นักวิชาการมองต่างมุม…“ทาง 2 แพร่ง” ที่ยังไม่ตกผลึก!

ปี2014-08-18

จาก​แนว​คิด “มาตรการ​โอน​เงิน​ภาษี​ช่วย​คน​จน” เพื่อ​คืน​ความ​สุข​ให้​กับ​คน​มี​ราย​ได้​น้อย “ทีม​เศรษฐกิจ” ขอ​นำ​เสนอ “แนว​คิด​ต่าง” จาก​นัก​วิชาการ​ภาค​ส่วน​ต่างๆ ซึ่ง​ได้​มี​การ​ศึกษา​เกี่ยว​กับ “ราย​ได้​ของ​แรงงาน​ไทย และ​มาตรการ​ใน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้​มี​ราย​ได้​น้อย” ดังนี้

 

ดร.วรวรรณ ชาญ​ด้วย​วิทย์

ที่​ปรึกษา​ด้าน​หลักประกัน​ทาง​สังคม สถาบันวิจัย​เพื่อ​การ​พัฒนา​ประเทศไทย

ก่อน​พูด​ถึง “มาตรการ​นโยบาย​คืน​ภาษี​คน​จน หรือ Negative Income Tax” ที่​เป็น​แนว​คิด​ของ​กระ​ทวง​การคลัง ขอ​ทำ​ความ​เข้าใจ​ข้อเท็จจริง​ของ​ตลาด​แรงงาน​ไทย​ใน​ปัจจุบัน​เสีย​ก่อน

ประการ​แรก วัน​นี้​โครงสร้าง​ตลาด​แรงงาน​ไทยยัง​ขาดแคลน​คน​ทำ​งาน มี​งาน​ให้​ทำ​มาก​กว่า​กำลัง​แรงงาน โดยเฉพาะ​งาน​ที่​ไม่ได้​อาศัย​ทักษะ ซึ่ง​ผู้​มี​ราย​ได้​น้อย​สามารถ​ทำได้ แต่​ถึง​อย่าง​นั้น ก็​ยัง​มี​ผู้​ว่างงาน​โดย​สมัคร​ใจ​ใน​ระบบ​แรงงาน​อยู่ดี ทำให้​ประเทศไทย​ต้อง​อาศัย​แรงงาน​ต่างด้าว​เป็น​จำนวน​มาก​เข้า​มา​ทำ​งาน นั่น​เป็น​เพราะ​คน​ไทย​ยัง​มี​ตัว​เลือก​ได้​ว่า​จะ​ทำหรือ​ไม่​ทำ​งาน​อะไร

ประการ​ที่​สอง โครงสร้าง​การ​จูงใจ​แรงงาน​ของ​ประเทศไทย​ปัจจุบัน​ก็​มี​ลักษณะ​ลัก​ลั่น ยก​ตัวอย่าง​ใน​สหรัฐฯ สำนักงาน​กองทุน​ประกัน​สังคม​ของ​สหรัฐฯ จะ​จ่าย​เงิน​ให้​เฉพาะ​แรงงาน​ที่​ถูก​นายจ้าง​ไล่​ออก​จาก​งาน​เท่านั้น เพื่อ​บรรเทา​ความ​เดือดร้อน​ของ​ลูกจ้าง​ที่​สูญเสีย​ราย​ได้​ไป​โดย​ไม่​สมัคร​ใจ

แต่​ใน​ประเทศไทย เงื่อนไข​การ​จ่าย​เงิน​อุดหนุน​ผู้​ว่างงาน​ของ​กองทุน​ประกัน​สังคม จ่าย​เงิน​ง่าย​มาก​คือ ถ้า​คุณ​เป็น​ผู้​ว่างงาน​ก็​จะ​ได้​รับ​เงิน​อุดหนุน​ส่วน​นี้​ทันที โดย​ไม่​เกี่ยง​ว่าแรงงาน​คน​นั้น​จะ​ว่างงาน​แบบ​เต็มใจ คือ​ลา​ออก​จาก​งาน​เอง หรือ​จะ​ถูก​ไล่​ออก​จาก​งาน​มา นี่​เป็น​สาเหตุ​หนึ่ง​ที่​ทำให้​ปัจจุบัน​มี​ผู้​ว่างงาน​โดย​สมัคร​ใจ​มาก​ถึง 70% ของ​จำนวน​ผู้​ว่างงาน​ทั้งหมด​ที่​รับ​เงิน​ช่วยเหลือ​การ​ว่างงาน​จาก​ประกัน​สังคม

เมื่อ​สถานการณ์​แรงงาน​ที่​เกิด​ขึ้น มี​ทั้งคน​ที่​ว่างงาน เพราะ​เลือก​งาน และ​มี​คน​ที่​เต็มใจ​ว่างงาน แต่​ก็ได้​รับ​เงิน​ช่วยเหลือ สังคม​จึง​ควร​ช่วย​กัน​ตัดสิน​ว่าข้อ​เสนอ​ของ​กระทรวง​การคลัง​มี​ความ​เหมาะสม​หรือ​ไม่

เพราะ​แม้​เป้าหมาย​ของ​มาตรการ​คืน​ภาษี​คน​จน หวัง​ให้​เป็น​มาตรการ​จูงใจ กระตุ้น​ผู้​มี​ราย​ได้​น้อย​ให้​ขยัน​ทำ​งาน​มาก​ขึ้น แต่​เมื่อ​นำ​มา​ใช้​ไม่​ตรง​จุด ผลลัพธ์​อาจ​กลับ​ข้าง​กลาย​เป็น​การ​สร้าง​วัฒนธรรม​ให้​คน​ไม่​ขยัน​ทำ​งาน​ได้ เหมือนกับ​นโยบาย​แจก​เงิน​อื่นๆ ที่​ประเทศไทย​เคย​ทำ​กัน​มา​แล้ว​ก่อน​หน้า​นี้

ยิ่ง​ไป​กว่า​นั้น ผู้​เสีย​ภาษี​ที่​ตั้งหน้าตั้งตา​ทำ​งาน ​โดยเฉพาะ​กลุ่ม​มนุษย์​เงินเดือน​ที่​มี​เปอร์เซ็นต์​การ​จ่าย​ภาษี​ใน​ระบบ​สูง​ที่สุด ​ต้อง​มา​แบก​รับ​ค่า​ใช้​จ่าย​จาก​มาตรการ​นี้​ด้วย กลาย​เป็น​การ​ซ้ำเติม​คน​ที่​ขยัน​ทำ​งาน​อยู่​แล้ว​เข้าไป​อีก ทั้งหมด​นี้​เป็น​ผลลัพธ์​ของ​มาตรการ​แจก​เงิน​ที่​เข้าไป​บิดเบือน​กลไก​ตลาด​แรงงาน

“ประสบการณ์​ของ​ประเทศ​ใหญ่​อย่าง​สหรัฐฯ เอง​ก็​เคย​ใช้​มาตรการ​แจก​เงิน​คน​จน​หวัง​จูงใจ​ให้​ขยัน​ทำ​งาน​มา​แล้ว แต่​เป็น​การทดลอง​นโยบาย​เพียง​ไม่​กี่​เมืองใน​ระยะ​เวลา​สั้นๆเท่านั้น แล้ว​ก็​เลิก​ไป​ใน​ภายหลัง เพราะ​พบ​ว่าไม่ได้​ผลสำเร็จ​ตาม​ที่​ตั้ง​เป้า​ไว้”

อย่างไรก็ตาม หาก​ประเทศไทย​ต้องการ​ช่วยเหลือ​คน​จน​ให้​ขยัน​ทำ​งาน อยาก​ให้​พิจารณา​มาตรการ​ของ​ประเทศ​แคนาดา ซึ่ง​มี​มาตรการ​ช่วยเหลือ​แรงงาน​ที่​มี​ราย​ได้​น้อย ด้วย​การ​นำ​ไป​ฝึก​อบรม​ทักษะ​ใน​การ​ทำ​งาน​อย่าง​จริงจัง โดย​ระหว่าง​การ​ฝึก​อบรม รัฐ​จะ​เป็น​ผู้​สนับสนุน​ค่า​ใช้​จ่าย​ให้​ทุก​เดือน และ​เมื่อ​จบ​การอบรม ได้​งาน​ที่​ดี​ทำ มี​ราย​ได้​ดีแล้ว รัฐ​จึง​จะ​เลิก​สนับสนุน เป็น​มาตรการ​ช่วยเหลือ​ด้าน​ราย​ได้ ที่​น่า​จะ​ตรง​จุด​มาก​กว่า “การ​แจก​เงิน”

 

ผศ.​ดร.​ธนวรรธน์ พล​วิชัย

รอง​อธิการบดี​ฝ่าย​วิจัย และ ผอ.​ศูนย์​พยากรณ์​เศรษฐกิจ​และ​ธุรกิจ มหาวิทยาลัย ​หอการค้าไทย

“การ​เสนอ​แนว​คิด​ใน​การ​แก้​ปัญหา​คน​จน​ดักดาน​ของ​ประเทศ ด้วย​การ​ใช้​เครดิต​ภาษี ถือ​เป็น​แนวทาง​ใหม่​ที่​อาจ​แก้​ปัญหา​ได้​บาง​ส่วน แต่​คง​ต้อง​ใช้​ร่วม​กับ​นโยบาย​อื่นๆด้วย”

เพราะ​หาก​พิจารณา​มาตรการ​ต่างๆใน​ช่วง​ที่​ผ่าน​มา ประเทศไทย​มี​ความ​พยายาม​แก้​ปัญหา​นี้​มา​หลาย​วิธี ส่วน​ใหญ่​เป็น​การ​แก้​ปัญหา​โดย​ใช้​กลไก​ทาง​เศรษฐกิจ เช่น การ​แจก​คูปอง​คน​จน 2,000 บาท การ​ให้​เงิน​กองทุน​หมู่​บ้าน การ​ลงทุน​ก่อสร้าง​โครงสร้าง​พื้นฐาน เพื่อ​ให้​เกิด​การ​สร้าง​งาน สร้าง​ราย​ได้ เป็นต้น

“แต่​มาตรการ​ต่างๆ ข้าง​ต้น​ก็​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ คน​จน​ก็​ยัง​ไม่​หมด​ไป​จาก​ประเทศ”

ทั้งนี้ จาก​ข้อมูล​ของ​สำนักงาน​สถิติ​แห่งชาติ และ​สำนักงาน​คณะ​กรรมการ​พัฒนาการ​เศรษฐกิจ​และ​สังคม​แห่งชาติ (สศช.) พบ​ว่า ใน​ปี 54 ประเทศไทย​มี​คน​จน​ดักดาน ที่​มี​ราย​ได้​ต่ำ​กว่า​เส้น​ความ​ยากจน​ของ​ประเทศ 8.8 ล้าน​คน คิด​เป็น​สัดส่วน 13.2% ของ​ประชากร​ทั้ง​ประเทศ

โดย​มี​ราย​ได้​เดือน​ละ 2,400 บาท ปี​ละ​ไม่​ถึง 30,000 บาท ไม่​เพียงพอ​ใน​การ​ทำให้​ชีวิต​มี​คุณภาพ หรือ​ซื้อ​สิ่ง​อำนวย​ความ​สะดวก​ใน​ชีวิต และ​อาหาร​ดีๆ ส่วน​ใน​ปี 56 คาด​ว่า​น่า​จะ​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น 9-10 ล้าน​คน ดังนั้น คน​กลุ่ม​นี้​จึง​ควร​ได้​รับ​การ​ดูแล​ให้​หลุดพ้น​จาก​ความ​ยากจน​แบบ​ดักดาน​ไป​ให้​ได้

แนว​คิด​เครดิต​ภาษี​ที่​เป็น​ข้อ​เสนอ​ทาง​วิชาการ โดย​สำนักงาน​เศรษฐกิจ​การคลัง (สศค.) กระทรวง​การคลัง​นั้น จะ​นำ​เอา​คน​ยากจน​ที่​มี​ราย​ได้​ไม่​เกิน​ปี​ละ 80,000 บาท​มา​ขึ้น​ทะเบียน และ​เข้า​สู่​ระบบ​ฐาน​ภาษี​เพื่อ​ให้​ได้​รับ​คืน​ภาษี​ปี​ละ 2,000-3,000 บาท​ต่อ​คน หาก​เป็น​สามี​ภรรยา เมื่อ​รวม​กัน​จะ​ได้ 4,000-6,000 บาท

“สำหรับ​คน​จน​แม้​เป็น​เงิน​ไม่​มาก​นัก แต่​อาจ​เริ่ม​ต้น​ชีวิต​ใหม่​ได้ เช่น ​นำ​ไป​ลงทุน​ค้าขาย​เล็กๆน้อยๆ นำ​ไป​ปลด​หนี้ ทำให้​คุณภาพ​ชีวิต​ดี​ขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เพื่อ​เป็น​การ​ตัด​ปัญหา​ว่า​จะ​เอา​อะไร​มา​เป็น​เกณฑ์​วัด​ว่า คน​ไหน “จน​หรือ​ไม่​จน” ทำ​งาน​จริง​หรือ​ไม่ หาก​จะ​แก้​ปัญหา​ความ​ยากจน​ด้วย​วิธี​นี้​จริงๆ ต้อง​ใช้​เกณฑ์​คน​จน​ดักดาน​ตาม​สำนักงาน​สถิติฯ และ​สศช.  ส่วน​วิธีการ​จะ​เริ่ม​อย่างไร  ก็​ต้อง​ลง​ทะเบียน  โดย​ขอความ​ร่วมมือ อบต. อำเภอ หรือ​ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจ​พื้นที่​ว่า​คน​เหล่า​นี้​คือ​ใคร พร้อม​กับ​เปิด​ให้​ลง​ทะเบียน และ​ตรวจสอบ จาก​นั้น​ก็​บันทึก​ใน​ระบบ​ภาษี เพื่อ​ให้​มี​โอกาส​ได้​คืน​ภาษี อาจ​ให้​ลง​ทะเบียน​ผ่าน​หมู​บ้าน แล้ว​แจ้ง​มายัง​ส่วนกลาง

“ที่​สำคัญ​ต้อง​กำหนด​ช่อง​ทางการ​จ่าย​เงิน​ให้​รัดกุม อย่า​ให้​รั่ว​ไหล”

ส่วน​เกษตรกร แม้​รัฐ​จะ​มี​วิธีการ​อื่น​ช่วยเหลือ​อยู่​แล้ว แต่​หาก​มี​ราย​ได้​ต่ำ​กว่า​ปี​ละ 30,000 บาท​ก็​ควร​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​นี้​เช่น​กัน เพราะ​คน​รวย​รัฐ​มี​การ​ช่วยเหลือ​ด้าน​ราย​ได้​มากมาย​เช่น การ​ลดหย่อน​ภาษี​สำหรับ​การ​ออม ทั้ง​การ​ซื้อ​ประกันชีวิต การ​ซื้อ​ตราสาร หรือ​กองทุน​หุ้น

อย่างไรก็ตาม การ​ให้​เงิน​ช่วยเหลือ​ดัง​กล่าว คง​ไม่​ใช่​ให้​แล้ว​ให้​เลย รัฐ​ต้อง​มี​ระบบ​การ​ตรวจสอบ และ​ประเมิน​ผล​ว่า เมื่อ​คน​เหล่า​นี้​ได้​เงิน​ช่วยเหลือ​ไป​แล้ว นำ​ไป​ใช้​อย่างไร มี​การ​ทำ​งาน​เป็น​หลักแหล่ง​หรือ​ไม่ รัฐ​ต้อง​มี​กระบวนการ​ทำ​งาน​อย่าง​รัดกุม​ที่สุด ไม่​เช่น​นั้น ก็​จะ​ไม่​รู้​เลย​ว่าคน​เหล่า​นั้น​สามารถ​หลุดพ้น​จาก​ความ​ยากจน​ได้​หรือ​ไม่ มี​ราย​ได้​ถึง​เกณฑ์​ที่​ต้อง​เสีย​ภาษี​แล้ว​หรือ​ยัง และ​อาจ​ต้อง​ช่วย​เรื่อยๆ ไม่​สิ้นสุด

“ถ้า​แนว​คิด​นี้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​อนาคต หาก​คน​เหล่า​นี้​มี​โอกาส​ใน​ชีวิต​ดี​ขึ้น มี​ราย​ได้​ดี​ขึ้น ก็​อาจ​หลุด​จาก​ความ​ยากจน​ได้ ซึ่ง​จะ​เกิด​ประโยชน์​กับ​ประเทศ​ที่​สามารถ​แก้​ปัญหา​ความ​ยากจน​ให้​หมด​ไป​ได้ ช่วย​ลด​ปัญหา​อาชญากรรม ลด​ปัญหา​สังคม​อื่นๆ และ​เมื่อ​คน​เหล่า​นี้​มี​เงิน ก็​จะ​นำ​ไป​ซื้อ​สินค้า ทำให้​รัฐบาล​เก็บ​ภาษี​มูลค่า​เพิ่ม​ได้​มาก​ขึ้น หรือ​หาก​ธุรกิจ​เล็กๆ น้อยๆ ที่​ลงทุน​มี​ผล​กำไร​มาก ก็​อาจ​เสีย​ภาษี​เงิน​ได้​บุคคล​ธรรมดา และ​ภาษี​เงิน​ได้​นิติบุคคล​ได้ ทำให้​ฐาน​ภาษี​เพิ่ม​มาก​ขึ้น”

“ถือ​เป็น​การ​สร้าง​ภูมิคุ้มกัน​ทาง​เศรษฐกิจ​ให้​กับ​ประเทศ โดย​กระตุ้น​ให้​เกิด​กำลัง​ซื้อ​ภายใน ทดแทน​การ​พึ่ง​พา​ต่าง​ประเทศ ซึ่ง​ถือ​เป็น​ความ​คุ้มค่า​ทาง​เศรษฐกิจ​มาก แม้​ใน​แง่​ของ​ตัวเงิน​ที่​จะ​คืน​ภาษี​ให้​คน​เหล่า​นี้​ใน​ช่วง​แรกๆ อาจจะ​ยัง​ไม่​คุ้มค่า​ก็ตาม”

แต่​ทั้งนี้ทั้งนั้น การ​ให้​เครดิต​ภาษี​ไม่​ใช่​คำ​ตอบ​เบ็ดเสร็จ หรือ​เป็น​วิธีการ​ที่​ดี​ที่สุด ที่​จะ​แก้​ปัญหา​ความ​ยากจน​ได้ หาก​ประเทศไทย​จะ​ใช้​วิธีการ​นี้​จริง คง​ต้อง​ดำเนิน​การ​ควบคู่​กับ​วิธีการ​อื่นๆ เช่น รัฐ​อาจ​ต้อง​ช่วย​ฝึก​อาชีพ เพื่อ​ให้​คน​เหล่า​นี้​มี​โอกาส​เข้าถึง​ราย​ได้​ได้​ง่าย​ขึ้น เพราะ​คน​จน​ดักดาน ส่วน​ใหญ่​จะ​ไม่​สามารถ​เข้าถึง​อาชีพ​ได้ เช่น ผู้​สูงอายุ หรือ​ผู้​ที่​ร่างกาย​ไม่​แข็ง​แรง หา​งาน​ทำ​ไม่ได้ ก็​ต้อง​ช่วย​สร้าง​อาชีพ​ให้​ด้วย

“การ​ให้​เครดิต​ภาษี ถือว่า​เป็น​หลัก​คิด​ที่​ดี รับ​ได้ แต่​ยัง​ขาด​การ​พิสูจน์​จาก​ต่าง​ประเทศ​ว่า ประเทศ​ที่​ใช้​วิธีการ​นี้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​หรือ​ไม่ สำหรับ​ไทย ขณะ​นี้​ยัง​เป็น​เพียง​แค่​การ​ศึกษา​เบื้องต้น​เท่านั้น เรา​อาจ​มี​ทาง​เลือก​อื่น​ที่​ดี​กว่า​ใน​การ​แก้​ปัญหา​ก็ได้ หาก​จะ​ใช้​วิธีการ​นี้​จริง ก็​ถือ​เป็น​ความ​ท้าทาย​ของ​ไทย แต่​ควร​มี​การ​เสนอ​รายละเอียด​เพิ่มเติม​ให้​สังคม​รับ​ทราบ และ​ช่วย​กัน​วิเคราะห์ วิจารณ์ เพื่อ​ให้​ได้​วิธีการ​ที่​ดี​ที่สุด และ​เหมาะสม​ที่สุด​สำหรับ​ประเทศไทย”

 

ดร.​เกรียงศักดิ์ เจริญ​วงศ์ศักดิ์

นัก​วิชาการ​อาวุโส มหาวิทยาลัย​ฮา​ร์​วา​ร์ด

“มาตรการ​โอน​เงิน​ภาษี​ช่วย​คน​จน” เป็น​แนว​คิด​ที่​ริเริ่ม​ขึ้น​โดย ศาสตราจารย์ มิ​ล​ตัน ฟรี​ด​แมน นัก​เศรษฐศาสตร์​รางวัล​โนเบล หลาย​ประเทศ​ได้​นำ​ไป​ใช้​จน​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​แก้​ปัญหา​ความ​ยากจน…

ผม​เคย​นำ​เสนอ​แนว​คิด​นี้​ต่อ​สังคม​ไทย​มา​ตั้งแต่​ปี 2551 และ​สำนักงาน​เศรษฐกิจ​การคลัง​ได้​ศึกษา​มาตรการ​นี้​มา​ระยะ​หนึ่ง​แล้ว และ​จัด​ทำ​เป็น​ข้อ​เสนอ​ต่อ​ คสช.​ใน​สัปดาห์​ที่​ผ่าน​มา…”

โดย​หลักการ​แล้ว มาตรการ​นี้​เป็น​เครื่องมือ​เอาชนะ​ความ​ยากจน​และ​ลด​ความ​เหลื่อมล้ำ​ใน​สังคม​ไทย​ได้ โดย​การ​ใช้​งบประมาณ​ตรง​กลุ่ม​เป้าหมาย และ​ช่วย​คน​จน​ให้​พึ่ง​พา​ตน​เอง​ได้ โดย​จูงใจ​ให้​ทำ​งาน​มาก​ขึ้น

อย่างไรก็ดี การ​ดำเนิน​มาตรการ​นี้​จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​รอบคอบ ซึ่ง​ใน​การ​สัมมนา​ของ สศค.​เมื่อ​ไม่​นาน​นี้ ตน​ได้​เสนอ​แนะ​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​ข้อ​เสนอ​ของ สศค.​ไว้ 5 ประการ​ดัง​ต่อ​ไป​นี้

ประการ​แรก การ​ศึกษา​บทเรียน​จาก​ต่าง​ประเทศ แม้​ว่า สศค.​ได้​ศึกษา​กรณี​ต่าง​ประเทศ​ถึง 9 ประเทศ แต่​เป็น​การ​ศึกษา​ลักษณะ​ที่​ปรากฏ​ของ​มาตรการ​เท่านั้น ยัง​ไม่ได้​ให้​น้ำหนัก​กับ​การ​พิจารณา​เหตุผล​เบื้องหลัง​ใน​การ​ออก​แบบ​มาตรการ​โอน​เงินฯ ใน​ต่าง​ประเทศ​ซึ่ง​มี​บริบท​แตก​ต่าง​จาก​ไทย และ​ยัง​ไม่ได้​ศึกษา​ลง​ลึก​ไป​ถึง​ปัญหา​ความ​ผิดพลาด และ​แนวทาง​การ​ปรับปรุง​มาตรการ​ใน​แต่ละ​ประเทศ

ประการ​ที่​สอง การ​ศึกษา​ข้อมูล​เชิง​ลึก​เกี่ยว​กับ​ความ​ยากจน​ใน​ประเทศไทย ข้อ​เสนอ​ของ สศค.​ตั้ง​อยู่​บน​ความ​จำกัด​ของ​ข้อมูล โดย​พิจารณา​ความ​ยากจน​ใน​มิติ​ราย​ได้ และ​ความ​ยากจน​ราย​บุคคล​เท่านั้น รวม​ทั้ง​มี​ข้อ​สมมติ​ว่าความ​ยากจน​เกิด​จาก​การ​ใช้​เวลา​ทำ​งาน​น้อย ซึ่ง​ไม่​สอดคล้อง​กับ​บริบท​ความ​ยากจน​ใน​ประเทศ​ทั้งหมด ผม​จึง​เสนอ​ว่า​ควร​มี​การ​สำรวจ​ข้อมูล​เชิง​ลึก​เกี่ยว​กับ​โครงสร้าง ลักษณะ และ​พฤติกรรม​ของ​คน​จน​ใน​ประเทศไทย เพื่อ​ให้​มี​ความ​เข้าใจ​และ​สามารถ​ช่วย​คน​จน​ได้​อย่าง​มี​ประสิทธิผล​มาก​ที่สุด

ประการ​ที่​สาม การ​ระบุ​ตำแหน่ง​ของ​มาตรการ​ใน​กลไก​แก้​ปัญหา​ความ​ยากจน​ใน​ภาพ​รวม ข้อ​เสนอ​ของ สศค.​ยัง​ไม่ได้​แสดง​ให้​เห็น​ภาพ​ทั้งหมด​ว่า กลไก​ช่วยเหลือ​คน​จน​ทั้ง​ระบบ​มี​อะไร​บ้าง มี​ช่อง​ว่าง​ตรง​ไหน และ​มาตรการ​นี้​ควร​เข้าไป​ช่วย​คน​จน​กลุ่ม​ใด ควร​ทดแทน​ระบบ​สวัสดิการ​ประเภท​ใด  ​หรือ​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ระบบ​สวัสดิการ​อื่นๆ อย่างไร

ประการ​ที่​สี่ การ​พิจารณา​เงื่อนไข​มาก​กว่า​เงิน​ได้​ราย​บุคคล สศค.​เสนอ​ว่า มาตรการ​ใน​ระยะ​แรก ควร​เป็น​มาตรการ​สำหรับ “ราย​บุคคล” เพราะ​คน​จน​ไม่​สามารถ​ให้​ข้อมูล​ซับซ้อน​ได้ แต่​เงื่อนไข​เช่น​นี้​อาจ​ทำให้​ครัวเรือน​ยากจน​ที่​มี​ภาระ​พึ่ง​พิง​ไม่ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​อย่าง​เพียงพอ ผม​จึง​เสนอ​ให้​พิจารณา​เงื่อนไข​อื่นๆ ด้วย เช่น จำนวน​และ​อายุ​ของ​บุตร เป็นต้น ซึ่ง​ข้อมูล​เหล่า​นี้​สามารถ​ตรวจสอบ​จาก​ทะเบียน​ราษฎรได้​ไม่​ยาก

ประการ​สุดท้าย ข้อ​ควร​ระวัง​ใน​ภาคปฏิบัติ เช่น การ​กำหนด​โทษ​ที่​รุนแรง​เกี่ยว​กับ​การ​ยื่น​แบบ​แสดง​เงิน​ได้​เป็น​เท็จ อาจ​ทำให้​คน​จน​ถูก​ลงโทษ​โดย​ไม่​ตั้งใจ เพราะ​คน​จน​ส่วน​ใหญ่​มัก​ไม่ได้​ทำ​บัญชี​รายรับ-รายจ่าย ข้อ​ควร​ระวัง​อีก​ประเด็น​หนึ่ง​คือ โครงการ​ช่วยเหลือ​คน​ยากจน​มัก​ไป​ไม่​ถึง​คน​จน​ที่แท้​จริง เพราะ​ไม่​รู้​ว่า​คน​จน​อยู่​ที่ไหน โดยเฉพาะ​คน​ไม่​มี​บ้าน​และ​คน​เร่ร่อน และ​คน​จน​มัก​ไม่​กล้า​เข้า​มา​ติดต่อ​กับ​ทาง​ราชการ

กล่าว​โดย​สรุปมาตรการ​โอน​เงินฯ มี​หลักการ​ที่​ดี แต่​การ​ดำเนิน​การ​ใน​ภาคปฏิบัติ​จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​ละเอียดลออ​ใน​การ​ออก​แบบ เพื่อ​ให้การ​แก้​ปัญหา​ความ​ยากจน​มี​ประสิทธิภาพ​และ​ประสิทธิผล.

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 18 สิงหาคม 2557