กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ทีดีอาร์ไอชี้ทุนนอกรุก CLMV จับตาพม่าฐานผลิตใหม่ยานยนต์อาเซียน

ปี2014-10-14

นครินทร์ ศรีเลิศ

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้อุตสาหกรรมรุก CLMV ขยายฐานลงทุนอาเซียน กัมพูชารับอานิสงส์ ตลาดรถยนต์ไทย-อินโดฯ บูม รับออร์เดอร์ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่ม เผยฮุนไดเตรียมขยายไลน์ประกอบรถยนต์ที่เกาะกงจาก 400 เป็น 2,000 คัน/ปี นักวิชาการชี้กัมพูชาเสี่ยงเผชิญปัญหาคอขวดแรงงาน ระบุพม่ามีศักยภาพเป็นฐานการผลิตรถยนต์-ชิ้นส่วน หากสาธารณูปโภคมีความพร้อม

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยตั้งแต่ปี 2547 – 2555 การลงทุนในอาเซียนได้ขยายจากฐานการผลิตส่วนใหญ่ที่เคยกระจุกตัวในไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

การลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ของนักลงทุนชาติต่างๆ เพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนใน CLMV จาก 7 ล้านดอลลาร์ในปี 2547 เป็น 2,939 ล้านดอลลาร์ในปี 2555 ไต้หวันเพิ่มการลงทุนเป็น 1,536 ล้านดอลลาร์จาก 18 ล้านดอลลาร์ จีนเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เป็น 1,084 ล้านดอลลาร์ และไทยเพิ่มการลงทุนในกลุ่ม CLMV เป็น 161 ล้านดอลลาร์ จากในปี 2547 ตัวเลขการลงทุนอยู่ที่ 36 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ญี่ปุ่นวางไทยแลนด์ + 1 เข้า CLMV

สำหรับการลงทุนที่มีการกระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการวางยุทธศาสตร์ของประเทศอุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้วางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “Thailand +1” คือการขยายฐานการลงทุนจากประเทศไทยไปยังประเทศข้างเคียง เช่น กรณีของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะมีการผลิตชุดสายไฟ ผ้าคลุมเบาะ ในกัมพูชา ก่อนจะส่งกลับมาประกอบในไทย ขณะที่การผลิตในไทยทำให้สามารถกลับมาใช้ฐานการผลิตและการขนส่งทางถนนในไทยได้

“การผลิตในอาเซียนที่มีการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมข้ามประเทศในระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน ทำให้เราเริ่มเห็นตัวเลขการนำเข้าสินค้าบางอย่างจากประเทศอื่นๆ อย่างก้าวกระโดด เช่น กรณีของการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากกัมพูชามาในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบในโรงงานในไทย ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนที่ยังไม่มีการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในเพื่อนบ้าน” นายสมเกียรติกล่าว

ประเมินอุตฯ ยานยต์อาเซียนโตสูง

นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยฝ่ายวิจัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากการศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้น ในการผลิต ชิ้นส่วนและป้อนชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ แหล่งผลิตรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐมีบทบาทน้อยลง

อุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้นในอนาคต ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยและภูมิภาค โดยปัจจุบันรัฐบาลของทั้งไทยและอินโดนีเซีย มีนโยบายในการสนับสนุนรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน หรือ “อีโคคาร์” ระยะที่ 2 ซึ่งจะเพิ่มอุปสงค์ต่อการผลิตชิ้นส่วนในกัมพูชามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันฐานการผลิตในกัมพูชา รับยอดคำสั่งการผลิตที่ล้นเกินจากกำลังการผลิตไทย ส่วนอินโดนีเซียขณะนี้อยู่ในระหว่างโครงการ Low Cost Green Car Project (LCGC)

นายสุนทร กล่าวด้วยว่า ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยยังคงศูนย์กลาง การผลิตรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน แม้อินโดนีเซียจะมีการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์

ชี้ค่ายรถยึดฐานไทย

การที่รัฐบาลไทยส่งเสริมการผลิตรถยนต์ การลงทุนรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน หรือ “อีโคคาร์” ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ทำให้มาตรฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย สูงกว่าทุกประเทศในอาเซียน เช่น มีการกำหนดให้ผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐาน ยูโร 5 ทำให้ไทยมีโอกาสในส่งออกไปยังประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงได้มากกว่าอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ต้นทุนแรงงานประกอบรถยนต์ในไทยอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนอื่นๆ ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องการให้กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ กัมพูชา ลาวและพม่า เป็นซัพพลายเออร์ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับไทย มากกว่าจะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โตโยต้ามีแผนการลงทุนให้กัมพูชาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเชนที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้แก่โรงงานประกอบในไทย

ชี้กัมพูชาเผชิญคอขวดแรงงาน

ขณะที่ในปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานประกอบรถยนต์ไม่กี่แห่ง เช่น โรงงานของบริษัท Camko Motor ของบริษัทฮุนได ตั้งอยู่ที่ จ.เกาะกง โดยนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศเกาหลีและจีน ผ่านทางท่าเรือ แหลมฉบัง เพื่อนำมาประกอบและจำหน่ายในกัมพูชา โดยรถประกอบส่วนใหญ่เป็น รถกระบะ และรถบรรทุกโดยมีกำลังการผลิตเพียง 400 คันต่อปี และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 2,000 คันต่อปีภายในปี 2558

อย่างไรก็ตาม แม้กัมพูชาจะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียน โดยเฉพาะในไทย ซึ่งทำให้การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น แต่อุตสาหกรรมในกัมพูชามีข้อจำกัดเรื่องแรงงานและเป็นปัญหาคอขวดแรงงาน ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาในอนาคต สำหรับข้อจำกัดในเรื่องแรงงานในกัมพูชามี 3 ส่วน ได้แก่ 1.การจ้างแรงงานทำได้ไม่ง่ายนัก โดยบริษัทจะต้องให้สวัสดิการ ที่พัก รถรับส่ง อาหารกลางวันฟรี เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจในบางพื้นที่เช่นเกาะกง พบว่าการหาแรงงานจำนวน 50 คน ต้องใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์

2.ค่าจ้างแรงงานในกัมพูชาปัจจุบัน สูงกว่าค่าจ้างตามกฎหมาย เช่น ในพนมเปญพบว่าค่าจ้างแรงงาน (ไม่รวมค่าล่วงเวลา) อาจสูงถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของค่าจ้างตามกฎหมาย และ 3.คุณภาพแรงงานยังมีปัญหา แรงงานส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ

จับตาพม่าฐานผลิตใหม่

“ในอนาคตบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อาจจะต้องปรับแผนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หรือแผนการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียน จากที่จะผลิตในกัมพูชาโดยอาจจะต้องพิจารณาพม่าเป็นตัวเลือกแทนเนื่องจากมีกำลังแรงงานได้เปรียบกว่ากัมพูชาและลาว โดยพม่ามีกำลังแรงงานถึง 31 ล้านคน และค่าจ้างแรงงานได้เปรียบกว่าประเทศรอบด้าน ขณะที่ตลาดของพม่ามีขนาดใหญ่และในอนาคตขนาดตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้เริ่มลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมติลาวาในพม่าแล้ว แต่พม่าจะสามารถเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหม่ของอาเซียนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ เช่น ไฟฟ้า ถนนและการอำนวยความสะดวกทางการค้าอื่นๆ” นายสุนทรกล่าว

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 ตุลาคม 2557