tdri logo
tdri logo
13 ตุลาคม 2014
Read in Minutes

Views

ไทยเสี่ยงติดกับดัก ‘รายได้ปานกลาง’ อีก 20 ปี

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ไทยเสี่ยงติดหล่มกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปอีก 20 ปี แม้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 4-5% ยกตัวอย่าง 3 รูปแบบพัฒนาเศรษฐกิจ เลือกจุดเด่นภาคบริการ หรือยกระดับอุตสาหกรรมพร้อมสร้างแบรนด์ จี้รัฐหาจุดแข็งประเทศ วางทิศทางให้ชัดเจน ชี้เร่งพัฒนาแบบกระจายไปทุกอุตสาหกรรมเสี่ยงล้มเหลว

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มีสัญญาณทางเศรษฐกิจหลายหลายอย่างที่บ่งชี้ให้เห็นว่าไทยติดอยู่ในประเทศกับดักรายได้ปานกลางมานาน เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในระยะปานกลาง จนถึงระยะยาวที่ลดลงกว่า 2% หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าเพิ่มจากการผลิตในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งนี้จากการคำนวณอัตราการเติบโตของไทยแบบทบต้น (Compound rate growth) พบว่าหากประเทศไทยมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 4-5% ต่อปีเท่ากับศักยภาพของไทยในปัจจุบันยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีในการก้าวพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

นอกจากนี้ยังต้องพบกับปัจจัยต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจโลก ปัญหาสังคมผู้สูงอายุซึ่งจะยิ่งฉุดให้อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดน้อยลง

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังอยู่ช่วงปลายของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในขั้นกลาง หรืออยู่ในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับประเทศบราซิล โคลัมเบีย เวเนซุเอล่า อาร์เจนติน่า ชิลี ตูนีเซีย โดยแนวโน้มของประเทศไทยพบว่าสัดส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมกำลังจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศมาเลเซียซึ่งมักจะถูกเปรียบเทียบว่าเป็นประเทศคู่แข่งของไทยในภูมิภาคกำลังจะก้าวพันกับดักรายได้ปานกลาง จากการศึกษาการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ให้เป็นประเทศที่หลุดพ้นจากรายได้ปานกลาง แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ประเทศที่ใช้แนวทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเน้นการพัฒนาความชำนาญในภาคบริการเป็นหลัก ได้แก่ อเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวัน

2.ประเทศที่ใช้แนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเข้มข้น มีการสร้างตราสินค้า เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่ผลักดันการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจนเกิดแบรนด์สินค้าที่นิยมทั่วโลก เช่น ซัมซุง แอลจี ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับระบบเศรษฐกิจในระดับที่สูง

3.เป็นรูปแบบการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบการผลิตจะกระจายไปตามอุตสาหกรรมที่หลากหลายจนไม่สามารถระบุถึงความชำนาญที่ชัดเจนได้อย่างแน่ชัด เช่นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสเปน ซึ่งประเทศติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางส่วนใหญ่เลือกปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่ 3 ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 ตุลาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด