วันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสิทธิเด็กสากล (Universal Children’s Day) ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเด็กที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น
มูลนิธิเพื่อคนไทย ได้จัดทำผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชน” มานำเสนอในงานสัมมนาหัวข้อ “เข้าใจ…เด็กไทยวันนี้ ร่วมเปลี่ยนอนาคตสังคม” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนกว่า 30 ภาคีเครือข่าย
ผลวิจัยดังกล่าว ดำเนินการโดย บริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำของโลก มีสาขากว่า 110 ประเทศ สำรวจความคิดเห็นเยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,000 คน ทั่วประเทศโดยเก็บข้อมูลถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหา “ช่องว่าง” ในการสร้างเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม หรือ Active Youth ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
ดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ และประธานสมาคมวิจัยโลก ESOMAR (ประเทศไทย) ระบุว่า “ครอบครัว” มีอิทธิพลต่อเด็กในการปลูกฝังค่านิยมและคุณค่าให้แก่เยาวชน โดยมีค่าเฉลี่ยของความสำคัญสูงถึง 2.92 จาก 3 คะแนน
ไม่เพียงเท่านั้น “พ่อแม่” ยังเป็นบุคคลต้นแบบ หรือ Role Model อันดับแรกในใจเด็ก รองลงมาคือ ครู อาจารย์ ตามด้วยศิลปินดารา
“น่าเสียดายที่ครอบครัวกลับเน้นปลูกฝังเด็กเพียงเรื่องเรียน ทำให้เยาวชนร้อยละ 99 ให้นิยามความสำเร็จในชีวิตว่าจะต้องได้ผลการเรียนดี เพื่อจะได้มีหน้าที่การงานและเงินเดือนดีๆ แต่ให้น้ำหนักกับความรับผิดชอบต่อสังคมและความรักที่มีต่อประเทศชาติเป็นส่วนน้อย”
นั่นคือความจริงที่สะท้อนผ่านผลงานวิจัย ซึ่งส่งผลให้เยาวชนไทยร้อยละ 78 เครียดเรื่องผลการเรียน รวมทั้งมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งน่าตกใจว่า 81% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ เคยทุจริตในการสอบ โดย 75% เห็นว่า การลอกข้อสอบไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย
ขณะที่ 38% เห็นว่าการให้เงินตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงใบสั่งไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย 19% เห็นว่า การให้สินบน/การรับสินบน เป็นการกระทำที่ไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย และอีก 13% เห็นว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นการกระทำที่ไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ผลวิจัยเหล่านี้สะท้อนว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศที่เยาวชนไทยต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน โดยสิ่งที่เยาวชนต้องการเห็นมากที่สุดคือนักการเมืองที่ซื่อสัตย์และ หากให้เยาวชนขออะไรก็ได้ 1 อย่างจากผู้นำประเทศ คำตอบคือ “ความซื่อสัตย์”
“นับเป็นความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญที่เยาวชนคาดหวังจะได้นักการเมืองที่ซื่อสัตย์ แต่ตัวเยาวชนเองยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมแบบไหนคือการทุจริต คอร์รัปชั่น จากผลวิจัยนี้คงมีการบ้านที่หลายภาคส่วนจะต้องช่วยกันทำอีกมากครับ”
ประธานทีดีอาร์ไอ มองปรากฏการณ์นี้ด้วยความเป็นห่วง เพราะยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ และได้แสดงความพร้อมและความต้องการที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศ แต่กลับมองว่าตนเองยังเด็กเกินไปและไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง
ขณะที่ เอด้า จิรไพศาลกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสังคม GLab วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่ทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่หรือสังคมมองว่าเด็กเป็นทางออกของปัญหา มากกว่าจะมองว่าเด็กเป็นปัญหา
เอด้า ชี้ถึงปัญหาที่ครอบงำเด็กไทยว่า ในระบบสังคมไทยโดยเฉพาะระบบการศึกษา ทำให้เด็กไม่มีเวลาเหลือมากพอที่จะทำอะไรได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีความตั้งใจ ดังนั้น จุดเริ่มต้น ควรมีกิจกรรมเพื่อสังคมที่เปิดให้เด็กออกไปสัมผัส และทำอย่างต่อเนื่อง
“แค่ได้ออกไปทำกิจกรรมที่บ้านพักคนชราสัก 1 วัน มันอาจดูเล็กน้อย แต่พอได้เริ่มต้นทำ มันจะจุดประกายให้ทำต่อได้”
ศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ให้ความเห็นสอดคล้องว่าผู้ใหญ่ที่แวดล้อมตัวเด็ก เช่น พ่อแม่ ครู รุ่นพี่ ญาติพี่น้องมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองทำได้ หรือทำไม่ได้ คนที่ทำงานด้านเยาวชนมักมองเสมอว่าเด็กไม่ใช่ปัญหา แต่เด็กคือพลัง สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น การทำให้ผู้ใหญ่เชื่อมั่นในพลังเด็กเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องสร้างให้ได้ ถ้าสร้างไม่ได้ก็จะปิดกั้นความต้องการของเด็กในการออกไปทำอะไร
“ครอบครัวต้องให้ความสำคัญกับการให้เวลาอยู่ร่วมกัน อาจไม่มากแต่ต้องเป็นเวลาที่มีคุณภาพ เช่น ได้พูดคุย ได้พาลูกทำกิจกรรม พ่อแม่ต้องพยายามเข้าใจลูกด้วย รวมถึงการเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก”
จุรี วิจิตรวาทการ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสริมว่า สังคมไทยไม่ได้เอื้อให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ พ่อแม่ส่วนมากกดดันเด็กให้เรียนดี เพื่อหางานทำดีๆ พอเด็กจะทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องการเรียน มักมองว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา
ประภาภัทร นิยม ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอว่า การจะพูดเรื่องเด็ก ต้องเปิดใจผู้ใหญ่ก่อน ผู้ใหญ่ไม่ค่อยเปิดใจ ที่โรงเรียนต้องฝึกครู ฝึกผู้ปกครองให้เปิดใจ
เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) บอกว่า เด็กยังไม่เข้าถึงความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Citizenship) ไม่ใช่แค่ให้เด็กท่องจำ แต่ทำอย่างไรให้เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตได้ด้วย ประกอบกับปัจจุบันครอบครัวยุคใหม่เป็นครอบครัวเดี่ยว หรือปู่ย่าตายายเลี้ยงดูเด็ก แนวทางการแก้ไขจากประสบการณ์ของตน คือการเปิดพื้นที่ให้เด็กมีประสบการณ์และลงมือทำ พอเด็กได้ทำ มีความสุข มีความภูมิใจ จะทำให้เห็นศักยภาพในตัวเองว่าทำได้
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โลกแห่งแบบ จำกัด ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามบนเวทีไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้ากิจกรรมเพื่อสังคมที่เด็กทำนั้นไปขัดกับทัศนคติ หรือค่านิยมของ ผู้ใหญ่บางกลุ่มบางพวก ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เด็กลุกขึ้นมาทำเพื่อแสดงออกถึงสิทธิหน้าที่พลเมือง ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็น “Active Youth” หรือไม่?
มีหลายคำถาม ที่ไม่มีคำตอบจากเวทีนี้ อย่างไรก็ตาม นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยบอกว่า เขาคาดหวังที่จะให้งานวิจัยนี้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สร้างเวทีการสนทนาระหว่าง “ผู้ใหญ่” กับ “เด็ก” ในสังคมไทยอย่างเป็นระบบ แล้วให้คนสองกลุ่มนี้หันหน้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ที่สำคัญที่สุดนำผลวิจัยนี้ไปขยายผลเป็นโครงการพัฒนาเยาวชนในประเด็นต่างๆ เพื่อร่วมสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม หรือ Active Citizen
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557