สำรวจมาตรการปราบโกงใน ตปท. ทีดีอาร์ไอเปิดผลประเมินองค์กรอิสระ

ปี2014-09-02

ในรายงานเรื่อง “สถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยและมาตรการต่อต้านการทุจริต” ซึ่งจัดทำโดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วย ดร.เลิศพร อุดมพงษ์และ น.ส.วรลักษณ์ สงวนแก้ว นักวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า และนำเสนอบนเวที “ปฏิรูปประเทศไทย: การต่อต้านการทุจริต” ภายใต้โครงการสัมมนาสู่ทศวรรษที่เก้า : ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย นั้น

ดร.ถวิลวดี และคณะ ได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลที่เป็นมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการทุจริตในต่างประเทศเอาไว้ หลายมาตรการ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจ และบางมาตรการอาจนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ เริ่มจาก กฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ในประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ชื่อว่า Whistleblower Protection Act 1989 มีสาระสำคัญคือ คุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลทุกวิธีการ, มีหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลและคุ้มครองผู้ที่กำลังจะเปิดเผยข้อมูล, มีบทลงโทษแก่ผู้ที่ ขัดขวางการเปิดเผยข้อมูลและสนับสนุน ผู้เปิดเผยซึ่งไม่ระบุนาม

ขณะที่ในประเทศอังกฤษ มีกฎหมายลักษณะคล้ายคลึงกัน ชื่อว่า Public Interest Disclosure Act 1998 มีสาระสำคัญให้การคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมไปถึง เจ้าหน้าที่และลูกจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น และไม่จำกัดวิถีทางการเปิดเผยข้อมูล นอกจากนั้นยังมี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การดำเนินคดีทุจริต ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Racketeer Influenced and Corrupt Organizations Act 1970 กำหนดให้กระบวนพิจารณาคดีทุจริตเป็นกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบพิเศษ เช่น การใช้เอกสารและมาตรการทางภาษีเพื่อพิสูจน์ความผิด เป็นต้น

ส่วนในประเทศอังกฤษ มีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาบังคับใช้นอกอาณาเขตประเทศหากเป็นการกระทำเกี่ยวข้องกับการทุจริต เรียกว่า UK Bribery Act 2010 มีสาระสำคัญกำหนดความผิดเกี่ยวกับการให้และรับสินบนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้ครอบคลุมและ มีผลบังคับใช้นอกอาณาเขตประเทศด้วย สำหรับมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการทุจริตของประเทศไทย ต้องเพิ่มเติมบทบัญญัติหรือความทันสมัยของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ, การป้องกันผลประโยชน์ ทับซ้อน, การเปิดเผยและแสดงทรัพย์สิน, การเข้าสู่ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต, การบังคับใช้จรรยาบรรณว่า ด้วยการดำเนินการทางธุรกิจและประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ

อย่างไรก็ดี การจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้เห็นผลนั้น นอกจากต้องมีกฎหมายที่ดีและทันสมัยแล้ว การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่มีอำนาจก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ “องค์กรอิสระ” ที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริต

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นโครงการ “ประเมินองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน”เพื่อประเมินผลการดำเนินการของ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

น.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับ ป.ป.ช. โดยมีข้อเสนอแนะว่าการสรรหาบุคลากรเข้าไปทำงาน ควรเพิ่มนักธุรกิจหรือนักวิชาการที่มีประสบการณ์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมาเป็น เวลาเกิน 10 ปี เพื่อเพิ่มผู้แทนด้านวิชาชีพให้มีความหลากหลายมากขึ้น ด้านการดำเนินการ ควรกำหนดแหล่งงบประมาณที่แน่นอน อาทิ สัดส่วนจากภาษีสรรพสามิต รวมถึงออกระเบียบเรื่องเงินเดือนโดยกำหนดค่าตอบแทนให้พนักงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคลากร

ด้านความรับผิดชอบ ควรมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่สะท้อนผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนทั้งผลงานในอดีตและงานที่ยังดำเนินการอยู่เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้

นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงข้อเสนอด้านอำนาจหน้าที่ของ สตง.ว่า สตง.ควรมีอำนาจยับยั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ ถ้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการไม่ถูกระเบียบ รวมทั้งควรออกระเบียบเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนของพนักงานที่ดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะ ให้วุฒิสภารับรองรายงานประจำปีภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือนเพื่อจะได้เปิดเผย รายละเอียดผลการตรวจสอบ ต่อสาธารณชนทันที

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ สรุปภาพรวมสถานการณ์คอร์รัปชันและการพัฒนาองค์กรต่อต้านทุจริตในไทยว่า โครงสร้างขององค์กรอิสระทั้งสามมีความเป็นอิสระเชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่และการบริหารงานบุคคล แต่ไม่มีอิสระด้านงบประมาณ การสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานจะให้น้ำหนักแก่ “ฝ่ายตุลาการ” มาก กรรมการไม่มีความหลากหลาย จำกัดเพียงข้าราชการประจำและอาจารย์มหาวิทยาลัย

ด้านการดำเนินงาน ทั้งสามองค์กรยังไม่สามารถดำเนินงานได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ มีบัญชีของหน่วยงานราชการที่ไม่ได้รับการตรวจสอบจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้า มีคดีทุจริตที่ยังคงค้างการพิจารณาอยู่

ด้านความรับผิดชอบ มีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรี วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร แต่มักไม่มีผลในทางปฏิบัติ มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนน้อยมาก ทำให้การตัดสินใจบางอย่างของหน่วยงานอิสระไม่โปรงใส

ทั้งนี้ข้อเสนอแนะคือ ด้านโครงสร้าง ควรมีความหลากหลายของกรรมการสรรหา และกรรมการองค์กรอิสระ กำหนดงบประมาณต่อรายหัวประชากร โดยตรวจสอบความคุ้มค่าของโครงการที่มีมูลค่าสูงของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ, ด้านการปฏิบัติหน้าที่ ควรกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการองค์กรอิสระให้ ไม่น้อยกว่ากรรมการของหน่วยงานที่ต้อง ตรวจสอบ

นอกจากนี้ ควรกระจายอำนาจ ให้องค์กรสามารถดำเนินคดีได้เอง มีอำนาจในการสั่งยับยั้งการเบิกจ่ายเงินกรณีที่มีการกระทำที่ส่อทุจริต และด้านความรับผิดชอบ ควรกำหนดระยะเวลาที่วุฒิสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติต้องรับรองรายงานขององค์กรอิสระ มีข้อกำหนดให้องค์กรอิสระต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลกรณีที่มีการสืบสวนทั้งในอดีตและในปัจจุบันเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมาย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2557