แรงงานไทยในบริบทใหม่เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน

ปี2014-10-16

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สืบเนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่จุดเริ่มของการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2558 ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 15 เดือน ประเทศสมาชิกอาเซียนมีขนาดของประเทศแตกต่างกันมากจากประเทศสิงคโปร์ที่เล็กที่สุด (714 ตร.กม.) ไปจนถึงประเทศอินโดนีเซียที่มีพื้นที่มากที่สุดประมาณมา 1.86 ล้าน ตร.กม. สำหรับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 3 มีพื้นที่ 513.12 ตร.กม. ซึ่งมีประชากรอาเซียนรวมกันถึง 604 ล้านคน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67.5 ล้านคน (ลำดับที่ 4) ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดแน่นอนคือ สิงคโปร์ (5,116 USD) ตามด้วยบรูไน (3,870 USD) มาเลเซีย (9,941 UDS) และไทย (5,116 USD) ความแตกต่างทางฐานะและทางเศรษฐกิจดังกล่าวบ่งชี้ถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอาเซียน

ตารางที่ 1 กำลังแรงงานและอัตราว่างงานของประเทศต่างในอาเซียน

ประเทศ กำลังแรงงาน (2553)  (พันคน) จำนวน/อัตราว่างงงาน (ร้อยละ)
บรูไน 197.9 (10) 7,520/3.8 (4)
กัมพูชา 18,989.7 (6) 284,845/1.5 (8)
อินโดนีเซีย 114,879.3 (1) 7,582,860/6.6 (2)
ลาว 3,074.1 (8) 39,963/1.3 (9)
มาเลเซีย 11,996.5 (7) 371,892/3.1 (5)
ฟิลิปปินส์ 38,561.8 (4) 2,699,326/7.0 (10)
สิงคโปร์ 2,733.1 (9) 76,527/2.8 (6)
ไทย 38,949.1 (3) 272,644/0.7 (1)
เวียดนาม 46,655 (2) 1,035,741/2.2 (7)
พม่า 27,052.9 (5) 1,109,169/4.1 (3)
อาเซียน (ล้านคน) อัตราว่างงานรวม 303.1   13.484.4  

ที่มา: รวบรวมและสังเคราะห์โดยผู้เขียน

จากตารางที่ 1 ข้างต้น จะเห็นว่าขนาดของกำลังแรงงานในแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก ความสามารถในการดูดซับแรงงานแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ประเทศสิงคโปร์เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือระดับสูงเข้าประเทศได้ง่ายตราบใดก็ตามที่ผ่านกระบวนการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็รับแรงงานฝีมือในระดับกลางในกิจกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างและภาคบริการจากประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งประเทศขนาดเล็กอย่างบรูไนเปิดโอกาสให้ผู้มีฝีมือแรงงานเข้าไปทำงานคล้ายกับสิงคโปร์ ถึงแม้ว่าจะมีการว่างงานอยู่ในระดับที่สูง (มากกว่า 2%) แต่ทั้งสองประเทศไม่มีปัญหาในการดูแลประชากรของตนเองซึ่งอยู่ในฐานะร่ำรวยที่สุดในอาเซียน

ประเทศมาเลเซียกับประเทศไทยมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นประเทศมีจำนวนแรงงานย้ายถิ่นเข้าประเทศสุทธิ (Net immigration) เป็นประเทศขาดแคลนแรงงานระดับล่างเหมือนกันโดยประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวระดับล่างทำงานอยู่แล้วประมาณ 3 ล้านคนเศษ มาเลเซียมีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ประมาณ 4 ล้านคนเศษเช่นกัน จุดที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับมาเลเซียคือการนำเข้าแรงงานระดับฝีมือระดับกลางและระดับสูง ซึ่งมาเลเซียนำเข้าเฉพาะแรงงานฝีมือระดับสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเทศไทยนำเข้าแรงงานฝีมือระดับกลาง (เทคนิเซียน) และระดับผู้บริหารนักวิชาการและนักกฎหมาย เป็นต้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ มาเลเซียมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าไทย มีกำลังแรงงานน้อยกว่าไทย 3 เท่า ซึ่งแน่นอนทำให้มีแรงงานไทยไปทำงานในมาเลเซียในพื้นที่รัฐที่ไม่ไกลจากชายแดนไทยเป็นจำนวนมากกว่า 4 แสนคน ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรและภาคบริการ (อาทิ ร้านอาหารเมนูไทย ฯลฯ) สำหรับประเทศไทยเมื่อรวมตัวเป็นประเทศอาเซียนแล้วในปลายปีหน้า (2558) ยังไม่ต้องห่วงมากนักเกี่ยวกับ 7 วิชาชีพที่ได้ทำข้อตกลงกันเอาไว้คือ แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกรรม ช่างสำรวจ สถาปนิก พยาบาล และวิชาชีพบัญชี ซึ่งทุกกลุ่มจะมีสภาวิชาชีพดูแลอยู่แล้วตามกติกาเมื่อเริ่มเคลื่อนย้ายบุคลากรเสรีปลายปีหน้าทุกประเทศที่สนใจที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายและกฎระเบียบในการประกอบวิชาชีพเหล่านี้ในประเทศไทยอยู่ดีขณะเดียวกันแรงงานฝีมือของไทยปกติไปทำงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าประเทศไทยคือประเทศสิงคโปร์เป็นหลักแต่สำหรับผู้ทีไปทำงานที่มาเลเซียอาจจะมีค่าจ้างไม่สูงเท่าสิงโปร์แต่ที่เดินทางไปทำงานส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีปัญหาด้านการปรับตัวแต่ยังมีปัญหาข้อจำกัดของตลาดแรงงานในภาคใต้ประเทศไทย

ที่จริงแล้ว ถ้าประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรในหลายสาขา อาทิ สาขาด้านที่เกี่ยวข้องกับช่างเทคนิคหรือช่างฝีมือชั้นสูง ทุกวันนี้มีแรงงานจากต่างประเทศทำงานอยู่ในประเทศไทยนับหมื่นคนอยู่แล้วภายใต้กรอบกติกาการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยหรือในกรณีที่ขาดแคลนบุคลากรด้านการศึกษาและ/หรือการวิจัยก็สามารถนำเข้าและขอใบอนุญาตทำงานได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรจากต่างประเทศทำงานในภาคการศึกษานับหมื่นคน

สิ่งที่น่าห่วงคงเป็นอาชีพอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ทำข้อตกลงกับประเทศในกลุ่ม 10 ประเทศไปแล้วคือ ได้มีการลงนามตามกรอบความร่วมมือแห่งอาเซียนใน 6 สาขาอาชีพ (32 ตำแหน่งงาน) ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว (MRA-Tourism Professional (TP)) ซึ่งประกอบด้วย ด้านบริการโรงแรม (Hotel Services) มีแผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกอาหาร แผนกอาหารและเครื่องดื่ม ด้านการเดินทาง (Travel Services) งานบริษัททัวร์ และตัวแทนท่องเที่ยว ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวในอาเซียนมากกว่า 25 ล้านคน

ตารางที่ 2 งานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศในกลุ่มอาเซียน

ประเทศ จำนวน (ล้านคน) สัดส่วน (ร้อยละ) สถานภาพตลาดแรงงาน
บรูไน 0.013 0.05
กัมพูชา 1.805 7.08 ส่วนเกิน
อินโดนีเซีย 8.909 34.95 ส่วนเกินมาก
ลาว 0.433 1.70 ส่วนเกิน
มาเลเซีย 1.708 6.70 ขาดแคลนบางสาขา
ฟิลิปปินส์ 0.711 2.79 ส่วนเกิน
สิงคโปร์ 2.911 11.42 ส่วนเกิน
ไทย 0.291 1.14 ขาดแคลนมาก
เวียดนาม 4.818 18.90 ส่วนเกินมาก
พม่า 3.892 15.27 ส่วนเกินมาก
อาเซียน (ล้านคน) 25.494
  1. 0
 

ที่มา: รวบรวมและสังเคราะห์โดยผู้เขียน

จากตารางที่ 2 ข้างต้นจะเห็นว่าประเทศไทยมีแรงงานทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากกว่า 4.8 ล้านคนจากจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 24 ล้านคน (ข้อมูลปี 2556) กระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวของไทยทั่วประเทศ ซึ่งบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทยยังมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ด้านภาษาต่างประเทศและความสนใจในอาชีพด้านการท่องเที่ยวถ้าจะเทียบกับประเทศที่มีแรงงานส่วนเกินจำนวนมาก และมีประสบการณ์อยู่ในกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า ซึ่งประเทศเหล่านี้มีแรงงานระดับล่างทำงานอยู่ในประเทศอาเซียนอยู่แล้ว อาทิ แรงงานอินโดนิเซีย พม่าและ ไทยทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียรวมหลายล้านคน รวมทั้งบางอาชีพในประเทศสิงคโปร์ ขณะที่แรงงานเวียดนามทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียอยู่หลายแสนคนและมีบางส่วนลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 5 หมื่นคน ขณะที่แรงงานพม่าทำงานที่ประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และทำงานอยู่ในมาเลเซียหลายแสนคน อย่างไรก็ตาม แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ทำงานอยู่ในประเทศอาเซียนบางส่วนถูกกฎหมายบางส่วนผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนมากที่ลักลอบทำงานอยู่ในภาคบริการโดยเฉพาะภัตตาคาร ร้านอาหาร และกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

ประเด็นที่สำคัญมีบางประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์มีความพร้อมเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาทำงานในสาขาบริการไม่ว่าจะเป็นงานด้านการต้อนรับ งานนักร้อง งานแม่บ้าน งานด้านบริหาร เป็นต้น ซึ่งอาศัยความได้เปรียบด้านภาษาอังกฤษ และเป็นภาษากลางของอาเซียน และความมุ่งมั่นในการทำงานในต่างประเทศมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน อีกประเทศที่น่าจับตามากที่สุดคือ แรงงานจากประเทศเวียดนามมีการเตรียมพร้อมเรียนภาษาอังกฤษในหลักสูตรเป็นปีๆ และบางส่วนยังเรียนภาษาไทยอีกด้วย กอรปกับประเทศสังคมนิยมเวียดนามมีจำนวนแรงงานมาก มีค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศไทยมาก จึงมีโอกาสเข้ามาแย่งงานที่คนไทยเกี่ยงกันทำในหลายตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนแรงงานทั้งระดับฝีมือและกึ่งฝีมือ  ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเรียนการสอน มีผู้จบการศึกษาเกี่ยวกับสาขาการท่องเที่ยวในระดับประกาศนียบัตรจนถีงระดับปริญญาตรีจำนวนมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานในภาคบริการโดยเฉพาะการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะบางคนที่จบคิดเลยเถิดว่าเป็นงานที่ หนัก ต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรี และไม่มีอนาคต

กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากขาดความพร้อมของบุคลากร โดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งภาษาอื่นๆ จากนักท่องเที่ยวนอกอาเซียน อีกทั้งผู้จบการศึกษาเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคิดแต่เพียงว่าเรียนอะไรก็ได้จบง่ายๆ แต่เมื่อจบแล้ว “เสียของ” ไม่สนใจทำงานในสาขาเกี่ยวกับท่องเที่ยว ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่มีความมุ่งมั่น (Commitment) ที่จะเร่งพัฒนาบุคลากรเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในที่สุดประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประเทศอาเซียนไม่มากดังที่คาดหวังไว้ แต่อาจเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอาเซียน ซึ่งมีความพร้อมกว่าประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมา การเร่งจัดทำมาตรฐานสมรรถนะและทดสอบสมรรถนะให้กับแรงงานไทยที่ทำงานและที่คาดว่าจะเข้ามาทำงาน จะทำให้แรงงานไทยมีความพร้อมที่จะแข่งขันได้กับทุกฝ่ายที่จ้องจะแย่ง 32 ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพท่องเที่ยว โดยเฉพาะในประเทศไทย