สัญญาณบ่งชี้ทางเศรษฐกิจเริ่ม ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ประเทศไทย กำลังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในแบบเดิม ๆ นับจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบเท่านั้นที่ จะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวพ้นกับดัก ดังกล่าวไปได้
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่าไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศกับดักรายได้ปานกลางมานานพอสมควร ตัวอย่างเช่น อัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะปานกลางถึงระยะยาวที่ลดลงกว่า 2% ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลัง โดยเฉพาะสัดส่วนมูลค่าเพิ่มจากการผลิตในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ กลับพบว่าโครงสร้างไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
จากงานวิจัยที่ศึกษาพัฒนาการและความแตกต่างระหว่างประเทศที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลางกับประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าประเทศที่ติดอยู่กับดักนี้คือกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้า เมื่อเทียบกับชาติพัฒนาแล้ว เช่น บราซิล โคลอมเบีย มาเลเซีย เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ชิลี ตูนิเซีย และในทวีปเอเชีย มาเลเซียมักถูกเปรียบว่าเป็นประเทศคู่แข่งของไทยเสมอ และกำลังจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางในไม่ช้า
ขณะที่ประเทศไทย ณ ปัจจุบันอยู่ช่วงปลายของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในขั้นกลาง ซึ่งเป็นช่วงที่สัดส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมกำลังจะเริ่มลดลง ทั้งยังเป็นช่วงที่ต้องเลือกเส้นทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมเพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศรายได้ขั้นสูง
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ประเทศรายได้ขั้นสูง มี 3 แนวทาง แบบสหรัฐ ญี่ปุ่น และไต้หวัน จะเน้นการพัฒนาความชำนาญในภาคบริการเป็นหลัก ในขณะที่เกาหลีใต้เลือกพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเข้มข้นที่มีการสร้างตราสินค้า เช่น ซัมซุง แอลจี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ส่วนทางเลือกที่ 3 เป็นรูปแบบการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบสเปน ที่มีการผลิตกระจายไปตามอุตสาหกรรมที่หลากหลาย จนไม่สามารถระบุถึงความชำนาญที่ชัดเจนได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่มาก
ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อพิจารณาประเทศที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางจะพบว่า ส่วนใหญ่เลือกปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่สาม จึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าทางเดินที่ประเทศไทยกำลังเดินเป็น เส้นทางที่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรืออาจจะถึงขั้นชะงักงันได้
“เพื่อให้แน่ใจว่าไทยจะสามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ต้องพยายามหาจุดเด่นของตัวเองให้ชัดเจน ว่าจะเน้นไปด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือบริการ ตัวอย่างในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่าการทำทุกอย่างพร้อม ๆ กัน จะมีโอกาสไม่มากนักที่จะหลุดกับดักรายได้ปานกลาง หรือต้องใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนานในการก้าวพ้นกับดัก” ดร.นณริฏกล่าว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23-26 ตุลาคม 2557