ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ปี2014-10-09

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สัญญาณบ่งชี้ทางเศรษฐกิจเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆว่า  ประเทศไทยกำลังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งเกิดจากการคงสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจในแบบเดิม ๆ นับจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้

ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม ทีดีอาร์ไอ  ระบุว่า มีสัญญาณบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่าไทยติดอยู่ในประเทศกับดักรายได้ปานกลางมานานพอสมควร ตัวอย่างเช่น อัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะปานกลางถึงระยะยาวที่ลดลงกว่าร้อยละ 2 ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ในขณะเดียวที่ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลัง ซึ่งหมายถึงสัดส่วนมูลค่าเพิ่มจากการผลิตในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ กลับพบโครงสร้างที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆมากนัก

จากงานศึกษาวิจัยที่ดูพัฒนาการและความแตกต่างของประเทศที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลางกับประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าประเทศที่ติดอยู่กับดักรายได้ปานกลางคือ กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตที่ช้าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่าง เช่น บราซิล  โคลัมเบีย มาเลเซีย เวเนซุเอล่า อาร์เจนติน่า  ชิลี ตูนีเซีย โดยในทวีปเอเชียนั้น มาเลเซียซึ่งมักจะถูกเปรียบเทียบว่าเป็นประเทศคู่แข่งของไทย กำลังจะก้าวพันกับดักรายได้ปานกลางในไม่ช้า สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบันกำลังอยู่ช่วงปลายของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในขั้นกลาง ซึ่งเป็นช่วงที่สัดส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมกำลังจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ    เป็นช่วงที่ต้องเลือกเส้นทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมเพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศรายได้ขั้นสูง

pic_นณริฏ_resize
ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม ทีดีอาร์ไอ

หัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตที่สูง คือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต จากการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเน้นภาคเกษตรเป็นหลัก มาสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยบทเรียนจากประเทศที่ผ่านขั้นตอนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในขั้นกลาง บ่งชี้ถึงทางเลือก 3 ทางในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

แนวทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบประเทศ อเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวัน จะเน้นการพัฒนาความชำนาญในภาคบริการเป็นหลัก ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้เลือกพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเข้มข้น มีการสร้างตราสินค้าเช่น ซัมซุง แอลจี ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับระบบเศรษฐกิจในระดับที่สูง ทางเลือกที่ 3 เป็นรูปแบบการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบประเทศสเปน ที่การผลิตจะกระจายไปตามอุตสาหกรรมที่หลากหลายจนไม่สามารถระบุถึงความชำนาญที่ชัดเจนได้อย่างแน่ชัด ประเทศไทยเองหากไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในสองรูปแบบข้างต้นก็จะมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในลักษณะที่สามนี้เอง

ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อพิจารณาประเทศติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางจะพบว่า ประเทศต่างๆเหล่านั้นต่างก็เลือกปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่สาม นี่เองจึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าทางเดินที่ประเทศไทยกำลังเดินเป็นเส้นทางที่มีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก มีโอกาสสูงที่ประเทศไทยจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรืออาจจะถึงชะงักงัน (แบบประเทศอื่นๆที่เลือกเส้นทางนี้ในอดีต)

“ เพื่อที่จะแน่ใจว่าประเทศไทยจะสามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้ คือต้องหาจุดเด่นของตัวเองให้ชัดว่าจะเป็นประเทศเกษตร  อุตสาหกรรม หรือว่าบริการ   ตัวอย่างในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่าการทำทุกอย่างจะมีโอกาสไม่มากนักที่จะหลุดกับดักรายได้ปานกลางได้ หรือต้องใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนานในการก้าวพ้นกับดัก”

จากการคำนวณอัตราการเติบโตของไทยแบบทบต้น(Compound rate growth) ภายใต้รูปแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน พบว่า หากประเทศไทยมีอัตราเจริญเติบโตประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับศักยภาพของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังพบว่า ประเทศไทยต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีในการก้าวพ้นกับดัก ซึ่งในระหว่างนั้น ประเทศไทยก็ต้องพบกับอุปสรรคต่างๆทั้งในและนอกประเทศ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจโลก ปัญหาอาการแปรปรวน ปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งจะยิ่งฉุดให้อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดน้อยลงไป และเป็นการเพิ่มเวลาที่ใช้ในการก้าวพ้นกับดักมากยิ่งขึ้น

การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วมากยิ่งขึ้นจำเป็นต้องอาศัยความชัดเจนในเชิงนโยบาย กล่าวคือ ต้องสามารถกำหนดได้ว่าประเทศไทยจะเดินในทิศทางไหน ต้องกำหนดภาคการผลิต และ/หรือ ภาคบริการเป้าหมายที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น ในจำนวนที่จำกัด ไม่ใช่การเหวี่ยงแห สนับสนุนทุกอุตสาหกรรมแบบที่เป็นอยู่ เมื่อได้เป้าหมายหลักจำนวนหนึ่งแล้ว จึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนทั้งองคาพยพของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสม การกำหนดนโยบายสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา การพัฒนาคนให้ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาเป้าหมายดังกล่าว  รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาด้วยจึงจะทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้อย่างมั่นคง.