บทสำรวจ ‘เงินโอน’ จากผู้ย้ายถิ่นภายในประเทศ

ปี2014-09-11

ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์

(1)

ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีหัวจักรสำคัญอยู่ที่ ภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกโดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือแรงงานจำนวนมากที่ย้ายถิ่นจากพื้นที่การผลิตดั้งเดิมในต่างจังหวัดเข้าสู่ศูนย์กลางการพัฒนาของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลางโดยรอบ ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างครัวเรือนไทยในชนบทกับภาคการผลิตสมัยใหม่ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (Informal sector) ในเขตเมือง

สายสัมพันธ์ที่ว่านี้ได้ถูกร้อยรัดยิ่งขึ้นเมื่อมีการส่งเงินกลับไปยังบ้านเกิดให้กับญาติพี่น้องอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นส่วนสำคัญในรายได้ของครัวเรือนบ้านเกิดที่รับเงิน จากข้อมูล ครัวเรือนไทยกว่าครึ่งนั้นเป็นผู้รับหรือส่งเงินโอนและเงินโอนมีสัดส่วนเฉลี่ยราวหนึ่งในสามของรายได้ครัวเรือนผู้รับซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง บทความนี้จะนำเสนอข้อค้นพบบางประการจากการสำรวจเงินส่งกลับจากแรงงานที่ย้ายถิ่นภายในประเทศ โดยใช้ข้อมูลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ลักษณะโดยทั่วไปครัวเรือนที่รับเงินหรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นครัวเรือนต้นทางของผู้ย้ายถิ่นนั้น มักจะมีหัวหน้าครัวเรือนที่สูงอายุกว่าและมีระดับการศึกษาน้อยกว่าครัวเรือนประเภทอื่น เกือบครึ่งนั้นมีอาชีพอยู่ในภาคการเกษตร และเกือบหนึ่งในสามนั้นเป็นผู้ไม่ทำงาน ด้วยเหตุนี้ทำให้ระดับรายได้และการบริโภคเฉลี่ยต่อหัวนั้นต่ำกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่ส่งเงิน โดยครัวเรือนรับเงินกว่าร้อยละ 50 มักจะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาเป็นภาคเหนือราวร้อยละ 20 และอยู่ในเขตชนบทกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนรับเงินทั้งหมด

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ย้ายถิ่นที่ส่งเงินกลับมามีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าผู้รับเงิน ระดับการศึกษาเฉลี่ยที่จบมัธยมต้น ประมาณครึ่งหนึ่งประกอบอาชีพแรงงาน และอีกประมาณร้อยละ 20 เป็นลูกจ้างทั่วไปรวมถึง อาชีพอิสระอื่นๆ โดยจากจำนวนผู้ย้ายถิ่นทั้งหมดนี้ มีราวร้อยละ 40 ย้ายถิ่นเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

(2)

จากการทดสอบทางสถิติถึงแรงจูงใจในการส่งเงินโอน ข้อค้นพบประการหนึ่งคือปริมาณเงินส่งกลับนั้นเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้และขนาดทรัพย์สินของครัวเรือนที่รับเงินอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือยิ่งครัวเรือนที่รับเงินนั้นมีฐานะดี ยิ่งจะได้รับปริมาณเงินส่งกลับจากสมาชิกที่ย้ายถิ่นมากขึ้น ข้อค้นพบนี้ค่อนข้างขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่าครัวเรือนที่ยากลำบากโดยเฉพาะด้านรายได้ควรจะได้รับเงินโอนจากผู้ย้ายถิ่นเยอะกว่า แต่จากผลการทดสอบเชิงประจักษ์ข้างต้นชี้ให้เห็นถึงมุมมองต่อเงินโอนว่ามีลักษณะเป็นอีก “แหล่งเงินทุน” เพื่อใช้ในกิจการของครัวเรือน ดังนั้นขนาดกิจการของครัวเรือนที่ใหญ่กว่า (สะท้อนผ่านระดับรายได้และระดับทรัพย์สิน) มักจะดึงดูดให้ผู้ย้ายถิ่นโอนเงินเพิ่มขึ้นกล่าวได้ว่าเงินโอนถูกขับเคลื่อนโดยแรงจูงใจในด้านการลงทุนของผู้ย้ายถิ่น (Investment motivation)
ข้อค้นพบอีกประการคือความสัมพันธ์เชิงบวกและมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างจำนวนสมาชิกที่ไม่มีงานทำในครัวเรือน (เด็กและผู้สูงอายุ) ข้อค้นพบนี้สะท้อนถึงแรงจูงใจของผู้ส่ง ในการคำนึงถึงสมาชิกอื่นในครอบครัว (Altruistic motivation)

หากจำกัดกลุ่มตัวอย่างเฉพาะครัวเรือนรับเงินที่มีรายได้ต่ำ การทดสอบทางสถิติชี้ให้เห็นถึงแรง ขับเคลื่อนอีกประการหนึ่งของเงินโอนที่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยเท่านั้นคือเป็นส่วนชดเชยยามครัวเรือนมีผู้เจ็บป่วย เรียกได้ว่าเป็นเงินโอนเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Consumption-smoothing motivation) ที่แม้จะมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนประเภทนี้ได้โดยเฉพาะรายได้ที่สูญเสียไป

(3)

จากข้อค้นพบที่สามอาการเจ็บป่วยมีผลกระทบต่อรายได้โดยตรงเนื่องจากครัวเรือน รับเงินเหล่านี้ประกอบด้วยคนทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการทั้งภาคเกษตร แรงงานรับจ้างทั่วไปหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก การขาดงานเพียง 1 วันทำให้รายได้ลดลงชัดเจน (ไม่เหมือนแรงงานหรือลูกจ้างในระบบที่ได้รับเงินเดือนหรือมีวันลาป่วยตามกฎหมาย) อีกประการหนึ่งคือถึงแม้การเข้ารับบริการทางการแพทย์จะไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่การอยู่ในเขตพื้นที่ชนบททำให้การเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาย่อมมีต้นทุนที่สูงกว่าผู้อยู่ในเขตเมืองคำอธิบายเหล่านี้สะท้อนถึงช่องว่างสวัสดิการสังคมประเภทหนึ่งคือค่าชดเชยยามเจ็บป่วยสำหรับแรงงานนอกระบบ และช่องว่างในการขยายช่องทางการรักษาพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล

ข้อเสนอเชิงนโยบายอื่นจากข้อค้นพบคือ นโยบายสาธารณะโดยเฉพาะด้านเงินโอนหรือสวัสดิการสังคมของรัฐบาลควรคำนึงถึงแรงจูงใจอันซับซ้อนเช่นนี้เช่น หากรัฐบาลคิดว่าการเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนแล้วจะสามารถลดภาระการโอนเงินของผู้ย้ายถิ่นอาจจะไม่ประสบผลดังที่ตั้งใจ เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่รับเงินเพื่อไปต่อเงิน การจำกัดให้เงินโอนเฉพาะครัวเรือนที่มี ผู้สูงอายุหรือเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกำลังแรงงานอาจจะตรงเป้าประสงค์มากกว่า

นอกจากนี้ข้อค้นพบยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในอนาคตต่อแรงงานไทยที่จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุของครอบครัว เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย คนทำงานในเขตเมืองจะต้องรับภาระที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนผ่านปริมาณเงิน ส่งกลับในอนาคตที่สูงขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายอุตสาหกรรมและแรงงานจะมีบทบาทต่อผู้ไม่มีงานทำหรือผู้สูงอายุในชนบทเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกันนโยบายสวัสดิการสังคม

ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นความท้าทายต่อผู้ดำเนินนโยบายที่จะออกแบบระบบสวัสดิการตลอดจนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคภายใต้ความสัมพันธ์ที่กระชับและซับซ้อนเช่นนี้

 

บทความสรุปจากวิทยานิพนธ์ “Reinvestigating Remittance Motivations, Based on Thailand’s Socioeconomic Survey”, Master of Arts (Economics), Thammasat University.

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 กันยายน 2557