ในงานสัมมนา “ปี 2558 หัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจโลก” จัดโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา วานนี้ (4 ก.พ.) เพื่อเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและทิศทางการลงทุน โดยมีผู้ร่วมบรรยาย ประกอบด้วย นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และนายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กรุงศรี
นายวิรไทยืนยันว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา แม้ออกมาติดลบ 0.41% ยังไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด แต่ เป็นช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศ ติดลบ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
“ประเทศไทยไม่ได้เผชิญเงินฝืด เพราะเงินฝืดจะเกิดจากความกังวลด้านดีมานด์กับอุปสงค์ ราคาสินค้าติดลบประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แต่ครั้งนี้เกิดจากอุปทานบางตัว โดยราคาน้ำมันมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นช่วงเงินเฟ้อติดลบระยะหนึ่งเท่านั้น” นายวิรไท กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าถูกลง ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าอาจสางผลกระทบกับกลุ่มลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานบ้างที่จะส่งผลให้การลงทุนในระยะนี้ลดลง
:จับตาปัจจัยเสี่ยงฟื้นตัวศก.โลก
สำหรับความเสี่ยงที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกัน ขณะที่ในประเทศนั้นจะถูกขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยว การลงทุน เป็นหลัก ขณะที่ภาคเกษตรยังชะลอตัวลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้สภาพคล่องล้นระบบนั้น อาจส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน เกิดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
“สภาพคล่องล้นในตอนนี้เงินก็จะไหลเข้ามาประเทศอื่นๆ ทั้งภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย แต่ก็ต้องระวังด้วยในยามที่มีข่าวต่างๆที่เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นเงินก็จะมีโอกาสไหลออกเร็วได้เช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องระมัดระวังในปีนี้” นายวิรไท กล่าว
:หนุนเก็บภาษีทรัพย์สิน
นอกจากนี้ ในมุมมองส่วนตัว ยังเห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมรดก และทรัพย์สินต่างๆ เนื่องจากเป็นการสร้างฐานภาษีใหม่ และก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวด้วย
“ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เพราะไทยกำลังเข้าสู่ประเทศประชากรผู้สูงอายุ ดังนั้นไทยจะต้องเร่งหารายได้ใหม่ ซึ่งการจะจัดเก็บภาษีทรัพย์สินนั้นถือเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่จะทำได้หรือไม่ จัดเก็บได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ แต่เชื่อว่าการปฏิรูปภาษีนั้นจะก่อให้เกิดการหาแหล่งรายได้ของรัฐบาลใหม่ๆ” นายวิรไท กล่าว
” ไทยไม่ได้เผชิญเงินฝืด เพราะเงินฝืดเกิดจากความกังวลดีมานด์กับอุปสงค์ ” วิรไท สันติประภพ
ตลาดหุ้นมีโอกาสโตแต่ลงทุนต้องระวัง
นายประภาส มองว่า เศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยูโรโซนที่ต้องรอลุ้นว่ามาตรการคิวอี จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันเศรษฐกิจรัสเซียยังน่าห่วง จากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศกับกลุ่มสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียถดถอยได้ ล่าสุดทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 300,000 ล้านดอลลาร์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 500,000 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้ม ลดลงเหลือ 200,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้
ส่วนจุดสูงสุดดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้จะอยู่ที่ 1,800 จุด หรือเพิ่มขึ้น 15% จากระดับปัจจุบัน โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คาดจะขยายตัว 10-15% จากปีก่อนที่ติดลบ 3-5% เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 3.3-3.5% จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 3.2-3.3% จากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
ทั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นไทยจะมีโอกาสเติบโต แต่นักลงทุนยังต้องมีความระมัดระวัง เพราะปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาถึง 20% ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนติดลบ ทำให้มีความเสี่ยงที่ ตลาดหุ้นไทยอาจปรับฐานลงมาที่ระดับ 1,350 จุด เพราะขณะนี้ราคาต่อกำไรสุทธิ หรือพีอี ตลาดหุ้นไทยสูงถึง 19 เท่าแล้ว หากขึ้นไปที่ระดับ 23-25 เท่า ถือเป็นจุดที่นักลงทุนอาจขายทำกำไร
” หุ้นไทยมีโอกาสเติบโต แต่นักลงทุนยังต้องมีความระมัดระวัง ” ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ดอกเบี้ยนโยบายส่อลด
นายกฤษณ์ มองว่า ปีนี้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วง ครึ่งปีหลัง หากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวล่าช้า การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงการบริโภคยังไม่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ย คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ซึ่งอาจมีผลให้ไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม แต่ทั้งนี้คงต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศคู่ค้า ยังจะ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในเรื่องของการส่งออกในปีนี้ด้วย
“มันมีโอกาสที่เราอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่คงต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศว่าจะสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่”
“มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง แต่ต้องดูการ ฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ ” กฤษณ์ จันทโนทก
————————
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ในชื่อ “มุมมอง’นายแบงก์-นักวิชาการ’ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า”