ไทยโพสต์รายงาน: โมบายล์แอพฯ ทางรอดเอสเอ็มอี

ปี2014-08-04

จากผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2556 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า จัดทำร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ พบว่า ตลาดซอฟต์แวร์สำเร็จรูป บริการซอฟต์แวร์ มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นภายในประเทศ 45,652 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตรวมจากปี 2555 ที่ 9.9%

ทั้งนี้ คาดว่า ตลอดปี 2557 มูลค่าตลาดของหน่วยงานราชการจะชะลอตัวลงมาก จากสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนตลาดภาคเอกชนนั้น ยังจะไม่ลงทุนด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มากนัก ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตโดยรวมทั้งปี 2557 ที่ 1.5% ซึ่งจะทำให้การผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 49,560 ล้านบาท หรือเติบโต 8.6%
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า มูลค่าของการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป เมื่อจำแนกตามระบบปฏิบัติการแล้ว สัดส่วนของการผลิตที่มีการเติบโตมากที่สุดคือ ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้ในเซิร์ฟเวอร์ เติบโตถึง 55.8% เป็นการผลิตใช้ในระบบวินโดวส์ 70% และ 30% เป็นลีนุกซ์

ส่วนที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเกือบทั้งหมดเป็นระบบวินโดวส์ เติบโตที่ 37.5% และการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้โมบายล์ซึ่งมีการเติบโตถึง 6.6% แบ่งเป็นระบบปฏิบัติการไอโอเอส 47% แอนด์ดรอยด์ 42% และวินโดวส์ 11%

สิ่งที่น่าสนใจคือ ตลาดการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปในโมบายล์มีทิศทางที่ดี เป็นตลาดที่ยังพัฒนาได้อีกมาก มูลค่าการเติบโตจาก 6.6% คิดเป็น 709 ล้านบาท ยิ่งมีการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น การผลิตส่วนนี้ก็จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งเป็นการผลิตที่ใช้การลงทุนไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับการผลิตซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในส่วนอื่น ดังนั้น กลุ่มบริษัทรายเล็กหรือเอสเอ็มอี ควรหันมาสนใจการพัฒนาส่วนนี้มากขึ้น

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาของผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอีนั้น คือ เรื่องขาดสภาพคล่อง เรื่องเงินทุน ดังนั้น ควรลงทุนในภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ มองว่าตลาดเอกชนและตลาดนอกประเทศมีทิศทางที่โอกาสเติบโตสูงกว่า และถ้าจะให้อยู่รอดได้จะต้องรวมตัวกันชัดเจน เพื่อร่วมกันทำในสิ่งที่ตนถนัดแล้วผลิตออกมาขายเป็นโซลูชั่น

ทั้งนี้ มองว่าตลาดโมบายล์เป็นตลาดที่น่าใจมากสำหรับรายเล็ก เพราะสามารถทำตลาดส่วนนี้ได้ง่าย เงินทุนที่ใช้ในการผลิตก็ไม่มากนัก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีรายเล็กหลายรายรวมกลุ่มกันเพื่อทำตลาดนี้ โดยรายเล็กที่ทำโมบายล์แอพพลิเคชั่นนั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกับรายใหญ่ สามารถทำเองได้

ขณะที่นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รักษาการผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า เห็นด้วยที่รายเล็กจะอยู่รอดได้นั้นต้องมีการรวมกลุ่มกัน หรือเป็นการทำตลาดในส่วนโมยายล์ให้เติบโตขึ้น ในส่วนของซิป้าได้สนับสนุนโครงการที่เป็นสตาร์ทอัพมาแล้วเกือบ 100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ 50-60% สนใจการทำโมบายล์แอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นเกม การแจ้งเตือน หรือการค้นหาเส้นทาง มองว่าการผลิตแอพพลิเคชั่นจะเป็นเทรนด์ที่คนให้ความสนใจมากขึ้นในอนาคต และมูลค่าตลาดส่วนนี้ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับซิป้าได้สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สนใจการทำงานในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า บุคลากรด้านนี้ยังคงขาดแคลน โดยซิป้าได้จัดทำโครงการบ่มเพาะและเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม เป็นปีที่ 3 แล้ว เป็นโครงการที่ซิป้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 นักศึกษาที่จบใหม่และยังไม่ได้เข้าทำงาน รวมทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระที่มีความประสงค์ในการฝึกฝนเพิ่มเติมทักษะเพื่อเข้าทำงานประจำในอุสาหกรรมซอฟต์แวร์

ทั้งนี้ นักศึกษาและผู้ที่เข้ารับการอบรมจะได้มีโอกาสรับการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานจากผู้ประกอบการตัวจริงจากธุรกิจซอฟต์แวร์ของเมืองไทย และยังได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนจากโครงการ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม และลดอัตราการว่างงานของบัณฑิตที่จบในสายวิชาชีพซอฟต์แวร์

สำหรับการจัดฝึกอบรมมีระยะเวลา 3-4 เดือน มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการที่ผ่านมาแล้ว 1,000-2,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งนักศึกษาให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากแอพพลิเคชั่นเป็นเรื่องใกล้ตัว นักศึกษาก็ใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว เชื่อว่าโครงการนี้จะกระตุ้นให้เกิดบุคลากรในสายอาชีพนี้เพิ่มขึ้น

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 3 สิงหาคม 2557