย (TSIC) จาก TSIC2001 เป็น TSIC2009 ซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่ของธุรกิจซอฟต์แวร์ละเอียดมากขึ้น ทำให้พบจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 985 บริษัท เป็น 1,705 บริษัท คณะผู้สำรวจได้ปรับผลการสำรวจในปี 2555 ย้อนหลังให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้ผลการสำรวจในปีนี้สามารถเปรียบเทียบกับปี 2555 ได้
การสำรวจพบว่า ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 45,652 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2555 ร้อยละ 9.9 โดยจำแนกเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 10,661 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.9 และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ 34,991 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.2 โดยภาคการเงินยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด
ในส่วนของตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้นพบว่า ปี 2556 ที่ผ่านมามีมูลค่าการผลิตสูงถึง 5,730 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 34.4 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก เนื่องจากได้รับประโยชน์จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 มีการส่งมอบรถยนต์จำนวนมาก ประกอบกับอุตสาหกรรมรถยนต์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในด้านการส่งออกนั้น ประเทศไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวรวมกันทั้งสิ้นมูลค่า 5,700 ล้านบาทในปี 2556 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ร้อยละ 53.9 การส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวร้อยละ 41.2 และที่เหลือเป็นการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูปร้อยละ 4.9
การสำรวจยังพบว่า ตลาดราชการมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ไม่รวมซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว และ 2 ใน 3 เป็นตลาดของภาคเอกชน ทั้งนี้ ยังคาดว่า มูลค่าตลาดของหน่วยงานราชการในปี 2557 จะชะลอตัวลงมาก สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้สถานที่ราชการหลายแห่งถูกปิดในต้นปี หลังจากนั้น ยังมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการ ทำให้การตรวจรับงานและการจัดซื้อซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ตามโครงการใหม่ๆ ต้องล่าช้าออกไป ในส่วนของตลาดภาคเอกชนนั้น คาดการณ์ว่า องค์กรต่างๆ ยังจะไม่ลงทุนด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มากนัก เนื่องจาก คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตโดยรวมในปี 2557 ในอัตราประมาณร้อยละ 1.5 ซึ่งจะทำให้การผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 49,560 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 8.6 โดยเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 11,698 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 9.7) และบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 37,862 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 8.2) ส่วนการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้น คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12.3
กล่าวโดยสรุป มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวของไทยจะเติบโตต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงบ้างในปีนี้ และจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคต หากสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในทุกด้าน