ความเหลื่อมล้ำของประชากรโลกทวีความรุนแรง

ปี2015-02-14

“ในปีหน้า มหาเศรษฐีจำนวน ๑% จะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ๕๐% ของโลก” จากข้อมูลขององค์กรต่อสู้เพื่อความยากจน (OXFAM) ในการประชุม World Economic Forum ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำของประชากรโลกจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และปรากฏการณ์ รวยกระจุก จนกระจาย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับโลก นักเศรษฐศาสตร์หลายคนพยายามแสวงหาคำตอบว่าอะไรนำมาสู่ความยากจน หนึ่งในคำตอบที่ได้จากการวิจัยแสวงหาคำตอบ ระดับการศึกษาคือดัชนีชี้วัดความยากจน แต่ปัจจุบัน เราควรจะเลิกเชื่อกันได้แล้วว่าถ้าอยากหายจนก็ให้ส่งลูกเรียนปริญญา แน่นอนปริญญาบัตรด้วยตัวมันเองไม่ใช่ไม่มีค่า หากแต่ปัจจุบันปริญญาที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเป็นเพียงใบเสร็จค่าเล่าเรียน ประหนึ่งว่าปรัชญาของมหาวิทยาลัยคือจ่ายครบจบแน่ ดังนั้น การแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้อยู่ที่ปริญญา แต่คือคุณภาพของบัณฑิต นอกจากนี้ ความเท่าเทียมกันในแง่ของการเข้าถึงการศึกษาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ดังที่เราจะเห็นได้จากการสอบ

จากผลงานวิจัยของ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ (ทีดีอาร์ไอ) สรุปว่าโดยทั่วไปแล้วเยาวชนจากครอบครัวที่มีความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมีโอกาสที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าเยาวชนที่มาจากครอบครัวที่ได้เปรียบกว่า เด็กเหล่านี้ไม่เพียงเสียเปรียบทางด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังจะเสียเปรียบทางด้านค่าจ้างที่ได้รับในอนาคตตำ และเราต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งที่ว่าเรียนที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน  (ในแง่ของคุณภาพของการศึกษา แต่ที่เหมือนกันคือไม่ว่าเรียนที่ไหนก็เป็นคนดีได้) ทำให้เมื่อเยาวชนที่มีความเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจขาดโอกาสที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ดีมีคุณภาพ ก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 

—————————–

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ใน “คอลัมน์: AEC-KNOWLEDGE: โลกที่แตกต่าง ไทยกับอาเซียน: ตอนที่ 2”