วานนี้ (5 พ.ย.) นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ และคณะ ได้เสนอรายงานผลการศึกษา สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคเกษตร: บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีรายละเอียดบางตอนของผลการศึกษา
โครงการจำนำข้าวปี 2554-57 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาท ซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน (53% ของผลผลิต) ชาวนาเข้าโครงการมากที่สุด 1.77 ล้านราย รอบ 1 ปี 2555/56 โรงสี 826 แห่ง โกดัง 1,685 แห่ง ผู้ตรวจข้าว 20 ราย โดยชาวนาในโครงการได้รายได้ทางตรงเพิ่มขึ้น 2.96 แสนล้านบาท ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 5.61 แสนล้านบาท โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ตกกับชาวนารายกลางและรายใหญ่
ถ้าตีราคาสต็อกในเดือนเม.ย. 2557 จะขาดทุนรวม 5.4 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 7.5 แสนล้านบาท ถ้าขายข้าวหมดใน 10 ปี แต่ถ้ารวมปัญหาข้าวในสต็อก 85% มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน (ณ ต.ค. 2557) มูลค่าขาดทุนจะเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้านบาท และจะขาดทุนเพิ่มเป็น 9.6 แสนล้านบาทถ้าขายข้าวหมดใน 10 ปี
นโยบายจำนำข้าวก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคม มากกว่าประโยชน์ต่อชาวนาและผู้บริโภคเป็นมูลค่า 1.23 แสนล้านบาท (ต้นทุนสวัสดิการ -1.23 แสนล้านบาท)
ชาวนาผู้เข้าร่วมโครงการและที่ไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว เห็นว่ามีการทุจริตในโครงการอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และมีการทุจริตอยู่ในทุกระดับของการดำเนินงาน ถ้ารวมทุจริตส่งข้าวคุณภาพต่ำเข้าโกดังกลาง มูลค่าทุจริตจะเพิ่มเป็น 1.09 แสนล้านบาท
หลักฐานเชื่อมโยงการทุจริตระบายข้าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ
รัฐบาลขายข้าวให้พรรคพวก โดยขายข้าว 5.3 ล้านตันให้พรรคพวกที่เสนอซื้อในราคาต่ำ ข้าวส่วนใหญ่ถูกขายในประเทศ เพราะราคาข้าวสารขายปลีกใกล้เคียงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการลักลอบนำข้าวเปลือก/ข้าวสารจากโรงสี ของโครงการจำนำไปขายก่อน แล้วซื้อข้าวคุณภาพต่ำมาคืน ปรากฏรายงานข้าวหาย 2.98 ล้านตัน ณ 31 ม.ค.2556
นายหน้าใช้อิทธิพลนำข้าวเปลือกจากโรงสีไปขายให้ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง โดยไทยสามารถ ส่งออกข้าวนึ่ง 4.76 ล้านตัน ในช่วงต.ค.2554-เม.ย.2557 ทั้งๆที่โครงการไม่มีการทำข้าวนึ่งและ ข้าวนาปรังเกือบทุกเม็ดขายให้รัฐบาลหมด
วิธีหาข้าวคืนคลัง : ใช้อิทธิพลซื้อข้าวเก่าจากโครงการจำนำในอดีต 2 ล้านตัน ข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวต่างประเทศ มาส่งคืนคลัง นี่คือสาเหตุที่ข้าวกว่า 85% ในโกดังไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้นำมาคืนโกดังกลาง คือ ความไม่ชอบพามากล เมื่อมีข่าวข้าวหาย 2.98 ล้านตัน การหาข้าวมาคืนคลัง โดยการ “ยืม” ข้าวจากโครงการรับจำนำรอบ 2 ปี 2555/56 ไปคืนโครงการรอบ 1 ปี 2555/56
มีการทุจริตขายข้าวถุงของ อคส.โดยการตรวจสอบพบของการสอบสวนของ คณะกรรมาธิการเกษตรวุฒิสภา
การตรวจสต็อกของ คสช.พบข้าวหายเพียง 1.2 แสนตัน ไม่น่าแปลกใจ เพราะเวลาล่วงเลยมาถึง 12 เดือน หลังมีข่าวข้าวหาย เพราะโรงสีและโกดังสามารถหาซื้อข้าวเก่าจากรัฐบาล (2 ล้านตัน) ข้าวต่างประเทศ (2-3 ล้านตัน) และข้าวตกเกรดการคัดมาตรฐานมาส่งแทนข้าวใหม่
ความเสียหายของโครงการรับจำนำเกิดจากความล้มเหลวทั้งด้านตัวนโยบาย หรือความบกพร่องในการดำเนินงาน ค่าเช่าทางเศรษฐกิจมีมูลค่า 5.85 แสนล้านบาท (41% ของGDPเกษตร)ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษนี้ เป็นการถลุงทรัพยากรแท้จริงของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
การป้องกันมิให้เกิดนโยบายรับจำนำข้าวรอบที่ 3
ปัญหาสำคัญ คือ ชาวนาและสื่อมวลชนจำนวนมากยัง “ติดกับดักการจำนำข้าว” โดยคนจำนวนมากยังมีมายาคติว่า “ชาวนาเป็น คนยากจน หากรัฐไม่ช่วยเหลือ จะอยู่ไม่รอด” ซึ่งรัฐบาลจะต้องกล้ารณรงค์ สร้างทัศนคติใหม่ในหมู่ชาวนา ประชาชนและสื่อมวลชนเรื่อง การร่วมมือกันแก้ปัญหา แทนนโยบายอุดหนุนราคาได้อย่างไร
ต้องแก้กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองที่หาเสียงต้องแจกแจง ภาระค่าใช้จ่ายและที่มาของเงินได้ กำหนดให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งต้องเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายพิเศษต่อรัฐสภา เปิดเผยบัญชีการเงินและผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาก่อนเสนอร่างงบประมาณปีใหม่ แก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูล หากปกปิดมีความผิด ตราพระราชบัญญัติจำกัดอำนาจรัฐในการแทรกแซงตลาด
นอกจากนี้การจัดทำบัญชีรวมของโครงการประชานิยมทุกโครงการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภารับทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมด การจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบและบทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าว เพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน
การแปลงภาระขาดทุนให้เป็นหนี้การคลัง หลังจากการตรวจสอบสต็อกและจัดทำบัญชีรวมเสร็จสิ้น รัฐบาลควรทำการออกพันธบัตรเพื่อหาเงินชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระทั้งต้นและดอกเบี้ยให้ชัดเจน พร้อมกำหนดแนวทางการระบายข้าวในสต็อก
ข้อเสนอแนะต่อ คสช. และรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ควรเริ่มจัดวางระเบียบใหม่ว่าด้วยการแทรกแซงตลาดแบบโปร่งใส กำหนดและเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐจัดทำบัญชี และบัญชีรวมโครงการเสนอ สนช. และสภาปฏิรูปทุกไตรมาส จัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนปัญหาข้าวในโกดังไม่ได้มาตรฐาน เพื่อหาสาเหตุ และให้หน่วยงานรัฐสืบสวนหาผู้รับผิดชอบทั้งผู้ประกอบการเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐมนตรี และนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง
นโยบายจำนำข้าวเป็นโครงการอุดหนุนที่แพงและสร้างความเสียหายใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายเกษตรไทย อุดหนุนชาวนามีฐานะ ผู้บริโภค โรงสี โกดัง ผู้ตรวจข้าว สร้างความร่ำรวยให้พ่อค้าพรรคพวก และ นักการเมือง
แนวคิด”ทศวรรษใหม่ของการอุดหนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของภาคเกษตร” ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องมีแผนการลงทุนใช้เงินเพื่อพัฒนาเกษตร จำกัดวงเงินอุดหนุน ด้านราคา จำกัดการช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรยากจน/คนชรา การช่วยเหลือเกษตรกรยากจนควรเป็นเพียงการสงเคราะห์ชั่วคราวควบคู่กับการสร้างศักยภาพในการประกอบอาชีพ ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ ในการสร้างศักยภาพในการผลิตของเกษตรกรและเกษตรกรรม (productive capacity)
การแทรกแซงตลาดควรมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น ให้เกษตรกรหัวก้าวหน้า/ชุมชน/ภาคประชาสังคม/มหาวิทยาลัย/ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอและร่วมดำเนินโครงการ โดยรัฐให้เงินทุนสนับสนุนหน่วยราชการปรับบทบาทมาเป็นผู้ประสานงาน ผู้จัดการโครงการ และติดตามประเมินผลโครงการ
การกำหนดประเภทและเงินอุดหนุนควรเริ่มจากการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและการปรับโครงสร้างการเกษตรก่อน โจทย์ 1 : กลุ่มชาวนาเงินล้าน….ไม่น่าห่วง…ไม่ต้องอุดหนุน แต่ช่วยลดอุปสรรค ต้องมีวิจัยการตลาด และวิจัยสายพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการบริโภค
ต้องหยุดการอุดหนุน โดยเฉพาะชาวนารายใหญ่ในเขตชลประทานที่ใช้น้ำฟรี
โจทย์ 2 : เกษตรทางเลือกเป็นเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ และปราชญ์ชาวบ้าน รัฐจะมีมาตรการอย่างไรให้ชาวนากลุ่มนี้มีบทบาทช่วย นำการส่งเสริมและพัฒนาข้าวไทยในอนาคต
โจทย์ 3 : ชาวนารายเล็ก-กลางทำนาบางเวลา ทำอย่างไรจึงจะมีกำไรรวมเพิ่มจากการทำนา อาจต้องรวมแปลงนา เพื่อลดต้นทุน และแก้ปัญหาเรื่องขาดน้ำ จัดการแปลงนาใหม่ แก้กฎหมายการเช่านา แก้ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่ดินแพง และข้อจำกัดเรื่องน้ำ รวมทั้งการรวมกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพดี
โจทย์ 4 : เกษตรกรยากจนออกนอกเกษตรเท่านั้น ต้องพัฒนาทักษะและความรู้เพื่อให้ย้ายออกจากภาคเกษตร และการพัฒนาชนบท
สรุปนโยบายด้านเกษตรกร ต้องยกฐานะความเป็นอยู่ และสร้างความยืดหยุ่นให้เกษตรกร พัฒนาความรู้และการจัดการสมัยใหม่ ควบคู่กับการพัฒนาตลาด ย้ายเกษตรกรยากจนออกจากเกษตรโดยการพัฒนาทักษะควบคู่กับการพัฒนาชนบท
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557