ทีดีอาร์ไอแนะปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองรถโดยสารสาธารณะ

ปี2014-12-25

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นมากในทุกเทศกาล ทีดีอาร์ไอเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนพึงระมัดระวัง แนะการปรับปรุงระบบประกันภัยจากอุบัติหตุรถโดยสารสาธารณะให้คำนึงถึงการคุ้มครอง”ชีวิต”เป็นสำคัญโดยเพิ่มวงเงินคุ้มครองผู้โดยสาร 1-1.5 ล้านบาท/ราย หลังพบอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการบาดเจ็บพุ่งสูง


ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะโดยยอมรับว่า ปัจจุบันมีอัตราสูงขึ้นจากปัจจัยหลักๆ เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคการจราจรและขนส่ง ถนนตัดผ่านเพิ่มขึ้น และปริมาณการเดินทาง ส่งผลให้จำนวนรถโดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหารถโดยสารในปัจจุบันพบว่ามาตรฐานของรถยังต่ำกว่ามาตรฐานในระดับสากล ผู้ประกอบการรถโดยสารส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรถร่วมบริการมีความใส่ใจต่อมาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างน้อย รวมถึงขาดการกำกับดูแลคุณภาพในการให้บริการที่เหมาะสม ขณะที่ในส่วนของระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยาสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีการใช้งานอย่างไม่เต็มที่ ทำให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการรถสาธารณะยังไม่ครอบคลุมมากนัก

ทั้งนี้จากสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะที่ผ่านมาของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) พบว่า รถตู้ยังคงครองแชมป์การเกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็น 32% รองลงมาคือ รถโดยสารปรับอากาศคิดเป็น 29 % และ รถโดยสารนำเที่ยว ตามมาเป็นอันดับ 3 ขณะที่ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจากข้อมูลการประกันภัยรถภาคบังคับ พบว่าจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารเพิ่มขึ้นจากประมาณ 9,000 ครั้งในปี 2551 เพิ่มเป็น 13,000 ครั้งในปี 2555 โดยเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะขนาด 7-15 ที่นั่งสูงสุด และในส่วนของผู้เสียชีวิตพบว่าในช่วงปี 2551-2556 จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าแม้อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับพบว่าปัญหาของผู้ประสบภัยในฐานะผู้โดยสารยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร ทั้งเรื่องการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ระบบประกันภัยอุบัติเหตุกับผู้โดยสารในภาคบังคับและภาคสมัครใจ รวมถึงกลไกการเชื่อมโยงความรับผิดชอบเพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น ข้อจำกัดในการกำหนดค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินเกี่ยวกับกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีแพ่งของไทยเน้นระบบกล่าวหามากกว่าการไต่สวน ข้อจำกัดในการกำหนดค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน ซึ่งยังขาดหลักการคำนวณที่เหมาะสมทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรม และข้อจำกัดในการกำหนดค่าเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่นความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความเสียหายต่อสิทธิอื่นๆ ขณะที่ตัวผู้โดยสารที่ประสบเหตุเองก็ประสบปัญหาเช่นกัน นั่นคือยังไม่ทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับในการรักษาพยาบาลและการชดเชยต่างๆ หรือผู้ประกอบการและบริษัทประกันภัยมักเอารัดเอาเปรียบผู้ประสบเหตุในการเสนอเงินชดเชยที่น้อยกว่าความเป็นจริง รวมถึงเวลาที่ใช้ในการเรียกร้องค่าเสียหายหากมีการฟ้องร้องมักใช้เวลานาน ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ได้เสนอแนะแนวทางในเชิงนโยบาย ได้แก่ 1.ควรปรับระบบประกันภัยรถสาธารณะ โดยบังคับวงเงินคุ้มครองเพิ่มขึ้น 1-1.5 ล้านบาทต่อราย 2.สร้างระบบการชดเชยกับผู้บาดเจ็บที่เหมาะสม เนื่องจากระบบประกันภัยชดเชยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลและการชดเชยอื่นๆที่ยังน้อย และ3.ปรับวงเงินความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ต่อครั้ง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาท ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ขณะเดียวกันอยากเรียกร้องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน ควรสะท้อนให้เห็นถึงความเสียหายและความสูญเสียของอุบัติเหตุ เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักและมีสติ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทและมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น รวมถึงการรณรงค์การขับขี่ปลอดภัยในแง่มุมต่างๆ ทั้งตัวผู้โดยสารเองและผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ซึ่งการนำเสนอข่าวความสูญเสียในเรื่องอุบัติเหตุ สื่อมวลชนควรนำเสนออยู่ภายใต้จริยธรรมและการไม่ละเมิดสิทธิของผู้เสียหายด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะควรเริ่มที่ตัวผู้โดยสารเองด้วย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ผู้โดยสารเลือกใช้รถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมาย ปลอดภัย มีตั๋วโดยสารชัดเจน สภาพของรถโดยสารอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เหมาะสมกับการใช้งานเดินทางไกล มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่พร้อมสำหรับการใช้งาน เช่น เข็มขัดนิรภัย รวมทั้งผู้โดยสารต้องคอยสังเกตพฤติกรรมพนักงานขับรถขณะขับขี่ว่าอยู่ในสภาพพร้อมขับรถหรือไม่ หากมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย ผู้โดยสารควรแจ้งข้อมูลของรถคันดังกล่าวไปยังสายด่วนศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะเพื่อดำเนินการต่อไป.

—————–

ดูเพิ่มเติม: TDRI Factsheet 30: ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะ มีหลักประกันอะไร …เมื่อเกิดอุบัติเหตุ