เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2557 ภายใต้หัวข้อ “Sustaining Thailand: ก้าวอย่างไรให้ประเทศไทยยั่งยืน” รวมทั้งได้จัดการอภิปรายเรื่อง “รัฐไทยกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ” โดยมี ศ. ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราภิชาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ร่วมอภิปราย
“นิธิ” ชี้โครงสร้างชนชั้น “ไม่เท่าเทียม” เศรษฐกิจกึ่งผูกขาด ปัญหาประเทศไทย
ศ. ดร.นิธิ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งแต่อดีตเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่กึ่งผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่ง หรือ oligopoly ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ของประเทศ โดยมีสาเหตุจากสังคมไทยขาดสำนึกในความเท่าเทียมของประชาชนในฐานะ “คนร่วมชาติ” เดียวกัน เนื่องจากไม่เคยผ่านประสบการณ์กู้เอกราชเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน จนมองเห็นคนในสังคมแบบมีชนชั้น และกลายเป็นกลุ่มคณาธิปไตย (oligarchy) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร นักการเมือง นายทุน เข้ามาแบ่งผลประโยชน์กัน กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจซึ่งกึ่งผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่งในที่สุด
“oligopoly คือคอร์รัปชันที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในสังคมไทยและไม่ค่อยมีคนพูดถึง เมื่อคุณอยากทำลายสิ่งนี้คุณทำอย่างไร คุณบอกว่า oligarchy ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ดี ฉะนั้นคุณจึงไปหา oligarchy มาจากรัฐประหารแทน เพื่อจะแก้ปัญหา oligopoly ผมว่ามันตลกสิ้นดี ขณะที่การปฏิรูปรอบนี้ ในทัศนะผมมันไม่ใช่การปฏิรูปอย่างที่เราทุกคนพูดถึง มันเป็นเรื่องการปรับการรวมกลุ่มคณาธิปไตยใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง บางกลุ่มถูกขจัดออกไป บางกลุ่มพยายามเข้ามา จะซื้อ จะประจบ แต่คุณต้องแสวงหาเข้ามา จนสามารถเข้ามาอยู่ในกลุ่มใหม่ได้ มันจึงไม่ใช่การปฏิรูปในความหมายอย่างที่เราพูดถึง แต่รูปของ oligarchy จะเปลี่ยนไหม” ศ. ดร.นิธิกล่าว
“ผาสุก” ชี้ปัญหาหลัก “การเมืองไร้เสถีรภาพ”
ด้าน ศ. ดร.ผาสุก กล่าวว่า นอกจากจะต้องตั้งคำถามว่าปฏิรูปอะไรและโดยใครแล้ว ยังต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งของไทยมาจากความขัดแย้ง การปฏิรูปจึงต้องยอมให้คู่ขัดแย้งมีส่วนร่วม ขณะที่แนวโน้มปัจจุบันเป็นการปฏิรูปโดยไม่ยอมให้คู่ขัดแย้งอื่นมีส่วนร่วม ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่หรือไม่สามรถจัดการความขัดแย้งเดิมได้
“แนวโน้มที่เกิดขึ้น มันดูเหมือนว่าการปฏิรูปอยู่ในคนจำนวนน้อยมาก และพยายามกีดกันคู่ขัดแย้งออกไปด้วย ดังนั้น ผลการปฏิรูปที่ออกมาก็คือว่า “อัฐยายซื้อขนมยาย” มันก็เป็นที่พอใจของคนกลุ่มเล็กๆ นี้ แต่มันจะเป็นที่พอใจของคนทั้งประเทศซึ่งเป็นส่วนใหญ่และไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการปฏิรูปนี้หรือไม่ ก็เลยคิดว่าแนวโน้มจะมีความขัดแย้งมากกว่านี้หรือเปล่า?” ศ. ดร.ผาสุกกล่าว
ศ. ดร.ผาสุกกล่าวอีกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เคยมีนักวิเคราะห์ต่างชาติวิเคราะห์ในช่วงปี 2533 ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาการศึกษาให้แรงงานมีทักษะตรงความต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผ่านมาการศึกษามีพัฒนาการในแง่เวลาเรียนและระดับการศึกษา แต่ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ได้ รวมทั้งไม่สามารถผลิตแรงงานให้ทันกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นด้วย ขณะที่สาธารณูปโภคของไทยชะงักมาตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แม้ช่วงแรกจะเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ต่อมากลับเกิดจากปัญหาทางการเมืองซึ่งไร้เสถียรภาพสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน และส่งผลให้ไม่สามรถลงทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม
“คิดดูแล้ว เราก็ไม่น่าจะมีปัญหาทางการเมืองมากมาย เราก็เริ่มพัฒนามีประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม เราก็ใช้กฎเกณฑ์ของสากลอะไรต่างๆ แต่อยู่มาเราก็เกิดปัญหาทางอ้อมทางการเมือง การที่ชนชั้นกลางเกิดกลัวพัฒนาการการเมืองภาคมวลชน หลังจากนั้นเราก็ระส่ำระสายมาตลอด คิดว่าเป็นปัญหาโครงสร้าง สรุปรัฐไทยไม่สามารถจัดการกับเรื่องคุณภาพคนงาน รวมทั้งการลงทุนสาธารณูปโภค เนื่องจากการเมืองไร้เสถียรภาพ ขณะที่การเมืองประชาธิปไตยจะมีความหวังได้ ถ้าหากไม่กลัวมวลชน” ศ. ดร.ผาสุกกล่าว
“บรรยง” ย้ำ ถ้าจะปฏิรูป-ปราบคอร์รัปชัน ต้องยอมให้จีดีพีชะลอตัว
ด้านนายบรรยง ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อกระแสปฏิรูปปัจจุบันว่าจะยั่งยืนหรือไม่ เนื่องจากมองว่าการปฎิรูปจะต้องแลกมาด้วยด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในระยะสั้น แต่จำเป็นที่จะต้องปฏิรูป ขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศระยะสั้น 1 ปี มีความเหมาะสมและคุ้มค่าที่จะปฏิรูป โดยแลกกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เพราะไม่จำเป็นต้องหาคะแนนนิยมทางการเมืองใดๆ
“ถ้าจะปฏิรูปให้ได้ผลจริงๆ ผมเชื่อว่าการเติบโตอาจจะหยุดชะงักลงบ้าง ผมยกบทความจากอาจารย์นิธิ ที่บอกว่าคอร์รัปชันมันมีหน้าที่ของมันอยู่ จริงเลยครับ ถ้าปราบคอร์รัปชันเหลือศูนย์วันนี้ เศรษฐกิจหยุด รับรองเลยครับ นักธุรกิจมันก็ลงทุนไม่เป็น ขอพูดตรงๆ เหมือนจีน เขาจะไม่เน้นเติบโต จะปราบคอร์รัปชันก่อน แต่นายสี จิ้นผิง จะอยู่อีก 8 ปี ก็ทำได้ แต่คุณตู่ (พล.อ. ประยุทธ์) อยู่อีกปีเดียว ถ้าปราบจริงจะเกิดเกียร์ว่างขึ้นเยอะเลย อันนี้เป็นกังวล แต่ถ้าความตั้งใจจริงจะอยู่ปีเดียว ก็ไม่รู้จะหาคะแนนเสียงไปทำไม คุ้มที่จะแลกการเติบโตระยะสั้นไปบ้าง โดยเฉพาะส่วนที่มีคอร์รัปชัน” นายบรรยงกล่าว
ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยรวมสามารถมองได้หลายมิติ แต่มิติที่สำคัญคือเรื่อง “ขนาด บทบาท และอำนาจของรัฐ” โดย 15 ปีที่ผ่านมารัฐมีขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ทั้ง ภาคการเงินและไม่ใช่ภาคการเงิน ซึ่งเป็นส่วน “นอกงบประมาณ” ของรัฐ สร้างคำถามว่ามีความรัดกุม ความโปร่งใส เทียบเท่ากับระบบงบประมาณที่มีการวางรากฐานค่อนข้างดีหรือไม่ ถึงแม้จะมีการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ แต่กลับแปรรูปอย่างไม่เต็มรูปแบบและยังอยู่ภายใต้อำนาจรัฐอยู่
นอกจากนี้ รัฐไทยยังพยายามเข้ามามีบทบาทโดยทำหน้าที่แทนตลาด เช่น โครงการจำนำข้าว หรือการค้าแลกเปลี่ยนรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวมไปถึงมีการออกกฎหมายในรูปแบบเพิ่มอำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสวนทางกับแนวทางของประเทศอื่นๆ ในโลกที่พยายามลดบทบาทและอำนาจของรัฐลง เนื่องจากรัฐเป็นสินค้าคอร์รัปชัน คือมีลักษณะเป็นหน่วยงานที่คอร์รัปชันได้ง่าย
“ตัวอย่างเช่น ใครทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มันมีกฎระเบียบอยู่ 200-300 ข้อ ที่คุณจะต้องไปปฏิบัติตาม มีหน่วยงานที่มาตามดูแลคุณทั้งหมดประมาณ 12 หน่วยงาน ทุกหน่วยงานต้อง “หยอด” ทั้งนั้น ไม่งั้นไม่เดิน มันจะเห็นว่าพอมีอำนาจด้วย เกิดกระบวนการที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสขึ้นมา ผมสรุปว่า สิ่งที่เติบโตตามรัฐไปก็คือคอร์รัปชัน รัฐคือคอร์รัปชัน วิธีลดคอร์รัปชันก็คือลดรัฐ” นายบรรยงกล่าว
นายบรรยงกล่าวถึงทางออกของปัญหานี้ว่า จะต้องลดขนาด เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ โดยปัจจุบันสามารถลดขนาดรัฐวิสาหกิจได้ 3 รูปแบบ คือ 1) ยุบเลิกรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีบทบาทสำคัญและไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด 2) แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดได้ และ 3) ปรับปรุงประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะลดขนาดได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่การเพิ่มความโปร่งใส สามารถทำได้ด้วยการเปิดเผยข้อมูลและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น สุดท้ายการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจจะเกิดขึ้นได้เอง สืบเนื่องจากความโปร่งใส
“สมเกียรติ” ย้ำ ไทยติดหล่มปัญหาการเมือง
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเกิดจากการใช้แบบจำลองในการพัฒนา (development model) ที่ล้าสมัย ต้องเปลี่ยนแนวทางจากการพึ่งพาตลาดโลก การส่งออก และปัจจัยด้านอุปสงค์ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างที่เป็นมาในอดีต มาเป็นการพัฒนาด้านอุปทาน คือ พัฒนาแรงงานและผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคำตอบในเชิงเทคนิคแล้ว เช่น การพัฒนาแรงงานผ่านการศึกษา พบว่าปัจจุบันมีการใช้งบประมาณเกือบ 32% ในการบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งควรถูกนำไปพัฒนาครูและนักเรียนมากกว่า หรือการพัฒนาผู้ประกอบการต้องมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งปัจจุบันมีเพียงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ต้องแข่งขันในตลาดโลกเท่านั้นที่ทำ ต้องมีการสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด ต้องสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี เป็นต้น
ดร.สมเกียรติเน้นย้ำว่า ถึงแม้จะมีวิธีแก้ปัญหา แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทางการเมือง ซึ่งขัดขวางไม่ให้สามารถลงมือแก้ปัญหาได้มากกว่า เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว แต่รัฐบาลในระยะหลังขาดเสถียรภาพ มีอายุสั้น ไม่สามารถผลักดันการแก้ปัญหาได้ ส่งผลให้การปฏิรูปในปัจจุบัน รัฐบาลต้องตั้งโจทย์และวางทิศทางปฏิรูปให้ถูกต้อง เพราะปัญหาส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว การวางทิศทางที่ดีจึงมีแนวโน้มจะมีความยั่งยืนและสำเร็จในระยะยาวมากกว่า
“ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะการศึกษาหรือการยกระดับนวัตกรรม มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งมันยากทางการเมือง คือ รัฐบาลอายุสั้นแต่ปัญหาอายุยาว ต้องแก้กันนาน อย่างเช่น ปัญหาการศึกษา ถ้าจะแก้ให้ได้ดีๆ ต้องใช้ความพยายามต่อเนื่องอย่างน้อยเป็น 10-20 ปี แต่รัฐบาลอยู่เต็มสมัยแค่ 4 ปี ถ้าไม่เต็มสมัยก็แย่ลงไปอีก และอย่าง 10 ปีที่ผ่านมาเรามีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการตอนนี้ 17 คนเรียบร้อยแล้ว สั้นสุด 2-3 เดือน แล้วท่านจะมีเรี่ยวแรงอะไรมาแก้โจทย์ 20 ปี นี่เป็นโจทย์ที่ติดอยู่กับการเมือง ดังนั้น ถ้าจะมองปัญหาการปฏิรูปในอนาคต เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ผมคิดว่าปฏิรูปส่วนใหญ่ไม่ใช่การแก้ปัญหาทีเดียวแล้วแก้ได้ มันต้องรื้ออะไรเต็มไปหมด พวกเราควรมองไกลๆ ยาวๆ ไม่มาหวังพึ่งการปกครองที่ไม่ปกติ เราต้องมอง 10-20 ปี แต่ตอนนี้ขอให้อย่าสวนทางกับสิ่งที่ควรจะไปในอนาคต” ดร.สมเกียรติกล่าว
เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 31 ตุลาคม 2557