tdri logo
tdri logo
20 พฤศจิกายน 2014
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอเตรียมเสนอแนวทางพัฒนาประเทศใน 3 ทศวรรษหน้า

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

ทีดีอาร์ไอเตรียมเสนอแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐในเชิงระบบ

วังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การพัฒนาอย่างมีพลวัตใน 3 ทศวรรษหน้า

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีทีดีอาร์ไอ ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้

 

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการที่ World Economic Forum (WEF) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต ก่อนที่จะก้าวไปสู่กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรมได้นั้น ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญแก่การเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตที่สำคัญได้แก่ ทุน แรงงาน และสถาบัน (กฎ กติกาของภาครัฐ)

การจัดอันดับขีดความสามารถของประเทศไทยล่าสุดในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ และมีขนาดและประสิทธิภาพของของตลาดสินค้าภายในประเทศ และระดับการพัฒนาของภาคการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี  หากแต่ขาดความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี แรงงานที่มีทักษะ และที่มีปัญหามากที่สุด คือ ขาด กฎ กติกาของภาครัฐที่เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการในการแข่งขัน

จากตัวชี้วัดต่าง ๆ บ่งชี้ว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีและมีโอกาสจะเติบโตได้ แต่ปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศมาโดยตลอดคือการขาดประสิทธิภาพของทุน แรงงาน และความอ่อนแอเชิงสถาบัน (ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการของภาครัฐ) ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตได้

อนึ่ง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2533-2555 ที่ผ่านมานั้นเกิดจากการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเป็นหลักซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการโยกย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพแรงงานสูงกว่า หากแต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีการจ้างงานที่จำกัด ไม่สามารถดูดซับแรงงานได้อีกเท่าไรนักทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาวิธีการดังกล่าวอีกต่อไป หากแต่ต้องหันมาสร้างทักษะแรงงาน  นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยทุนกลับมีอัตราการเพิ่มผลิตภาพเฉลี่ยที่ติดลบในช่วงเวลาดังกล่าวสะท้อนว่าที่ผ่านมาการลงทุนของเรามีประสิทธิภาพต่ำ

การศึกษาการเร่งตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันในอดีตพบว่าประเทศเหล่านี้มีอัตราการลงทุนที่ค่อนข้างสูงผนวกกับการลงทุนที่มีประสิทธิภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยมีอัตราส่วนของการลงทุนต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า Incremental Capital Output Ratio (ICOR) ที่ต่ำ ซึ่งหมายความว่าประเทศมีการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-4 ซึ่งหมายถึงว่าประเทศเหล่านี้ลงทุนประมาณ 3 หน่วย จะส่งผลให้รายได้เพิ่มชึ้น 1 หน่วย  ตัวเลข ICOR ของประเทศไทยในช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนวิกฤตทางการเงินในปี พ.ศ. 2540 อยู่ที่ 3.81 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ แต่ช่วงหลังวิกฤติ พ.ศ. 2543-2555 คือ 5.72 ในช่วงปี พ.ศ. 2543-2555 ซึ่งตอกย้ำว่าการลงทุนของเราไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

คณะผู้วิจัยเห็นว่า การที่ประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพนั้น จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเห็นว่าปัจจัยที่ถ่วงประสิทธิภาพของทุน ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพต่ำ การกำกับดูแลธุรกิจของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงหรือเสถียรภาพของระบบมากกว่าประสิทธิภาพของธุรกิจ และการกำหนดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐที่ขาดทิศทางทำให้การลงทุนของภาคเอกชนไร้ทิศทางเช่นกัน จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยปัญหาที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจคือการบริหารจัดการของภาครัฐซึ่งสอดคล้องกับการจัดลำดับของ WEF ที่ปัจจัยด้านสถาบันได้คะแนนต่ำที่สุด

การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน 30 ปีข้างหน้านั้นต้องพึ่งพาภาครัฐที่ “รู้” บทบาทของตนและที่สามารถ “เล่น” บทบาทของตนได้ดี

ประการแรก รัฐจะต้อง “รู้” ว่าต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “ผู้ให้บริการ” มาเป็น “ผู้กำกับดูแลธุรกิจเอกชน” มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าขนาดของวิสาหกิจของรัฐต้องเล็กลงกว่าในปัจจุบัน รัฐควรให้ความสำคัญแก่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการยกระดับผลิตภาพทุนและแรงงาน โดยในการดำเนินการดังกล่าว ควรใช้วิธีการร่วมทุนกับภาคเอกชนมากขึ้นเพื่อที่จะลดภาระทางการคลังและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ  รวมทั้งมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจและเป็นผู้ดำเนินการเองมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงโครงการก่อสร้างที่มาจากส่วนกลางที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในท้องที่

ประการที่สอง  ในการทำหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจเอกชนนั้น รัฐจะต้องเอา “ผู้บริโภค” หรือ “ประชาชน” มากกว่าผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงการมีบริการที่มีความหลากหลาย มีคุณภาพ และมีต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องมาจากแรงกดดันของการแข่งขันในตลาด หรือวิธีการกำกับดูแลที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนแทนการส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดให้แก่ประชาชน

ประการที่สาม รัฐจำเป็นต้องกำหนดทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยว่าจะเดินไปทางใด เนื่องจากทรัพยากรของประเทศมีจำกัด รัฐจึงต้องเลือกที่จะลงทุนในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจการผลิตหรือบริการบางประเภทเท่านั้น โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สร้างองค์กร สถาบัน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนฝึกอบรมทักษะของแรงงานที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง รวมถึงการเลิก “อุ้ม” ธุรกิจต้นน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วย ความชัดเจนในเชิงนโยบายจะทำให้การลงทุนของภาครัฐสามารถหนุนเสริมการลงทุนของภาคเอกชนส่งผลให้การลงทุนโดยรวมของประเทศมีประสิทธิภาพ

อนึ่ง การเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างหรือยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงเพราะมีความเสี่ยงที่รัฐจะล้มเหลว แต่ประสบการณ์ในประเทศที่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ประเทศปานกลาง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ล้วนแสดงถึงบทบาทของภาครัฐที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน การสร้างสถาบันที่ดีเป็นสิ่งที่ยากลำบากมาก เช่นเดียวกับการสร้างระบบการศึกษาที่ดี แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว เพราะการพัฒนาแบบไร้ทิศทางของประเทศไทยดูเหมือนจะมาสู่ทางตันแล้ว

การเสนอรายละเอียดผลการศึกษาและข้อเสนอแนะดังกล่าวจะมีขึ้นในงานสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2557 วันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยผู้สนใจสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดการสัมมนาได้ทางเว็บไซต์ www.tdri.or.th และร่วมสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้ทาง www.facebook.com/tdri.thailand และ Twitter: @tdri_thailand.

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด