กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ทีดีอาร์ไอแนะปรับทิศ ‘นโยบายข้าว’ จี้เคลียร์สต็อกมหึมา 18.5 ล้านตัน

ปี2014-09-12

นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนักธุรกิจค้าข้าว แสดงทัศนะเกี่ยวกับทิศทางนโยบายข้าว ในการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ประจำปี 2557 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ บรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายข้าวไทย…อดีตสู่ปัจจุบัน” โดยระบุตอนหนึ่งว่า นโยบายข้าวของรัฐบาลและคณะกรรมการข้าวในรัฐบาลทุกชุดของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญในเรื่องของราคาข้าวเท่านั้น เนื่องในเวทีการเมือง เรื่องราคาข้าวมีผลต่อคะแนนเสียง นักการเมืองจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งที่จริงๆ แล้วนโยบายข้าวต้องมีการกำหนดมาตรการและนโยบายอื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงการปลูกข้าวให้มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการชลประทานให้ดีขึ้น เป็นต้น

การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับราคาข้าวมากที่สุด จึงเป็นที่มาของนโยบาย “จำนำข้าว” ซึ่งเริ่มต้นจากนโยบายแทรกแซงราคาข้าวในช่วงปี 2529-2544 ซึ่งการแทรกแซงราคาข้าวใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก แต่ต่อมาในช่วงปี 2554 เป็นต้นมา การจำนำข้าวเป็นนโยบายจำนำข้าวแบบ “สุดซอย” ด้วยการเพิ่มราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลกถึง 30% จนเป็นที่มาของความเสียหายประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าขาดทุนจากโครงการรับจำนำปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงเกินกว่าที่รัฐบาลและนักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการรับจำนำข้าวในขณะนั้นได้คาดการณ์เอาไว้

นอกจากการขาดทุนจำนวนมหาศาลแล้ว กลไกตลาดข้าวก็เสียหายไปอย่างมาก และต้องใช้เวลาอีกมากในการฟื้นฟู

เขาเรียกร้องว่า สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันต้องให้ความสำคัญ คือการจัดการสต็อกข้าวของรัฐบาลที่คงค้างมาจากนโยบายจำนำข้าวกว่า 18.5 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นสต็อกข้าวที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และในตลาดโลกก็รู้ว่าไทยมีข้าวจำนวนมหาศาลนี้อยู่ ทั้งตลาดมีความกังวลว่าอาจจะมีการเทขายข้าวออกมาท่วมตลาด ทำให้ราคาข้าวตกได้ เพราะเรากำลังมีทรัพย์สินที่เสื่อมราคาลงทุกวันเก็บไว้จำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร โดยต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนในการระบายข้าว และต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ทำให้การระบายข้าวกดราคาข้าวให้ต่ำลงกว่าในปัจจุบันด้วย

ขณะที่นโยบายการทำเกษตรโซนนิ่งต้องระวังไม่ให้เป็นการเพิ่มอำนาจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีเครื่องมือของรัฐในการกำหนดอุปสงค์-อุปทาน หรือหวังว่าจะกำหนดราคาข้าวได้จากนโยบายดังกล่าว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาข้าวมีปัจจัยต่างๆ มากกว่าจะใช้มาตรการโซนนิ่งมาเป็นตัวกำหนด

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ในการระบายข้าวสารในสต็อกที่มีอยู่กว่า 18.5 ล้านตัน ในลำดับแรกรัฐบาลควรเร่งสรุปผลการศึกษาปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาลก่อน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ โดยควรจะเร่งสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสต็อกข้าวเหลืออยู่เท่าไร แบ่งเป็นข้าวดีที่มีมาตรฐานปริมาณเท่าไร และข้าวที่เสื่อมสภาพเท่าไร

การประกาศตัวเลขที่แน่นอนจะมีผลดีในเชิงจิตวิทยาว่าไทยมีสต็อกข้าวน้อยลง รวมทั้งประกาศวิธีการจัดการข้าวที่เสื่อมสภาพให้ชัดเจน เช่น นำไปทำอาหารสัตว์หรือทำเชื้อเพลิงเอทานอล เป็นต้น ส่วนข้าวที่ยังมีสภาพดีก็เปิดประมูล ส่งออกตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากการทำยุทธศาสตร์การระบายข้าวแล้ว จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องร่วมมือกับผู้ส่งออกข้าวในการติดตามราคาข้าวในตลาดแบบวันต่อวัน เพื่อให้การกำหนดและเปลี่ยนแปลงการระบายข้าวเป็นไปอย่างถูกต้อง ทันต่อสถานการณ์ และให้สามารถส่งออกข้าวในสต็อกของรัฐบาลในราคาที่เหมาะสม

ด้าน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เบื้องต้นผู้ส่งออกข้าวได้มีการพูดคุยกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการส่งออกข้าว รวมทั้งรับทราบสถานการณ์ข้าวในสต็อกของรัฐบาลแล้ว และคาดการณ์ปริมาณข้าวนาปีที่จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือน ต.ค.นี้ประมาณ 9-10 ล้านตัน ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย ได้ขอให้ผู้ส่งออกเร่งส่งออกข้าวในปีการผลิตใหม่ที่จะออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำลงจากปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับปริมาณข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่มีอยู่จำนวนมาก ก็ต้องมีการวางแผนที่จะระบายออกไปตามสถานการณ์ และราคาในตลาดโลก โดยคาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวได้ประมาณ 9-10 ล้านตัน โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% จะอยู่ที่ระดับราคา 8,000-8,500 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาในอีก 3 ปีข้างหน้า ราคาข้าวขาว 5% ของไทยจะไม่เกิน 9,000 บาทต่อตัน เนื่องจากราคาข้าวยังคงถูกกดดันจากปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 กันยายน 2557