งานสัมมนาในหัวข้อ “นโยบายแข่งขันของไทยและสหภาพยุโรป” ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยผู้จัดงานครั้งนี้คือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เริ่มจาก นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยควรต้องหาที่พึ่งใหม่ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย หลังถูกตัดสิทธิ GSP ซึ่งความเป็นไปได้สูงสุดก็ไม่พ้นการเจรจา FTA ไทย-อียู
โดยนายรัชวิชญ์มองว่า การเปิดเสรีภาคบริการถือเป็นสิ่งที่อียูต้องการจากประเทศไทยมากที่สุด ด้วยชื่อเสียงเลื่องลือ ของธุรกิจภาคบริการของไทย ยิ่งกว่านั้นอียูหวังที่จะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจภาคการเงินและการโทรคมนาคม ซึ่งเมื่อเทียบกับสหรัฐที่ลงนาม FTA กับไทยไปเมื่อ 11 ปีก่อน นับว่าอียูยังตามหลังอยู่มาก
ด้าน นางอร่ามศรี รุพันธ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มเชี่ยวชาญและตรวจสอบ สำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กล่าวถึงผลลัพธ์ต่อเนื่องหากการเจรจา FTA ไทย-อียูบรรลุผลสำเร็จ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐทั้งไทยและอียู สามารถประสานงานและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในประเทศของตนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่
ขณะที่ด้าน ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล นักวิชาการ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเตือนถึงผลกระทบเรื่องสิทธิบัตรยา เพราะก่อนหน้านี้งานวิจัยของไทยเคยแสดงความกังวลว่า หากปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตามข้อเรียกร้องของอียูจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงขึ้น และประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกไปอยู่กับบริษัทยาข้ามชาติ
และตัวอย่างจากข้อตกลงการค้าระหว่างอียูกับประเทศต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด
ซึ่งสอดคล้องกับภาคีอนุสัญญายูพอฟ (UPOV) ที่อียูจะมาเพิ่มสิทธิ์ผูกขาดพันธุ์พืช หากไทยยอมรับก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ต้องซื้อพันธุ์พืชในราคาที่แพงขึ้นด้วย
ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเปรียบเทียบกับ FTA อียู-สิงคโปร์ จะเห็นว่าไทยต้องเร่งปรับปรุงเรื่องความโปร่งใส ให้เป็นไปตามมาตรฐานโลกอีกมาก รวมไปถึงการเปิดตลาดด้านการบริการและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากกว่าที่ตกลงไว้ในกรอบ WTO โดยสิงคโปร์เปิดตลาดบริการให้อียูมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในหลายสาขา และเปิดตลาดการประมูลงานสาธารณูปโภคให้อียู หลายรายการ
ดร.เดือนเด่นมองว่า หากไทยพิจารณาตกลงในเรื่องธุรกิจภาคบริการแล้ว ผลประโยชน์จะเข้ามาหาประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจเกิดความเสี่ยง หากไทยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ
ส่วนมาเลเซีย ดร.เดือนเด่นมองว่า แม้มาเลเซียจะถูกตัดสิทธิ์ GSP เช่นประเทศไทย แต่มาเลเซียจะได้ลดภาษีนำเข้าเป็น 0 ตาม FTA อียู-มาเลเซีย ซึ่งหมายความว่ามาเลเซียไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดหลังที่ถูกตัดสิทธิ์ ยิ่งกว่านั้นมาเลเซียจะดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพจากยุโรป อีกทั้งยังเป็นการเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับมาเลเซีย และธุรกิจของชาติยุโรปด้วย ซึ่งการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับอียู จะทำให้จีดีพีของมาเลเซียเติบโตในอัตรา 8% ภายในปี 2563 จากเดิมที่มาเลเซียเคยตามหลังไทยอยู่มาก
ฉะนั้นหาก FTA ไทย-อียูบรรลุผล อาจมีข้อดีมากมายที่เห็นชัดเจน อาทิ การขยายฐานตลาดที่กว้างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผลเสียที่แอบแฝงมาด้วย ซึ่งนายรัชวิชญ์กล่าวแนะถึงการปรับตัวว่า ผู้ประกอบการไทยควรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจตัวเองและยึดตามหลักกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเคร่งครัด
แม้ไทยต้องเร่งเจรจา FTA กับอียู เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางภาษีครอบคลุมสินค้า ส่งออกสำคัญเช่นที่เคยได้รับตามระบบ GSP แต่ถ้าไทยไม่ศึกษาข้อตกลงที่อียูเรียกร้องอย่างรอบคอบ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อาจทำให้ไทยเสียมากกว่าได้ก็เป็นได้
———-
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 มกราคม 2558 ในชื่อ “FTA ไทย-อียู ตัวช่วย ‘ส่งออก’ ทดแทน GSP”