โพสต์ทูเดย์รายงาน: อาเซียนหนึ่งเดียว ทางรอดอุตสาหกรรมไทย

ปี2014-10-02

ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ทำให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว

ทว่า อุตสาหกรรมของไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงฐานการผลิตของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้ตกขบวนรถไฟ

สอดคล้องกับงานวิจัยของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มองว่าเออีซีจะเป็นตัวเชื่อมโยงภายในอาเซียน ทำให้มีโอกาสเข้าถึงตลาดแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานเพิ่มมากขึ้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นนักลงทุนจากหลายๆ ชาติเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น จากกรณีของญี่ปุ่นที่เริ่มขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปประเทศอาเซียนใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand+1 เพื่อกระจายความเสี่ยง และยังใกล้กับฐานการผลิตและส่งออกของไทยด้วยการขนส่งทางถนน รวมทั้งค่าจ้างแรงงานก็จูงใจ

ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการใช้เครือข่ายการผลิตในอาเซียน คืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อนาคต กัมพูชา ลาว และพม่า จะกลายเป็นซัพพลายเออร์และฐานการผลิตชิ้นส่วนป้อนให้โรงงานประกอบในไทย

จากแนวโน้มนี้เอง ที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ASEAN AS ONE หรือการมองตลาดอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยการปรับบทบาทใหม่ให้มุ่งหาตลาด แรงงาน และทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ขยับตัวเองขึ้นเป็นผู้บริหารจัดการเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค และเน้นทำวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมให้เร็วเมื่อพร้อม

“สุดท้าย อุตสาหกรรมไทยต้องขยายการมองตลาดและฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยการเชื่อมโยงฐานการผลิตในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ระยะยาวควรพัฒนาตัวเองเป็น Trading Nation ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนาการออกแบบ คู่กับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการบริหารเครือข่ายการผลิต โลจิสติกส์ และการตลาด” สมเกียรติ สรุปถึงทางรอดอุตสาหกรรมไทย

ขณะเดียวกัน เรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่ยังตามไม่ทัน ก็เป็นความท้าทายของการเชื่อมโยงในอาเซียน เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสแล้ว ยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องรอลุ้นกันดูว่าแต่ละประเทศจะลดภาษีศุลกากรตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวมถึงการพัฒนาคลังข้อมูลเกี่ยวกับระเบียนด้านการค้าของแต่ละประเทศและการนำระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อกระตุ้นการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี

ขณะที่ระบบคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์จะทำอย่างไรให้มีการเชื่อมโยงกันสมบูรณ์ขึ้น เพราะระบบคมนาคมขนส่งของแต่ละประเทศมีความพร้อมต่างกัน ทำให้ระบบคมนาคมขนส่งในภูมิภาคยังมีจุดที่ไม่เชื่อมกันหลายจุด หากเชื่อมโยงกันได้ก็จะเอื้อต่อการค้าชายแดนรวมทั้งการท่องเที่ยวของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ด้าน ไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยังไม่เรียบร้อย เช่น พิธีศุลกากรและการขนส่งสินค้าที่ยังล่าช้า ยังไม่รองรับการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบคู่ค้ารัฐบาลไทยควรมีการเร่งรัดนำเรื่องกฎระเบียบในการประชุมผู้นำอาเซียนในเวทีอาเซียนซัมมิต เพื่อให้เรื่องนี้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว รวมทั้งเสนอให้ประเทศสมาชิกยอมรับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย เพื่อผลักดันเป็นมาตรฐานการสินค้าอุตสาหกรรมอาเซียนในอนาคต

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 ตุลาคม 2557