ปัจฉิมวัยของ ดร.เสนาะ อูนากูล

ปี2014-12-01

สินีพร มฤคพิทักษ์

เพราะเป็นคนไม่มีวินัยในการอ่าน จึงไม่เคยตั้งเป้าว่าควรอ่านหนังสือปีละกี่เล่ม เรื่องใดบ้าง ทว่า หลังได้พบกับ ดร.เสนาะ อูนากูล ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี และอีกหลายตำแหน่ง อาทิ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในงานแถลงข่าวโครงการพลังปัญญา อาจารย์บอกว่า ได้เขียนหนังสือเรื่อง “อัตชีวประวัติและงานของ เสนาะ อูนากูล” ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งตนเองเป็น ผู้ก่อตั้ง

หมายเหตุไว้นิดว่า ตอนนั้นอายุ 78 ปี และเขียนด้วยมือซ้าย เนื่องจากป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ขณะอายุ 59 ปี ระหว่างดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาลอานันท์ 1 ทำให้ปัญหาการเคลื่อนไหวของแขนและขาด้านขวา

“ตอนผมสโตรค อายุ 59 ปี ปี 1991 เป็นรองนายกฯ สมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน เส้นเลือดในสมองตีบ..ตายไปครึ่งตัว ทีแรกเดินไม่ได้ หลังออกจากรองนายกฯ ไปผ่าเท้าก่อน ข้อเท้าพลิก ต้องไปดามให้เท้าพลิกกลับมา หัดเดิน 3 เดือน แต่ไม่ได้บำบัดมือแบบ Occupational Therapist ทำให้มือขวาใช้ไม่ได้เลย (ในหนังสืออธิบายว่า Occupational Therapist หรือผู้เชี่ยวชาญฝึกการใช้มือ ให้รู้จักเคลื่อนไหวนิ้ว ดูว่ากล้ามเนื้อมัดใด ส่งผลต่อการทำงาน ก็กระตุ้น กล้ามเนื้อมัดนั้นเพื่อให้ตื่นมาทำหน้าที่ สอนให้ผู้ป่วยกระตุ้นเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่มีปัญหา) ปกติไม่ยอมเขียนประวัติตัวเอง คนขอให้เขียนเยอะ ไม่ยอมเขียน ในที่สุดทีดีอาร์ไอที่ผมเป็นคนก่อตั้งครบ 25 ปี เขาบอกว่า อยากทำหนังสือให้เป็นที่ระลึก ขอให้เขียน เพราะไม่มีใครเขียนได้ ก็เลยเขียนด้วยมือซ้าย ปกติถนัดมือขวา ตอนแรกเขียนออกมาคนอ่านไม่ออกเลย ต้องเขียนทีละตัว เช่น น-หนู สระอา ย-ยักษ์”

ต้นฉบับลายมือเขียนยังอยู่ไหม?
“ขยี้ทิ้งหมดแล้ว ขีดฆ่าเต็มไปหมด หนังสือออกมา 5 ปี หลังจากนั้นแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมา สำนักพิมพ์มติชนนำไปพิมพ์และตั้งชื่อใหม่ว่า “พลังเทคโนแครต” โดยลดเรื่องครอบครัว เพิ่มเรื่องงาน เพิ่งออกจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือคราวที่แล้ว”

ทำไมไม่ใช้วิธีเล่า แล้วให้คนพิมพ์? คำตอบคือ “เล่าแล้ว กลับมาไม่เหมือนเดิม ออกมาแล้วไม่ใช่ ไม่เอา”

หนังสือเล่มนี้มีความยาว 270 หน้า นอกจากชีวิตส่วนตัวแล้ว เนื้อหากล่าวถึงประสบการณ์ทำงานที่สภาพัฒน์ และแบงก์ชาติ ตั้งแต่ยุคบุกเบิกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ จนถึงสิ้นสุดช่วงรัฐบาลอานันท์ 1 (พ.ศ.2534-2535) ซึ่งเป็นยุคทองของเทคโนแครต

ต้องบอกว่า เป็นหนังสือประวัติบุคคลที่สนุกเกินคาด แฝงปรัชญาชีวิต และได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในด้านต่างๆ ซึ่งอาจารย์มีคุณูปการต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
ในวัย 83 ปี ดร.เสนาะ ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่หลายหน่วยงาน เมื่อถามว่าทำงานที่ใดบ้าง อาจารย์ค่อยๆ ตอบทีละแห่ง ด้วยท่าทีแบบผู้ใหญ่ใจดี แม้คำถามของเราจะโดดข้ามไปมา (เพราะมีนักข่าวอีกคนถามเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ) ก่อนจะตบท้ายว่า มีงานอดิเรกคือเล่นเกมฟรีเซลล์ ซึ่งช่วยฝึกสมองได้ดี

ฟังดูอาจจะแปลกสักหน่อย ขณะที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งอยากเข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ หรือหยุดทำงานก่อนอายุ 60 ปี แต่อดีตรองนายกฯ ยังอุทิศตนและแบ่งปันความรู้ให้สังคมมากระทั่งปัจจุบัน

นอกจากที่ เอสซีจีแล้ว ยังทำงานที่ไหนอีกบ้าง
เพิ่งลาออกจากประธานกรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เมื่อก่อนคุณเภา สารสิน เป็น พอคุณเภาเสียชีวิต ผมก็เป็น ตอนนี้อายุ 83 จะ 84 ปีแล้ว งานอื่นๆ ก็มีเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์…ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ผมเกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น การอนุรักษ์อาคารเก่าในเขตรัตนโกสินทร์ เช่น วัด 30 กว่าวัด อาคารอนุรักษ์ซึ่งมันโทรม 2 ชั้น บางคนพยายามไปต่อเป็น 3 ชั้น ก็เสียหมด รวมทั้งท่าเตียน วันก่อนก็เจรจากับผู้ว่าฯ กทม.เรื่องเขื่อนกันน้ำไม่ให้เข้ามาท่วมวัด พระแก้ว และเรื่องเกี่ยวกับชุมชน เราไม่ได้ ไล่ที่ แต่ทำให้ชุมชนมีสิทธิ์จะอยู่ได้ เป็นอนุกรรมการของเอสซีจีหลายแห่ง ประธานโตโยต้า และกรรมการบริษัท โดล ไทยแลนด์ เป็นแบรนด์สับปะรดกระป๋อง ตอนนี้เปลี่ยนจากสับปะรดเป็นพวกสแนค ใช้ไทยเป็นฐานการพัฒนาอาหารสมัยใหม่คนที่ห่วงใยสุขภาพ นอกนั้นเป็นประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ อันนี้ยิ่งแปลกใหญ่ เป็นโรงงานผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกในประเทศไทย สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของผ่านบริษัททุนลดาวัลย์ ทำเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ ออกทุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำทำเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ต่อไปเป็นยารักษามะเร็ง (บริษัทดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาให้ประเทศไทยมีศักยภาพทางอุตสาหกรรมยาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัย พัฒนา จนเข้าสู่กระบวนการผลิตให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่พร้อมใช้ในการบำบัดรักษาโรค)

สยามไบโอไซเอนซ์ ทำมากี่ปีแล้ว ทำมา 4 ปี สร้างโรงงานแล้ว อยู่ใกล้ๆ ศาลายา สามารถผลิตยาชีววัตถุ (ยาดังกล่าวผลิตโดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง) เมืองไทยผลิตไม่ได้เลย ยาที่ผลิตเป็นเคมีคัล ใช้เคมีแล้วมาปั๊มในไทย แต่ยานี่ต้องทำรีเสิร์ช ดีเวลลอปเมนท์ และสร้างเป็นยาขึ้นมา ใช้เวลาเยอะมาก (เน้นเสียง) การจะข้ามจากโรงเรียนแพทย์ มาโรงพยาบาลมีชื่อ ไปจนถึงการผลิตยา มีความลึกมาก เพราะหนึ่ง กว่าจะได้คนที่มีความสามารถ เราได้นักเรียนจากเอ็มไอที เคยทำงานกับบริษัทยารักษามะเร็งใหญ่ที่สุด..ตัวยายังไม่ออกมา ต้องรอให้หมดสิทธิบัตร (patent) ก่อน

อีกสองสามปีข้างหน้า เปเต็นท์ยาดีๆ แพงๆ ใช้รักษามะเร็ง จะหมดอายุเป็นล้านๆ เราต้องพัฒนาก่อนและออกให้ใกล้ๆ กัน เพื่อดึงราคายาที่แพงมาก เม็ดละหมื่นบาท เป็นเม็ดละร้อย เม็ดละพันบาท…เราต้องการให้คนไทยใช้ยาราคาถูก ยาแพง-ที่คนไทยทำไมได้ เราทำเพื่อช่วยคนไทย แต่มันแสนจะยาก (เน้นเสียง) จดทะเบียนกับ อย. 2 ปียังไม่ได้เลย…

พรุ่งนี้จะมีหมอหลายคนมาปรึกษาทำ Clinical Sciences ในเมืองไทย คือการทดลองยาก่อนอนุมัติต้องทำก่อน เวลานี้มีแต่บริษัทฝรั่ง แพง มาหากินในไทย ทำอะไรทีต้องไปผ่านเขา ที่สำคัญเขาใช้คนไทยเสียอีก เห็นคนไหนเก่งซื้อตัวไป เราเกิดไม่ได้เสียที คิดดูว่าทำอย่างไร หมอไทยเยอะแยะ พยายามรวมตัวกันทำ Clinical Sciences ของเราเอง แต่ยังทำไม่ได้ ก็เลยขอมาปรึกษาที่บ้าน 5 คน

ทำงานสัปดาห์ละกี่วัน
อาทิตย์นี้ 4 วัน บางสัปดาห์ก็แล้วแต่ แต่ 4 ก็นับว่า มากแล้ว

ถ้าไม่ออกนอกบ้าน ทำกิจกรรมอะไรบ้าง
เล่นเกมช่วยความจำสมองชื่อฟรีเซลล์ (Freecell : เกมต่อเรียงไพ่) แต่แฟนซีกว่าโซลิแทร์ เล่นคนเดียวได้ ใช้มือซ้ายมือเดียว เมื่อก่อนไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต เพราะมีมือซ้ายมือเดียวถ้าไปบ้านที่ปากช่องจะไม่เอาไปเลย ที่นั่นมีโรงเรียนทอสี เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ

เกมฟรีเซลล์ดีอย่างไร
ช่วยกระตุ้นสมอง แต่ไม่ดีกับสายตา เดี๋ยวนี้มันชักจะง่ายแล้ว เล่นมา 10 ปีแล้ว เล่นอย่างเดียว ได้คะแนน 9 หมื่นกว่า

สนุกตรงไหน
แต่ละเกมเปลี่ยนออกมาเรื่อย มีโจทย์ให้แก้ เป็นเครื่องกระตุ้นอย่างหนึ่งว่า เอ๊ะ เรามีผลงานเหมือนกัน (หัวเราะ เสียงดัง)

มีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร ทำให้ความจำดี
เมื่อก่อนจำไม่ได้เลย (หัวเราะ) มันกลับไปกลับมา เดี๋ยวจำได้…สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ประวัติผมเรื่อง “พลังเทคโนแครต” เขาเอาจากของเดิมที่เขียนให้ทีดีอาร์ไอไปปรับปรุง…สมัยคุณเปรม (ติณสูลานนท์) เทคโนแครตหมายถึง กลุ่มข้าราชการ วิชาชีพ ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนยังไง (บ้านเมือง) ก็ไปได้ เพราะเทคโนแครตยังอยู่

ปัจจุบันใช้มือซ้ายได้ข้างเดียว แล้วเวลาเซ็นเช็ค เบิกเงิน
เซ็นน้อยมาก เพราะคนอื่นเบิก ภรรยาเบิกตังค์หมด วันๆ แทบไม่ต้องใช้เงินเลย (หัวเราะ) นานๆ เขาใส่ให้ 5,000 บาท บางทีก็เร็ว แต่ไม่ค่อยได้จับเงิน เวลาออกไปข้างนอกก็มีคนไปด้วย 1 คน กับไม้เท้า เวลาไปไหนคนจะว่า เอ๊ะ ทำไมจู๋จี๋กับภรรยาจริง ภรรยาต้องนั่งข้างๆ เขาต้องจัดการเอาอาหารมาให้ คนอื่นบอกจู๋จี๋กัน (หัวเราะ) ไปไหนต้องคล้องแขนกัน ผมจับมือเขา ไม่ต้องใช้ไม้เท้า เพราะนานๆ เข้ามันเจ็บ (มือ) เป็นชาวเกาะ

ลูกๆ ว่าอย่างไรบ้าง
เขาบอกเห็นพ่อทำงานอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร เรารู้สึกว่าเมืองไทยต้องทำอีกเยอะ มันมีโอกาสที่ทำได้ และสิ่งที่เขาว่าทำไม่ได้ เราก็ทำมาแล้ว อย่าง อีสเทิร์นซีบอร์ด กว่าจะเสร็จ. (อีสเทิร์นซีบอร์ด : แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยมีท่าเรือขนส่งเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเพียงท่าเรือคลองเตย โดยกำหนดให้บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกระดับสากล และบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นเมืองอุตสาหกรรมสมัยใหม่)

เป้าหมายสูงสุดอยากให้ไทยเป็นอย่างไร
ฐานะดีขึ้น ความเป็นธรรม มีจริยธรรม เป็น Moral Capitalism

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557